HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคจิตคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคจิตคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคจิต 

โรคจิต คือ ภาวะอาการทางจิตที่ผู้ป่วยมักมีอาการหลงผิดไปจากความเป็นจริง ประสาทหลอน หูแว่ว เห็นภาพหรือรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง อาการโรคจิตหรือวิกลจริตนี้เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายในอย่างความผิดปกติทางจิตต่าง ๆ อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย

โรคจิต

และปัจจัยภายนอกอย่างการใช้ยาหรือสารเสพติด แม้อาการบางอย่างของผู้ป่วยโรคจิตจะทำให้ครอบครัวและบุคคลรอบข้างเป็นกังวล แต่หากได้รับการรักษาและการดูแลสนับสนุนที่เหมาะสม ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะอาการดีขึ้นจนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้

สาเหตุของโรคจิต

ในปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคจิตอย่างแน่ชัดแต่ก็มีปัจจัยสำคัญบางอย่างที่ทำให้ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับภาวะโรคจิต ได้แก่

1.ปัจจัยภายใน มีดังนี้

-ความผิดปกติทางสมอง และระดับสารเคมีในสมอง โดยเฉพาะสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการคิดและการรับรู้ที่นำไปสู่การเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ หากการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทดังกล่าวได้รับความกระทบกระเทือน ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการโรคจิตได้

-ความผิดปกติทางจิต หรือทางบุคลิกภาพ และการปรับตัว

-ความเจ็บป่วยทางร่างกายบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือโรคต่าง ๆ เช่น ไข้จับสั่นหรือโรคมาลาเรีย (Malaria) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)

โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคลูปัส” (Lupus) โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซิฟิลิส (Syphilis) การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นต้น

-การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หากคุณมีผู้ที่มีบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้องเป็นโรคจิต หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ มาก่อน คุณก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโจรหรือโรคทางจิตเวชได้มากกว่า

2.ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายนอก คือ การใช้ยาหรือได้รับสารเคมีใด ๆ เข้าสู่ร่างกายในทางที่ผิด หรือในปริมาณที่เกินไป อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น

– การบริโภคแอลกอฮอล์

– การใช้เสพยาเสพติด เช่น โคเคน (Cocaine) ยาบ้า (Amphetamine) ยาไอซ์ (Methamphetamine) ยาอี (MDMA: Ecstasy) ยาเค (Ketamine) กัญชา (Cannabis)

 

อาการของโรคจิต

ผู้ป่วยโรคจิตแต่ละคนอาจมีลักษณะท่าทางและอาการที่ปรากฏแตกต่างกันไป และอาการหลัก ๆ ของโรคจิต ได้แก่

อาการของโรคจิต

-อาการประสาทหลอน ประสาทรับรู้ทั้ง 5 เปลี่ยนแปลงและผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นภาพหลอน มองเห็นสีหรือรูปร่างผิดแผกไป ได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน รู้สึกถึงการสัมผัสทั้งที่ไม่มีใครแตะตัว ได้กลิ่นที่คนอื่นไม่รู้สึก และรับรู้ถึงรสชาติทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรอยู่ในปาก เป็นต้น

-อาการหลงผิด มีความคิดหรือความเชื่ออย่างแน่วแน่ในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เช่น หลงผิดคิดว่าตนเองกำลังถูกปองร้ายหรือมีคนวางแผนฆ่าตนเอง หลงผิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญที่มีอำนาจ หรือมีพลังวิเศษ เป็นต้น

-มีความคิดสับสนวุ่นวาย หรือมีรูปแบบกระบวนการคิดที่ไม่เป็นลำดับ ซึ่งส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ เช่น พูดไม่คิด พูดออกมาในทันที พูดเร็ว พูดแล้วฟังไม่ได้ศัพท์ จัดเรียงลำดับคำในประโยคไม่ถูกต้อง สื่อสารไม่เข้าใจ พูดขาด ๆ หาย ๆ พูดไม่ต่อเนื่อง เป็นต้น

-ขาดการตระหนักรู้ ผู้ป่วยโรคจิตมักไม่รับรู้ว่าอาการหลงผิดและประสาทหลอนที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความจริง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาตามมา เช่น อาการตื่นตระหนก ตกใจกลัว ทุกข์ทรมาน เป็นต้น

ซึมเศร้า เก็บตัว

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคจิตอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น

-ซึมเศร้า เก็บตัว

-แยกตัวจากเพื่อนและครอบครัว

-นอนนานกว่าปกติ หรือนอนไม่พอ

-หวาดระแวง ขี้สงสัย

-วิตกกังวล กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ

-อารมณ์แปรปรวน มีอาการซึมเศร้ามาก หรือดีใจมากผิดปกติ

-ไม่รักษาความสะอาด

-ไม่สนใจทำกิจกรรมใด ๆ อย่างที่เคย

-มีความคิดแปลก ๆ

-มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้ากว่าปกติ แปลก หรือผิดปกติ

-มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น

-มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

 

การรักษาโรคจิต

การรักษาหลัก ๆ ของผู้ป่วยโรคจิตสามารถแบ่งการรักษาออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

การรักษาโรคจิต

1.การรักษาด้วยยา

ยาที่ใช้รักษาโรคจิตมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และต้องเป็นยาที่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งแพทย์อาจให้ยาที่อยู่ในรูปของยารับประทาน หรือให้ผู้ป่วยมาพบเพื่อเข้ารับการฉีดยาเป็นระยะ ๆ ซึ่งความถี่ในการใช้ยาจะนานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์เช่นเดียวกัน

สำหรับคุณสมบัติของยาต้านอาการทางจิตนั้น ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโดปามีนในสมอง เพื่อช่วยลดอาการประสาทหลอนและอาการหลงผิดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยคิดและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนตามพื้นฐานของความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

การรักษาด้วยยา

การรักษาทางยาเป็นการรักษาที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง ดังนั้น การดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับยาต้านอาการทางจิตรักษาในช่วงสั้น ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยานี้เพื่อรักษาควบคุมอาการโรคจิตไปตลอดชีวิต เนื่องจากภาวะการเจ็บป่วยที่อาจทำให้อาการโรคจิตกำเริบกลับมาได้หากหยุดใช้ยา เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภท

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านอาการทางจิตอาจส่งผลข้างเคียง และผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบในผู้ป่วยบางรายหลังการใช้ยาต้านอาการทางจิต ได้แก่ อาการง่วงซึม ปากแห้ง เวียนหัว ท้องผูก ตัวสั่น ใจสั่น กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ความต้องการทางเพศลดลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็งจนอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ชัดเจน เป็นต้น

2.การรักษาโดยทำจิตบำบัด

วิธีการรักษาโดยทำจิตบำบัดมีให้เลือกหลายวิธี ดังนี้

1.การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม

เป็นวิธีการดูแลสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้พูดคุย บอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญจนทำให้เกิดความทุกข์ นักบำบัดจะคอยกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาผ่อนคลายและหาทางออกจากความทุกข์เหล่านั้นได้ในที่สุด

2.การเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง

นักบำบัดจะคอยดูแลสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่เคยมีอาการโรคจิตได้พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่เคยเผชิญเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน อาจช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย และเข้าใจสถานการณ์ได้ดี จนเกิดประสิทธิผลที่ดีในการบำบัดรักษาตามมา

 

การดูแลผู้ป่วยโรคจิต

สิ่งสำคัญที่ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตต้องรู้ มีดังนี้

การดูแลผู้ป่วยโรคจิต

-ขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการทางจิต ญาติควรเข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำ หรือดื้อไม่เชื่อฟัง แต่เป็นอาการป่วยจริง ๆ

-ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หรือหยุดลดยาเอง

-ช่วยพาผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาให้สม่ำเสมอ ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้การดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ

-ผู้ป่วยที่มีอาการระแวงว่ามีคนจะมาทำร้าย ถ้าญาติพยายามอธิบายว่า ไม่จริง จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ไม่เข้าใจเขาจึงควรรับฟังในสิ่งที่ผู้ป่วยพูดโดยไม่เสริมในอาการหลงผิดของผู้ป่วยและแสดงความเห็นอกเห็นใจในความกลัวของผู้ป่วย ก็จะทำให้ผู้ป่วยสงบลงได้

-ผู้ป่วยที่เฉื่อย ซึมแยกตัว ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วย ได้มีกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว แต่จะต้องระวัง ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสม

-ผู้ป่วยที่หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว ญาติควรหลีกเลี่ยงการโต้แย้งกับผู้ป่วย พูดกับผู้ป่วยด้วยท่าทีที่ไม่มั่นคงน้ำเสียงนุ่มนวล เก็บของใช้ที่แหลมคม และเป็นอันตรายให้มิดชิด

-ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ญาติควรมาติดต่อกับแพทย์ เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบ ซึ่งญาติจะได้รับคำแนะนำเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

-หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย ถ้าพบความผิดปกติ ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

-จัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมาก ฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับบังคับมากเกินไป

 

การป้องกันโรคจิต

โรคจิตอาจเกิดขึ้นได้โดยหลายสาเหตุ แต่บางสาเหตุก็ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ และการป้องกันแบบหลัก ๆ ที่สามารถทำได้ มีดังนี้

-หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดให้โทษทุกชนิด

-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา

-หลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างผิดจุดประสงค์

-ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อช่วยในการกระตุ้นอารมณ์ผ่อนคลายต่าง ๆ

-เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด สร้างความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายและจิตใจ

-บริหารอารมณ์และความคิด มองโลกในแง่ดี และคิดแก้ไขจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์

-หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือบุคคลใกล้ชิด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

ถึงแม้ว่าโรคจิตจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่หากได้รับการรักษาที่ดีและได้ทานยาตรงตามที่แพทย์สั่งตลอดก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไปได้ แต่หากไม่รับประทานยาหรือลดยาเองอาจจะทำให้อาการกำเริบขึ้นได้ทางที่ดีควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งทุกครั้งเพื่อไม่ให้อาการของโรคกำเริบจะดีที่สุดค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1.https://www.honestdocs.co/psychosis
2.https://www.pobpad.com/โรคจิต
3.http://www.srithanya.go.th/srithanya/files/ECT/ect4-610319.pdf