HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

กระเนื้อ การดูแล รักษาและป้องกัน

กระเนื้อ

กระเนื้อ เป็นก้อนเนื้อชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่มะเร็ง มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็กคล้ายหูด นูนขึ้นมาจากผิวหนัง มักพบตามใบหน้า หน้าอก ไหล่ และหลัง กระเนื้อไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นในรายที่กังวลเรื่องความสวยงาม ซึ่งกระเนื้อพบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

กระเนื้อ

กระเนื้อส่วนใหญ่ไม่ค่อยก่อปัญหาใด ๆ แต่เมื่อเกิดกระเนื้อขึ้นตามใบหน้าหรือตามตัวไม่ควรถู ขูด หรือดึงบริเวณที่เกิดกระเนื้อเพราะจะทำให้เลือดออก บวม และเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดกระเนื้อตามใบหน้าและตามตัวให้คอยสังเกตสิ่งผิดปกติของกระเนื้อ เช่น กระเนื้อขยายใหญ่กว่าปกติหรือมีเลือดออกระหว่างการเสียดสีกับเสื้อผ้า หรือบริเวณที่เกิดกระเนื้อมีความไม่ปกติจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการและตรวจหาสาเหตุเพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไปค่ะ

ลักษณะหรืออาการของกระเนื้อสามารถสังเกตได้ดังนี้

-เป็นก้อนเนื้อรูปร่างทรงกลมหรือวงรีติดอยู่กับผิวหนัง

-ขนาดของกระเนื้อจะมีขนาดเล็กไปจนถึงประมาณ 1 นิ้ว (2.5 เซนติเมตร)

-มีหลายสี พบได้ตั้งแต่น้ำตาลอ่อนหรือเข้มไปจนถึงสีดำ

-พื้นผิวของกระอาจ มีลักษณะเรียบมันหรือขรุขระ ค่อนข้างแบนหรือนูนขึ้นมาเล็กน้อย

-พบได้บ่อยตามใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก ไหล่ ท้อง และหลัง มักเกิดเป็นกระจุกมากกว่าจุดเดียว แต่จะไม่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า

-อาจมีอาการคันหรือเกิดการระคายเคือง แต่ไม่มีอาการเจ็บ

 

สาเหตุของการเกิดกระเนื้อ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของกระเนื้อ แต่เชื่อว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเกิดกระเนื้อมีดังนี้

-อายุ

เมื่อมีอายุที่มากขึ้นมักจะเกิดกระเนื้อได้มากขึ้นตามวัย และพบมากสุดในผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป และสำหรับวัยกลางคนก็จะพบกระเนื้อได้ในคนอายุประมาณ30-40 ปีและกระเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง

-พันธุกรรม

บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นกระเนื้อก็สามารถเป็นกระเนื้อได้เลยโดนผ่านทางพันธุกรรมถึงแม้จะหลีกเลี่ยงโดยการไม่โดนแสงแดดก็สามารถเป็นกระเนื้อได้เลยโดยผ่านทางสายพันธุ์หรือพันธุกรรมนั่นเองค่ะ

-แสงแดด

ผู้ที่ทำงานกลางแดดหรือผู้ที่ชอบตากแดดเป็นเวลานาน ๆ มีโอกาสเป็นกระเนื้อได้มากขึ้น ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานาน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกระเนื้อค่ะ

-สาเหตุอื่น ๆ

เช่น เป็นโรคผิวหนัง การติดเชื้อไวรัส การกลายพันธุ์ของยีน

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกระเนื้อ

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกระเนื้อ มีดังนี้

-ผิวหนังสีอ่อน

-ผิวหนังไหม้เกรียมได้ง่าย

-ผิวหนังที่ได้รับแสงแดดเป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน

-การประกอบอาชีพที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ ได้แก อาชีพชาวนา ชาวไร่ และชาวประมง

-การเล่นกีฬากลางแจ้ง

 

การวินิจฉัยกระเนื้อ

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยกระเนื้อได้ทันทีจากการสังเกตที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า การสอบถามประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย แต่ในรายที่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจน เนื่องจากกระเนื้อมีความคล้ายคลึงกับโรคทางผิวหนังหรือโรคมะเร็งผิวหนังหลายชนิด

เช่น ชนิดเมลาโนมา (Malignant Melanoma) ชนิดเบซาลเซลล์หรือเรียกย่อว่า บีซีซี (Basal Cell Carcinoma) ชนิดสะความัส (Squamous Cell Carcinoma) ทำให้ต้องตรวจเพิ่มเติมจากวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่

การวินิจฉัยกระเนื้อ
CR. https://www.jillcarnahan.com/2016/10/31/mast-cell-activation-syndrome-mcas-when-histamine-goes-haywire/

-การส่องกล้องตรวจผิวหนัง (Dermatoscopy) เพื่อดูโครงสร้างผิวหนังและความผิดปกติของเม็ดสีผิว ซึ่งวิธีนี้ยังใช้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

-การเก็บตัวอย่างของผิวหนังบริเวณที่เกิดกระเนื้อ เพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Skin Biopsy)

และนี้ก็เป็นการวินิจฉัยกระเนื้อที่แพทย์สามารถทำได้ หากสังเกตกระเนื้อแล้วมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเพื่อจะได้รักษาตามอาการได้อย่างถูกวิธีค่ะ

 

กระเนื้อที่เกิดขึ้นสามารถกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่ ?

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าเมื่อมีอายุที่มากขึ้นทุกคนจะต้องมีกระเนื้อเกิดขึ้นบนผิวหนังจำนวนมากและกระเนื้อเหล่านั้นจะมีการขยายตัวให้ใหญ่ขึ้นเรื่อ ๆ เมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อกระเนื้ออยู่บริเวณที่กระทบกระแทกได้ง่าย

หรือเราไปแกะทำให้เลือดออกก็ขอแนะนำให้ไปรักษา กระเนื้อบางอย่างบางสีไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นมะเร็งผิวหนังหรือเปล่า ในกรณีที่คุณเห็นความแตกต่างของกระเนื้อ

ก็รีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุดที่สุดค่ะ

 

การดูแลกระเนื้อ

กระเนื้อไม่จำเป็นต้องดูแลเพราะกระเนื้อไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ยกเว้นคนที่เป็นกระเนื้อต้องการจะกำจัดกระเนื้อออกจากร่างกายด้วยเหตุผลความสวยความงาม หรือกระเนื้อบริเวณนั้นส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

เช่น เกิดการระคายเคือง หรือมีเลือดออกหลังเสียดสีกับเสื้อผ้า นั่นเป็นสาเหตุที่ต้องการกำจัดกระเนื้อออกเพื่อจะทำให้คนที่เป็นกระเนื้อสบายตัวขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเลือดออกหรือจะระคายเคืองอีกค่ะ

การรักษากระเนื้อ

การรักษากระเนื้อ

วิธีรักษากระเนื้อมีหลายวิธี ดังนี้

1.จี้ไฟฟ้า

ก่อนจี้จะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดและทาบริเวณรอยโรค แล้วจี้บริเวณรอยโรคด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หลังจากนั้นขูดเนื้อเยื่อบริเวณที่จี้ออก วิธีนี้จะมีแผลตื้น ๆ บริเวณที่ขูดซึ่งจะหายภายใน 1 สัปดาห์

2.การผ่าตัดด้วยความเย็นจัดหรือการจี้เย็น (Cryosurgery)

เป็นวิธีรักษาที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออก แต่อาจส่งผลให้เกิดรอยด่างบริเวณที่เกิดกระเนื้อ และไม่ค่อยได้ผลดีกับกระเนื้อที่มีลักษณะนูนและลึก

3.จี้ด้วยสารเคมี เช่น กรดไตรคลออะซิติค วิธีนี้ไม่ต้องใช้ยาชา แต่จะมีอาการแสบบ้างบริเวณตำแหน่งที่จี้ การจี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตายและหลุดออก

ข้อเสียของการจี้กระเนื้อด้วยสารเคมี คือ ถ้ากระเนื้อหนามากอาจหลุดไม่หมด หรือต้องจี้หลายครั้ง

4. การใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ ทำได้โดยการส่งผ่านความร้อนไปบริเวณเนื้อเยื่อที่มีน้ำ เพื่อระเหิดตุ่มเนื้อให้กลายเป็นไอ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว และไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อด้านล่าง

แต่ต้องทำกับแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้เครื่อง เพื่อลดการเกิดปัญหาเรื่องแผลเป็น หลังจากทำเลเซอร์ประมาณ 7-10 วัน สะเก็ดน้ำตาลที่แผลจะหลุดออกไป

เห็นเป็นผิวชมพู และไม่เป็นแผลหลุม หลังจากนั้นรอเวลาให้สีผิวกลับเป็นปกติ อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์เพื่อให้ผิวกลับมาเป็นปกติ

 

หลังการรักษาจะเกิดแผลเป็นไหม?

โดยทั่วไปแล้วการรักษากระเนื้อจะไม่ทำให้เกิดแผลเป็นเนื่องจากรอยของกระเนื้อไม่ลึกนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดรอยแดง รอยดำ หลังการรักษาได้ การดูแลผิว ก่อนและหลัง การรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การรักษาความสะอาดของผิว หลังทำเลเซอร์​ การหลีกเลี่ยงแสงแดด ทั้งก่อนและหลังทำ ค่ะ

 

การป้องกันการเกิดกระเนื้อ

ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดกระเนื้ออย่างแน่ชัด จึงป้องกันได้ยาก เพราะบางสาเหตุมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. เตรียมพร้อมเผชิญแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้ง โดยเลือกครีมที่มี SPF 50 เป็นอย่างต่ำ

2.ปกป้องใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ ด้วยการสวมหมวกปีกกว้างหรือเอาผ้าคลุมหน้าเพื่อป้องกันแสงแดดเวลาที่ต้องออกแดดเป็นเวลานาน ๆ

3.สวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถปกปิดร่างกายได้อย่างรัดกุม เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว

4.หลีกเลี่ยงการพบเจอแสงแดดช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีแดดแรงมาก

5.พยายามอยู่ในร่มหรือภายในตัวอาคาร

บทสรุป

กระเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนแต่จะพบมากที่สุดก็คือวัยกลางคนและผู้สูงอายุ กระเนื้อสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการจี้ด้วยเลเซอร์ จี้ด้วยสารเคมี ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเอากระเนื้อออกควรตรวจสอบสถานที่ให้บริการหรือคลินิกที่ได้มาตรฐานและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังโดยเฉพาะและเครื่องมือที่ใช้ต้องได้มาตรฐานต้องผ่าน อย. เพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่ดีที่สุดค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.pobpad.com/กระเนื้อ
2. https://www.bumrungrad.com/th/conditions/seborrheic-keratosis
3. https://www.sanook.com/health/3841/
4. https://www.revivalbangkok.com/2019/01/06/วิธีรักษากระเนื้อ/