HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

วัณโรคคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

วัณโรค

วัณโรค

วัณโรค (Tuberculosis) คือโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง Mycobacterium Tuberculosis ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

วัณโรค

วัณโรคเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดพบร้อยละ 80 แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก สมอง และลำไส้

เชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายจากปอด หลอดลม หรือกล่องเสียงของผู้ป่วยวัณโรค เมื่อผู้ป่วยไอจามพูดดัง ๆ ตะโกน หัวเราะ เชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยของเสมหะที่ออกมาสู่อากาศ เชื้อวัณโรคจะลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง

และถูกทำลายโดยแสงแดด วัณโรคนั้นสามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน โดยไม่แสดงอาการแต่อย่างใด ซึ่งเรียกว่า “วัณโรคระยะแฝง” ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ

เนื่องจากเชื้อยังไม่ได้รับการกระตุ้น แต่เชื้อก็ยังคงอยู่ในร่างกายและสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้

ปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่ตัวโรคจะดำเนินต่อไป

วัณโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

-การติดเชื้อระยะแรก (Primary TB Infection) จะไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ เป็นระยะที่ได้รับเชื้อ

-การติดเชื้อระยะแฝง (Latent TB Infection) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อระยะนี้จะไม่มีอาการใด ๆ และจะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งสามารถตรวจพบการติดเชื้อระยะแฝงนี้ได้ด้วยการทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Test)

หรือการตรวจหาเชื้อวัณโรคในเลือดด้วยวิธีการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมา ระยะนี้จะเลือกรักษาเฉพาะคนที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่เชื้อจะพัฒนาเข้าสู่วัณโรคระยะกำเริบ

เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายต่อไป เช่น บุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วยที่กำลังจะได้รับเคมีบำบัด หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น

-ระยะแสดงอาการหรือระยะอาการกำเริบ (Active Disease) โรคจะเพิ่มจำนวนและทำปฏิกิริยากับร่างกายจนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น เช่นหายใจติดขัด เป็นไข้ ไอ อาจจะมีเสมหะร่วมด้วยก็ได้อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก น้ำหนักลด มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะที่ต้องได้รับการรักษา

วัณโรค  แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. วัณโรคปอด (Pulmonary tuberculosis)

ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดราวร้อยละ 80 เพราะเป็นจุดที่รับเชื้อมาก และเป็นอวัยวะที่มีออกซิเจนมาก วัณโรคปอด เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังของปอด โรคนี้สามารถแพร่ให้คนที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ภายในบ้าน หรือในที่ที่มีคนอยู่รวมกันแออัดหรือถ่ายเทอากาศไม่ดี

วัณโรคปอด
CR. https://ar.m.wikipedia.org/wiki/%D9%85%D9%84%D9%81:Tuberculosis-x-ray.jpg

โรคนี้มียารักษาให้หายขาด ซึ่งต้องกินติดต่อกันนานอย่างน้อย ๖ เดือน ในปัจจุบันมีการแพร่กระจายของโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ติดเชื้อเอดส์ และมีปัญหาเชื้อดื้อยาเนื่องจากผู้ป่วยกินยาไม่ถูกต้อง

2. วัณโรคนอกปอด (Extra Pulmonary TB)

จะเกิดขึ้นกับอวัยวะอื่น ๆ ได้หลายส่วน เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หลังโพรงจมูก ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ แต่จะพบได้น้อยกว่าวัณโรคปอด

วัณโรคนอกปอด
CR. https://www.slideshare.net/ManishSingh39/clinical-classification-of-tubeculosis

สาเหตุการเกิดวัณโรค

เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีการเจริญเติบโตหรือการแบ่งตัวช้ากว่าแบคทีเรียทั่วไปชนิดอื่น ๆ โดยแบคทีเรียกลุ่มนี้มีชื่อว่า “ไมโครแบคทีเรีย” ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดวัณโรคได้

แต่สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยและก่อปัญหามากที่สุดคือ เชื้อ “ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส” (Mycobacterium tuberculosis)  ซึ่งสามารถแพร่กระจายในอากาศและติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้โดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคมีดังนี้

-ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ชนิดต่าง ๆ

-ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ

-ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย

-ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไตขั้นรุนแรง โรคมะเร็ง

-เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน มีการติดต่อหรือสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ

-เคยพักอาศัยหรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคเป็นจำนวนมาก

-อาศัยอยู่ในห้องหรือสถานที่แออัดหรือปิดทึบ การระบายอากาศไม่ดี ไม่มีแสงแดดส่องถึง

-ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีจากปัญหาทางด้านโภชนาการ เนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตหรือปัญหาอื่น ๆ เช่น มีภาวะขาดอาหาร ติดยาเสพติด ติดแอลกอฮอล์หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น

-ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วยด้วยเคมีบำบัด หรือการรักษาด้วยชีวบำบัด

-ผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอมากกว่าวัยอื่น ๆ เช่นเด็กที่มีอายุน้อยมาก และผู้สูงอายุ

อาการของวัณโรค

-ผู้ป่วยของผู้ป่วยเริ่มแรก คือ อาการไข้และไอเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ ๆ ในระยะแรกจะไอแห้ง ๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว

มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่าย ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย อาจมีอาการเหงื่อออกชุ่มในตอนกลางคืน (Night sweats) บางครั้งอาจออกมากจนโชกเสื้อผ้าและที่นอน

-ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ขึ้น อ่อนเพลีย ความอยากอาหารลดลง และน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ

-ไอออกมาเป็นเลือดสีแดง ๆ หรือดำ ๆ ได้ ซึ่งมักจะออกมาในปริมาณไม่มาก

-แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกหรือหอบเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอกในขณะไอ

-มีอาการบวมที่คอ ใต้แขน หรือขาหนีบ

-เวลาหายใจมักมีเสียงหวีด

-ปวดตามเนื้อ ตามตัว

-มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ

การรักษาวัณโรค

-เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอด แพทย์จะให้ยารักษาวัณโรค โดยทั่วไปจะนิยมใช้สูตรยากิน 6 เดือน 2 เดือนแรกใช้ยา 4 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช (INH) ไรแฟมพิซิน (rifampicin) ไพราซินาไมด์ (pyrazinamide) และอีแทมบูทอล (ethambutol)

บางรายอาจใช้ สเตรปโตไมซินชนิดฉีดแทนอีแทมบูทอล แล้วต่อด้วยยา 2 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช และไรแฟมพิซิน อีก 4 เดือน

-ผู้ป่วยกินยาให้ตรงเวลาทุกวัน ห้ามลืมหรือเว้นบางมื้อหรือบางวัน และญาติต้องช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาได้สม่ำเสมอ มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้รักษาไม่ได้ผล หรือต้องเปลี่ยนไปใช้ยาสูตรที่แรงขึ้น

-หากผู้ป่วยที่เป็นเอดส์ร่วมกับวัณโรคปอด นอกจากให้ยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว ยังต้องให้ยารักษาวัณโรคเวลานาน 9 เดือน

-แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด แพทย์จะทำการตรวจเสมหะ  เป็นระยะๆ เช่น เมื่อกินยาครบ ๒ เดือน ๕ เดือน และเมื่อสิ้นสุดการใช้ยารักษา นอกจากนี้อาจทำการเอกซเรย์ปอดดูว่ารอยโรคหายดีหรือยัง

-ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบ เช่น ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติเป็นโรคตับอยู่ก่อน หรืออายุมากกว่า 35 ปี เมื่อกินยารักษาวัณโรค

ซึ่งอาจทำให้ตับอักเสบได้ แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT) เพื่อดูว่ามีการอักเสบของตับเกิดขึ้นหรือไม่

ป้องกันวัณโรค
CR. https://www.eurekalert.org/pub_releases/2019-11/ats-ncg111719.php

การรักษาวัณโรคทำได้ด้วยการรับประทานยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการดูแลสุขภาพ

แต่ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรค จะมีผลข้างเคียงรุนแรงในผู้ป่วยบางราย  และอาจเป็นพิษต่อตับ ดังนั้นหากผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษามีอาการเป็นไข้ติดต่อกันหลายวัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจลำบาก

อาการบวมที่บริเวณใบหน้า หรือมีปัญหาในการมองเห็น ผู้ป่วยอาจจะเกิดการแพ้ยา จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อความปลอดภัย

ป้องกันวัณโรค

-การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อวัณโรค

-รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังบ่อย ๆ รับประทานอาหารให้ครบหมู่

-หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค

-หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแสดงอาการ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มากที่สุด

-หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

-ตรวจรังสีปอดปีละครั้ง

-ฉีดวัคซีนบีซีจี หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค โดยฉีดให้ทารกตั้งแต่แรกเกิดทุกราย จะเกิดภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนประมาณ 4-6 สัปดาห์ และอยู่ไปได้นาน 10-15 ปี สามารถป้องกันวัณโรค ได้สูงถึง 60-90%

-งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด

-หากมีอาการผิดปกติ ที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง ไอเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือด มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หอบ เหนื่อยง่าย ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย หากพบจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก…
https://www.doctor.or.th/article/detail/11221