HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคกระเพาะ โรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย

จากสังคมที่เร่งรีบ มีการแข่งขันสูง ทำให้ไม่ว่าจะเด็กหรือคนทำงานอาจจะจัดสรรเวลาในการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือบางครั้งก็ไม่รับประทานอาหารเพราะเรียนไม่เสร็จหรือยังทำงานไม่เสร็จ ไม่มีเวลาเหลือที่จะรับประทานอาหารในมื้อนั้น ๆ ซึ่งเกิดได้บ่อยครั้งมากและเป็นบ่อเกิดของโรคหลาย ๆ โรคตามมา เช่น โรคกระเพาะอาหาร (Gastritis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย อาจมีทั้งที่อาการไม่รุนแรง และรุนแรงจนทำให้ต้องหยุดงานหรือพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้นโรคกระเพาะ กี่วันหาย หากไม่อยากทรมานเพราะอาการปวดท้อง จะต้องระมัดระวังและดูแลป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี

โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร เกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรังทำให้เกิดแผล หากละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาจมีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้เป็นแผลทะลุ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร 

สาเหตุการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบยังไม่ทราบได้อย่างชัดเจน แต่พบว่าส่วนใหญ่มักมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ดังนี้

1.ปกติภายในกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดสูง เมื่อกรดที่หลั่งออกมาในกระเพาะอาหารเกิดเสียความสมดุล ก็อาจส่งผลต่อการทำลายเยื่อบุบริเวณกระเพาะอาหารซึ่งมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี อาจไม่มีอาการปวดท้องเสมอไป บางรายมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ บางรายมีอาการแสบแน่นที่หน้าอกเนื่องจากกรดไหลย้อน

2.การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า H.pylori จากอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน หรือเกิดจากการติดเชื้อจากคนสู่คน โดยจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า และเกิดแผลซ้ำได้อีกเชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย 

3.การรับประทานยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโปรเฟน หรือ ยาไดโคลฟีแนค เป็นตัวยาที่ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เกิดการกัดกร่อนเยื่อบุกระเพาะอาหารจนเกิดแผล

4.การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การอดอาหาร

5.รับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ

6.ดื่มสุราหรือคาเฟอีนในปริมาณมากและการสูบบุหรี่

7.มีก้อนเนื้องอกในกระเพาะอาหาร 

8.ภาวะความเครียด จากการประสบอุบัติเหตุรุนแรง การผ่าตัดใหญ่ หรือสะสมในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ผิดปกติได้

9.การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตชนิดอื่น

10.ผู้ที่เป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 1 

11.การบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ที่ทำงานไม่ประสานกัน หรืออาจเกิดจากสภาพกรดในกระเพาะที่มีมากเกินไป

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

อาการที่เกิดจะมีความแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ดังต่อไปนี้

1.รู้สึกไม่สบายช่องท้องส่วนบน ปวดเฉียบพลัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ ตั้งแต่ใต้ลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือ ปวดท้องก่อนและหลังรับประทานอาหาร อาการปวดอาจดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิมหลังรับประทานอาหาร

2.มีอาการปวดแสบ เสียด ตื้อ จุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ก่อนหรือหลังมื้ออาหาร เหมือนที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าหิวก็ปวด อิ่มก็ปวด

3.อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้ไม่มาก ไม่มีความอยากอาหาร เบื่ออาหาร และอาจผอมลง

4.เรอบ่อย มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร

5.ปวดท้องตอนท้องว่าง หรือปวดท้องกลางดึก

6.อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

หากเกิดอาการมากกว่า 1–2 สัปดาห์ รวมทั้งอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระปนมูกเลือดหรือเป็นสีดำ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

วิธีการรักษาและป้องกันเบื้องต้นของโรคกระเพาะอาหาร 

การรักษาโรคกระเพาะอาหารเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เมื่อทราบว่ามาจากสาเหตุใดแพทย์จะสามารถประเมินการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีการรักษาจะมี 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

1.การรักษาด้วยยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหากมีการติดเชื้อ โดยแบ่งประเภทของยาที่ใช้รักษาได้หลายกลุ่ม ดังนี้

     1.1.ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน ยาอะมอกซิซิลลิน

     1.2.ยาลดกรด ช่วยทำให้กรดในกระเพาะอาหารเกิดความสมดุลและช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง

     1.3.ยายับยั้งการหลั่งกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ที่มีฤทธิ์หยุดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาลดกรด ยาแลนโซพราโซล และกลุ่มยับยั้งฮิสตามีนชนิดที่ 2 ออกฤทธิ์หยุดการทำงานของเซลล์ในกระเพาะอาหารให้ผลิตกรดลดลง ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง

     1.4.ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ช่วยเคลือบเยื่อบุและแผลที่เกิดภายในกระเพาะอาหารจากกรด เช่น ยาซูครัลเฟต หรือยาไมโซพรอสทอล

     1.5.ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารหรือลำไส้

2.การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น ผ่าตัดกรณีที่มีเนื้องอกในกระเพาะอาหาร การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และการพักผ่อน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

     2.1.ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่อาจปะปนเข้าไปในร่างกาย

     2.2.เลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อโรค

     2.3.รับประทานอาหารให้พอดีและตรงเวลาทุกมื้อ เพื่อให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเป็นไปตามปกติ

     2.4.รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย 

     2.5.หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของทอด อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดสูงหรือมีไขมันมาก

     2.6.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

     2.7.งดการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ง่ายขึ้น

3.หลีกเลี่ยงความเครียด หากิจกรรมที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดภาวะความเครียดที่มีส่วนกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มากขึ้น

4.ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร

5.ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มบรรเทาอาการปวด โดยเฉพาะยาแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสม

อาการแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหาร 

โรคกระเพาะถ้าได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นแล้วจะหาย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจนมีอาการมากและเรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น

1.เลือดออกในกระเพาะอาหาร สังเกตจากมีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายผงกาแฟบดปนอยู่

2.กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผลทะลุ สังเกตได้จากมีอาการปวดท้องรุนแรงทันทีทันใด หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ

3.กระเพาะลำไส้ตีบตัน สังเกตได้จากมีอาการปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และอาเจียนเป็นอาหารที่ไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหาร 

1.รับประทานอาหารให้ตรงเวลาในปริมาณที่พอดี

2.รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

3.หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด ชา กาแฟ เป็นต้น

4.งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

5.พยายามลดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 

6.หมั่นออกกำลังกาย มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

7.รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ

โรคกระเพาะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยและไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้ แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะว่าหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดไหลในกระเพาะอาหาร จนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้การป้องกันและรักษาที่ดีที่สุดคือ การให้ยาที่ตรงกับสาเหตุโรคกระเพาะ กี่วันหาย และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการหมั่นดูแลตัวเองให้ดี รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด healthdoo.today เมื่อมีอาการปวดท้องควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ซื้อมารับประทานเอง