HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคกระเพาะคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคกระเพาะ

โรคกระเพาะ 

โรคกระเพาะ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบหรือเกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันในระยะเวลารวดเร็ว เป็นในระยะสั้น ๆ และหายภายใน 1-2 สัปดาห์

โรคกระเพาะ

หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดแผล และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

โรคกระเพาะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ประมาณว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยการเกิดแผลในกระเพาะมักพบในวัยกลางคน ขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะพบในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็โรคกระเพาะสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัยค่ะ

 

สาเหตุของโรคกระเพาะ

สาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารเกิดจากการเสียสมดุลของกรดที่หลั่งออกมา ไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคที่พบมากในปัจจุบัน คือ

1.การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori)

ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย

2.รับประทานสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้

เช่น การดื่มชา กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ เป็นต้น

3.มีอุปนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง

เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ และที่สำคัญการรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไปก็สามารถทำให้เป็นโรคกระเพาะได้  เป็นต้น

4.การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นได้

อาการของโรคกระเพาะ

อาการของโรคกระเพาะ

อาการของโรคกระเพาะจะมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังบริเวณใต้ลิ้นปี่ เวลาปวดมักจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร จะมีอาการปวดแสบ จุกแน่น อาจมีอาการคลื่นไส้ เรอเปรี้ยว

กรณีที่มีแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีอาการปวดท้อง หลังอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย เย็น ตอนดึก อาการจะดีขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร ดื่มนม รับประทานยาลดกรด

 

อาการแทรกซ้อนของโรคกระเพาะ

โรคกระเพาะสามารถรักษาให้หายได้เมื่อเป็นแล้วรู้จักดูแลรักษาตัวเองให้ถูกต้อง แต่เมื่อเป็นแล้วยังไม่รักษาและดูแลตัวเองก็จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนของโรคกระเพาะที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ได้แก่

-เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยคุณสามารถสังเกตได้จากการถ่ายอุจจาระสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายผงกาแฟบดปนอยู่

-กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ โดยคุณสังเกตได้จากอาการปวดท้องรุนแรงทันทีทันใด หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ

-กระเพาะลำไส้ตีบตัน โดยคุณสามารถสังเกตได้จากมีอาการปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และอาเจียนเป็นอาหารที่ไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร

 

อาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์เมื่อเป็นโรคกระเพาะ

-เกิดอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน ปวดมากและปวดเป็นเวลานาน ๆ

-กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งเกร็ง เมื่อคลำจะรู้สึกว่าแข็ง กดท้องจะทำให้เกิดอาการปวดทั่วทั้งท้อง

-ปวดท้องร่วมกับมีอาการของความดันโลหิตต่ำ เช่น หน้ามืดเป็นลม เหงื่อออก มือเท้าเย็น สับสน

-อาเจียนเป็นเลือดสดหรือออกสีดำ

-ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือถ่ายดำ

การรักษาโรคกระเพาะ

การรักษาโรคกระเพาะคุณควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1.กำจัดต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่

-กินอาหารให้เป็นเวลา

-งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด

-งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง

-งดดื่มน้ำชา กาแฟ

-งดสูบบุหรี่

-งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร

-พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด

-หยุดยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS

2.การให้ยารักษา

โดยคุณต้องกินยาอย่างถูกต้องและกินยาให้สม่ำเสมอให้ครบตามจำนวนตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง ส่วนใหญ่แล้วการทานยาโรคกระเพาะต้องใช้เวลาในการทานยาประมาณ 4-6 สัปดาห์แผลถึงจะหาย

ดังนั้นหากกินยาครบ 4-6 สัปดาห์แล้วถ้าอาการดีขึ้นคุณอย่าพึ่งหยุดยาคุณต้องกินยาต่อไปก่อนจนกว่าแพทย์จะแน่ใจว่าแผลหายแล้วจึงควรลดยาหรือหยุดยาได้ค่ะ

3.การผ่าตัด

ในปัจจุบันมียารักษาโรคกระเพาะมากมายหากรักษาอย่างถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดอาจจะทำเป็นกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงที่ไม่สามารถใช้ยารักษาได้ อันได้แก่

-เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยไม่สามารถทำให้หยุดเลือดออกได้

-แผลกระเพาะอาหารทะลุและลำไส้เล็กเกิดการทะลุ

-กระเพาะอาหารมีการอุดตัน

การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

การป้องกันโรคกระเพาะ คือ การรักษาความสะอาดและสุขอนามัยในการรับประทานอาหารเป็นหลักสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

เช่น การล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของกระเพาะอาหารด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

ทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ภาวะเครียด รวมไปถึงไม่ควรซื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารหรือยาในกลุ่มลดอาการปวดรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลค่ะ

การป้องกันโรคกระเพาะอีกแบบก็คืออาหารและอาหารที่คนเป็นโรคกระเพาะไม่ควรกิน มีอะไรบ้างเราไปดูพร้อม ๆ กันเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันอีกแบบของโรคกระเพาะค่ะ

 

อาหารที่ไม่ควรกินเมื่อเป็นโรคกระเพาะ มีดังนี้

1.อาหารรสจัด

อาหารรสจัดอันได้แก่ อาหารที่มีรสเผ็ด รสเปรี้ยวจัด หวานจัด เค็มจัด อาหารรสจัดเหล่านี้จะกระตุ้นเซลล์ให้ผลิตน้ำย่อยออกมามากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการปวดท้องและจุกเสียดท้องได้

อาหารรสจัด

2.ชา กาแฟ ช็อกโกแลต

ถ้าไม่อยากให้โรคกระเพาะกำเริบควรงด ชา กาแฟ และช็อกโกแลต เพราะชา กาแฟ มีส่วนผสมของคาเฟอีนและคาเฟอีนเป็นตัวกระตุ้นให้กระเพาะผลิตน้ำย่อยออกมามากขึ้น และกัดกระเพาะเราจนรู้สึกแสบท้องและอาหารที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลตก็ต้องงดไปก่อน

ชา กาแฟ ช็อกโกแลต

3.น้ำอัดลม

น้ำอัดลมทุกชนิดก็มีคาเฟอีนผสมอยู่ในจำนวนไม่น้อย อีกทั้งในน้ำอัดลมยังมีแก๊สที่ส่งผลให้เกิดอาการแน่นท้องเนื่องจากแก๊สในกระเพาะเยอะ โดยเฉพาะคนที่ดื่มน้ำอัดลมในขณะท้องว่าง อาการแสบท้อง แน่นท้อง อันเป็นหนึ่งในอาการของโรคกระเพาะก็จะถามหาอย่างแน่นอนค่ะ

น้ำอัดลม

4.เครื่องดื่มชูกำลัง

เครื่องดื่มชูกำลังทุกชนิดมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่เช่นกันค่ะ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อกระเพาะอาหารก็ควรงดเครื่องดื่มชูกำลังไปก่อนนะคะ

เครื่องดื่มชูกำลัง

5.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารจึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ ไวน์

หรือค็อกเทลชนิดต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ถ้าไม่ยากทรมานคนที่เป็นโรคกระเพาะควรหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยค่ะ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

6.อาหารที่มีไขมันสูงหรือของทอด

อาหารไขมันสูงเป็นอาหารที่ย่อยยาก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบให้กับคนที่เป็นโรคกระเพาะรู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด และแสบท้องเนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารได้ ฉะนั้นของทอด อาหารมัน ๆ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ จึงควรเลี่ยงไว้เป็นดีที่สุดค่ะ

อาหารที่มีไขมันสูงหรือของทอด

7.ของหมักดอง

อาหารหมักดองทุกชนิดมีรสเปรี้ยวและมีความเป็นกรดซ่อนอยู่ในอาหารประเภทหมักดองและคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารจึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างมากเพราะอาหารประเภทหมักดองจะไปกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคืองได้

ของหมักดอง

8.ผลิตภัณฑ์จากถั่ว

ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วทุกชนิดเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้สำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและอยากหาย แนะนำให้เลี่ยงผลิตภัณฑ์จากถั่วทุกชนิดไปก่อนเลยค่ะ

ผลิตภัณฑ์จากถั่ว

9.ผักดิบ

ผักเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็จริง แต่ผักบางชนิดอาจเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหารและทำให้โรคกระเพาะกำเริบได้ขึ้นมาได้ง่าย และคนที่เป็นโรคกระเพาะควรหลีกเลี่ยงผักดิบประเภท ถั่วฝักยาว บรอกโคลี กะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง มันเทศ และหัวหอมไปก่อนนะคะ

ผักดิบ

10.ผลไม้รสเปรี้ยว

คนที่เป็นโรคกระเพาะควรงดอาหารที่มีรสเปรี้ยว เช่น สับปะรด ส้ม หรือมะนาว เพราะความเป็นกรดในผลไม้เหล่านี้อาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้

ผลไม้รสเปรี้ยว

11.เนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ

เนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นอาหารที่ย่อยยาก และหากกินเนื้อสัตว์แบบสุก ๆ ดิบ ๆ ก็จะทำให้กระเพาะย่อยได้ยากขึ้นและเสี่ยงทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคืองได้ทางที่ดีควรงดทานเนื้อสัตว์ที่สุก ๆ ดิบดีกว่านะคะ

เนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ

ใครที่เป็นโรคกระเพาะอยู่และไม่อยากจะทรมานก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารทั้ง 11 ชนิด ที่เราได้รวบรวมมาให้คุณ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ทานในปริมาณที่น้อยลงเท่าที่คุณจะทำได้นะคะเพื่อผลดีของตัวคุณเองค่ะ

บทสรุป

โรคกระเพาะสามารถรักษาให้หายได้หากเรารักษาอย่างถูกวิธีและรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพียงเท่านี้ก็ทำให้คุณหายจากโรคกระเพาะได้แล้วค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก…
https://health.kapook.com/view186338.html