HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคความดันโลหิตสูงคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง 

โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะความดันเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา ประกอบด้วยความดันตัวบนและตัวล่าง ความดันตัวบนเกิดจากความดันขณะหัวใจบีบตัว

โรคความดันโลหิตสูง 

ความดันตัวล่างคือความดันขณะหัวใจคลายตัว คนปกติจะมีค่าความดันโลหิตประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากวัดได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีความดันโลหิตสูง

 

สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

-เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้เป็นไปได้สูงมาก เกิดจากโรคอ้วนหรือร่างกายมีน้ำหนักที่เกินตัว เนื่องจากโรคชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดต่าง ๆ

เกิดภาวะตีบจากภาวะไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด เมื่อเกิดโรคชนิดนี้ขึ้นในร่างกาย ก็จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมาได้ง่าย

-เกิดจากการเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากโรคชนิดนี้จะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนที่มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต

-เกิดจากการมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารพิษที่อยู่ในควันปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลต่อการทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการตีบตันของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดไต อีกทั้งยังส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ

-เกิดจากการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราจะส่งผลทำให้หัวใจของคนเราเกิดภาวะที่เต้นเร็วกว่าปกติ และนั่นก็จะส่งผลต่อการเป็นความดันโลหิตสูงสูงถึงประมาณ 50 % ของผู้ที่ติดสุรา

-เกิดจากการทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำ เพราะความเค็มที่ร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป มีส่วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้

-เกิดจากการไม่หมั่นออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายนั้นจะส่งผลต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งหากเผชิญกับโรคทั้งสองชนิดนี้ ก็จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้

-เกิดจากผลข้างเคียงของการทานยา เช่น การทานยาที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์

 

 

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

-รายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่จะมีไม่อาการแสดงแต่อย่างใด และมักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจคัดกรองโรค มีส่วนน้อยที่อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นตอนตื่นนอนใหม่ ๆ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ แบบไมเกรน

-ส่วนในรายที่เป็นมานาน ๆ หรือมีความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตามัว มือเท้าชา หรือมีเลือดกำเดาไหล

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

การรักษาความดันโลหิตสูง ที่เป็นการรักษามาตรฐานมี 2 วิธีคือ

การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต และการให้ยาลดความดันโลหิต ในรายที่ความดันสูงไม่มาก ก่อนรักษาด้วยการใช้ยา แพทย์จะให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมโดยการ ออกกำลังกาย และคุมอาหารก่อน

หากไม่สำเร็จจึงค่อยเริ่มใช้ยา โดยยารักษาความดันโลหิตสูงในปัจจุบันมีหลายชนิดมาก แพทย์จะสั่งให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยดูสภาพความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน

และดูระดับความดันโลหิตก่อนรักษาเป็นเกณฑ์ ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งยารักษาเท่านั้น ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเพราะยาในกลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงบางอย่างที่ร้ายแรง

โดยคนไข้แต่ละคนจะเหมาะกับยาลดความดันที่ต่างกัน และอีกประการหนึ่ง การซื้อยารับประทานเองอาจรักษาความดันโลหิตสูงไม่ได้ผล หรือกลับทำให้ความดันโลหิตลดต่ำเกินไปได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง

หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้ความโลหิตสูงเป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยมักจะเกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ตามมา เช่น สมอง ประสาทตา หัวใจ ไต หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย

ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญนั้น ได้แก่

-สมอง อาจเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก กลายเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีกซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย บางรายถ้าเป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นโรคความจำเป็นเสื่อม สมาธิลดลง

นอกจากนี้ ในรายที่มีหลอดเลือดฝอยในสมองส่วนสำคัญแตกก็อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หรือในรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันก็อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึม เพ้อ ชัก หรือหมดสติได้ ซึ่งเรียกว่า Hypertensive encephalopathy

สมอง

-หัวใจ จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นมากขึ้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวใจตามมาได้ และโรคนี้ยังอาจทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด

มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งจะทำให้มีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้

ส่วนในรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรง อาจตรวจพบหัวใจเต้นมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที และจังหวะไม่สม่ำเสมอจากหัวใจห้องบนเต้นแผ่นระรัว

หัวใจ

-ตา จะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้า ๆ ในระยะแรกหลอดเลือดจะตีบ แต่ต่อมาอาจแตกมีเลือดออกที่ตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตาบอดได้

-ไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็ง เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ซึ่งไตที่วายจะยิ่งทำให้ความโลหิตของผู้ป่วยสูงขึ้น กลายเป็นวงจรที่เลวร้าย

-หลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่

ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หลอดเลือดแดงส่วนที่มาเลี้ยงขาและปลายเท้าอาจเกิดภาวะแข็งตัวและตีบได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย) ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ขาและปลายเท้าได้น้อย

อาจเป็นตะคริวบ่อย หรือปวดน่องขณะเดินมาก ๆ หากหลอดเลือดแดงเกิดการอุดตันก็อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดจนกลายเป็นเนื้อตายเน่า (Gangrene) ได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

 

การป้องกันความดันโลหิตสูง

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะทุกวัน เน้นผักและผลไม้ชนิดไม่หวานให้มาก ๆ และลดอาหารพวกไขมันชนิดอิ่มตัว แป้ง น้ำตาล ของหวาน และอาหารเค็ม

-ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยให้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 23 กก./ม.2 ความยาวรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง ด้วยการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

-ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือวันเว้นวัน

-พักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ

-ลดปริมาณของเกลือโซเดียมที่บริโภคไม่ให้เกินวันละ 4 กรัม (เทียบเท่าเกลือแกง 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา)

-ถ้าเป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว สำหรับผู้ชายควรจำกัดปริมาณของแอลกอฮอล์ให้ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม (เทียบเท่ากับวิสกี้ 90 มิลลิลิตร ไวน์ 300 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 720 มิลลิลิตร)

ส่วนผู้หญิงและผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยควรจำกัดปริมาณของการดื่มแอลกอฮอล์ให้ไม่เกินวันละ 1 หน่วยการดื่ม (เทียบเท่ากับวิสกี้ 45 มิลลิลิตร ไวน์ 3150 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 360 มิลลิลิตร)

-ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่เพราะอาจมียาบางตัวที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ส่วนการใช้ยาคุมกำเนิดแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์

-ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะยังรู้สึกสบายดีก็ควรไปตรวจสุขภาพซึ่งรวมถึงการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 2 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป แนะนำว่าควรไปตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

หรือตรวจบ่อยตามที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีรูปร่างอ้วนหรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ (อาจเป็นสถานพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ เช่น คลินิกแพทย์ สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข)

 

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับโรคความดันโลหิตสูง เป็นข้อมูลที่เอาไว้ศึกษาหารายละเอียดเพื่อจะได้มีวิธีดูแลตนเองจากการป่วยเป็นความดันโลหิตสูงหรือ เป็นรายละเอียดในการดูแลตนเองให้ห่างไกลความดันโลหิตสูง หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ทันที หรือหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูง และการดูแลและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://www.honestdocs.co/ /high-blood-pressure-in-adult-males
2. https://medthai.com/โรคความดันโลหิตสูง/