HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคคางทูมคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคคางทูม

โรคคางทูม (Mumps) คือการติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยกับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน MMR เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจจากคนสู่คน ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย ข้างหูที่เรียกว่า ต่อมพาโรติด (Parotid glands) ซึ่งเป็นต่อมคู่ มีทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยโรคอาจเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดทั้งสองข้างก็ได้

โรคคางทูม
CR. https://www.slideshare.net/maheswarijaikumar/epidemiology-of-mumps-84428357

นอกจากนั้นยังอาจเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายอื่นได้ ซึ่งอยู่ตรงหน้าหูหรือแก้มส่วนบน โดยสัมผัสละอองน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อได้จากการไอหรือจาม ไวรัสจะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู

เมื่อต่อมนี้เกิดการอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมแดง หากไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังแล้ว ก็อาจจะแพร่ไปที่อื่นในร่างกายส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธุ์

โรคคางทูม
CR. https://portwashington-news.com/outbreak-of-mumps-on-long-island/

สาเหตุของโรคคางทูม

สาเหตุของคางทูม เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า มัมส์ (Mumps) เป็นไวรัสที่อยู่ในอากาศ สามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม เหมือนโรคหวัด หรือสัมผัสละอองของเหลวทั้งน้ำลายและน้ำมูกจากผู้ป่วยที่อาจแฝงอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ หรือแม้แต่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้เป็นโรคนี้

ผู้ป่วยส่วนมากจะแพร่เชื้อก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู 2-3 วัน โดยเชื้อไวรัสนี้จะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจตั้งแต่จมูก ปาก ลำคอ ไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 16-18 วัน

แต่ในบางรายอาจมีระยะฟักตัวนานถึง 25 วัน พบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเด็กที่มีอายุ 5-9 ปี จะมีอัตราการป่วยสูงที่สุด หรือกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

การวินิจฉัยคางทูม

การวินิจฉัยโรคคางทูม
CR. http://www.kdheks.gov/epi/mumps.htm

หากต้องสงสัยว่าคุณป่วยเป็นคางทูมให้รีบติดต่อแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยในทันที แม้ว่าคางทูมจะไม่ร้ายแรง แต่อาการของภาวะนี้ก็คล้ายกับการติดเชื้อร้ายแรงกว่าอย่างโรคไข้และต่อมน้ำเหลืองโต และต่อมทอนซิลอักเสบ แพทย์จะสามารถวินิจฉัยคางทูมได้จาก

– ตรวจเช็คประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย

– ตรวจการบวมของต่อมน้ำลายที่ข้างหู และต่อมทอนซิลในปาก

– ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติหรือไม่

– ตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ในเลือด

 

อาการของโรคคางทูม

– ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการขากรรไกรบวม 1-2 ข้าง โดยแรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการนำไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคอด้วยภายใน 24 ชั่วโมง (บางรายอาจหลายวัน) จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมงต่อมาจะเกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย (ที่พบได้บ่อยที่สุดคือต่อมน้ำลายข้างหู)

อาการของโรคคางทูม
CR, https://www.pinterest.cl/pin/348958671125348405/

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดที่ข้างแก้มใกล้ใบหูหรือปวดหู และจะปวดมากขึ้นในเวลาพูด เคี้ยว หรือกลืน หรือรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว ต่อมาจะเกิดอาการบวมที่ขากรรไกรบริเวณใต้หูและข้างหูทั้งด้านหน้าและหลังหู ทำให้ใบหูถูกดันขึ้นข้างบน ผู้ป่วยจึงรู้สึกปวดมากขึ้น จนบางครั้งพูด เคี้ยว หรือกลืนลำบาก

(ผิวหนังเหนือต่อมน้ำลายจะบวม แดง และร้อน เมื่อกดดูจะมีลักษณะเหมือนเยลลี่ ส่วนอาการบวมจะเริ่มจากหน้าใบหูมายังหลังใบหู และลงมาคลุมถึงขากรรไกร ในบางรายอาจบวมมากจนบวมมาถึงส่วนหน้าอก) โดยอาการปวดและบวมจะเป็นมากที่สุดในช่วง 1-3 วันแรก แล้วจะค่อย ๆ ลดลง และส่วนใหญ่จะหายไปได้เองภายใน 4-8 วัน ส่วนอาการไข้ส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน และอาการโดยรวมจะหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์

– ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีขากรรไกรบวมข้างเดียวก่อนแล้วต่อมาอีก 1-2 วัน บางรายอาจเป็น 4-5 วัน จึงมีอาการบวมอีก

– ผู้ป่วยบางรายอาจมีขากรรไกรบวมโดยที่ไม่มีอาการอื่น ๆ นำมาก่อน หรืออาจมีเพียงอาการไข้โดยที่ขากรรไกรไม่บวมเลยก็ได้

– ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของต่อมน้ำลายใต้คาง (Submandibular glands) และใต้ลิ้น (Sublingual glands) ร่วมด้วย จึงทำให้มีอาการบวมที่ใต้คาง

– โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก เพราะเมื่อเป็นคางทูมแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคนี้ได้ตลอดชีวิต ไม่กลับมาติดเชื้อได้อีก แต่ในบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยอาจติดเชื้อเป็นซ้ำได้อีก แต่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อน

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคางทูม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคางทูม
CR. https://www.assignmentpoint.com/science/medical/mumps-complications-and-prevention.html

คางทูมสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น

– ลูกอัณฑะอักเสบ 25% ของผู้ป่วยคางทูมในเพศชาย มักจะมีอาการบวมของลูกอัณฑะเพียงข้างเดียว ทำให้การผลิตสเปิร์มลดลง อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ แต่มักไม่ถึงกับทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วย อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังเป็นคางทูมตั้งแต่ 4-8 วัน หรือบางรายอาจนานถึง 6 สัปดาห์ สามารถบรรเทาอาการลงได้ด้วยตนเองโดยการประคบร้อนหรือประคบเย็น หรือสวมใส่กางเกงชั้นในที่กระชับ

– รังไข่อักเสบ 1 ใน 20 ของผู้ป่วยคางทูมในเพศหญิง  จะมีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย ป่วยและมีไข้สูง

– เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส สามารถเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสคางทูมแพร่กระจายเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย 1 ใน 7 คน แต่จะไม่รุนแรงเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

– ตับอ่อนอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นอาการอักเสบของตับอ่อนระยะสั้น อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บที่บริเวณหน้าท้อง อาจพบอาการท้องร่วง เบื่ออาหาร หรือมีไข้สูงร่วมด้วย

– ไข้สมองอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้ 1 ใน 1,000 ของผู้ป่วยคางทูม เป็นอาการแทรกซ้อนที่พัฒนามาจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส

– สูญเสียการได้ยิน ในผู้ป่วยคางทูม 1 ใน 20 คนอาจสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว และ 1 ใน 20,000 อาจสูญเสียการได้ยินแบบถาวร

 

การรักษาโรคคางทูม

การรักษาคางทูมในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถทำได้โดยบรรเทาอาการและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การรักษาโรคคางทูม
CR. https://article1000.com/mumps-symptoms-causes-treatment/

– ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ

– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจนกว่าอุณหภูมิในร่างกายจะลดลงเป็นปกติ

– รับประทานยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลหรือไอบูโปรเฟน และไม่ควรใช้ยาแอสไพรินกับเด็ก และบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการไรย์ซินโดรม ซึ่งจะทำให้ตับและสมองบวม อาเจียน อ่อนเพลีย ชัก และหมดสติได้

– หลีกเลี่ยงอาหารหรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะกรดในน้ำผลไม้จะทำให้ต่อมน้ำลายเกิดการระคายเคือง และทำให้ปวดบวมมากขึ้นได้

– ประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดบวมที่บริเวณต่อมน้ำลาย

– รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น โจ๊กหรือซุป เพื่อลดการเคี้ยวและการกระแทกในบริเวณที่ปวดบวม

 

การป้องกันโรคคางทูม

วิธีป้องกันคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR ย่อมาจาก M = Measles (โรคหัด) M=Mumps (คางทูม)  R = Rubella (โรคหัดเยอรมัน)) โดยเด็กทุกรายควรได้รับการฉีดวัคซีนรวม

โดยเข็มแรกให้ฉีดเข้ากล้ามเมื่ออายุ 9-12 เดือน และให้ฉีดเข็มที่ 2 ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุได้ประมาณ 4-6 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก ซึ่งภูมิคุ้มกันต้านทานคางทูมจะคงอยู่ไปได้ตลอดชีวิตในช่วงที่มีการระบาดของโรคหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นคางทูม ควรปฏิบัติดังนี้

– หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัส และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก

– ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ จานชาม ของเล่น ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยที่เป็นคางทูม

– ไม่เข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วยที่เป็นคางทูม แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดก็ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ

– ควรแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นคางทูมแยกตัวออกห่างจากผู้อื่นในระยะแพร่เชื้อ ไม่นอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก และเวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัย

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ โรคคางทูม ถือว่าเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงมากนัก ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องฉีดยาหรือให้ยาจำเพาะแต่อย่างใด แต่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากมีวิธีดูแลตนเองไม่ถูกต้อง หวังว่ารายละเอียดคางทูม จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหารายละเอียดเพื่อดูแลตนเองให้ห่างไกลจากคางทูมได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก ….
1. https://www.pobpad/คางทูม
2. https://medthai.com/คางทูม/
3. https://www.pobpad/คางทูม