HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคซิฟิลิสคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส 

โรคซิฟิลิส คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย ทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง

โรคซิฟิลิส 
CR. https://www.piquenewsmagazine.com/whistler/syphilis-infection-in-bc-at-highest-rate-in-30-years/Content?oid=14515284

และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นหากไม่รักษา สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาในระยะยาวอาจแสดงอาการในหลายระบบของร่างกายซึ่งร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

 

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) มีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน (Spirochete bacteria) เชื้อชอบอยู่ในที่ที่มีความชื้นและตายได้ง่ายในที่ที่มีความแห้ง และถูกทำลายได้ง่ายด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ สาเหตุของการติดเชื้อจากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย

โดยเฉพาะในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากการ ใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น การรับเลือดจากผู้อื่น รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน แต่เชื้อนี้จะไม่สามารถติดต่อผ่านโดยการนั่งโถส้วม ลูกบิดประตูสระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ เสื้อผ้า หรือช้อนส้อม

 

อาการของโรคซิฟิลิส

อาการของโรคซิฟิลิส แบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้

-ระยะที่ 1 หรือ ระยะเป็นแผล (Primary syphilis) หลังจากติดเชื้อได้ประมาณ 10-90 วัน ผู้ป่วยจะมีตุ่มเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เกิดขึ้นตรงบริเวณที่เชื้อเข้า จากนั้นจะเริ่มขยายออกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และจะแตกออกกลายเป็นแผลกว้างขึ้น

มีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบแผลเรียบยกนูนและแข็ง พื้นแผลมีสีแดงและดูสะอาด บริเวณก้นแผลแข็งมีลักษณะคล้ายกระดุม แผลจะไม่เจ็บไม่คัน ซึ่งเรียกว่า แผลริมแข็ง  (Chancre) โดยแผลส่วนใหญ่มักจะมีเพียงแผลเดียว

ระยะที่ 1 หรือ ระยะเป็นแผล (Primary syphilis)
CR. https://www.healthline.com/health/syphilis-secondary

หรืออาจมี 2 แผลซึ่งชนชิดกันก็ได้  ในอีกประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากมีตุ่มขึ้น เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ส่งผลให้มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้าง กดไม่เจ็บ มีลักษณะแข็งแยกจากกัน

และสีของผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ แม้จะไม่ได้รับการรักษา แผลจะหายไปได้เองภายใน 3-10 สัปดาห์ แต่เชื้อยังคงอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งการเจาะเลือดหาวีดีอาร์แอล (VDRL) จะพบเลือดบวกหลังจากมีแผลได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์

-ระยะที่ 2 หรือ ระยะเข้าข้อออกดอก (Secondary syphilis) จะพบหลังจากระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ เชื้อจะเข้าไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เช่น บริเวณหลังหู หลังขาหนีบ และขาพับ และเข้าไปสู่กระแสเลือด รวมทั้งกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นทั้งตัวและที่ฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดงหรือจุดน้ำตาลแดง อาจพบเนื้อตายจากผื่นเป็นหย่อม ๆ และพบเนื้อเน่าหลุดออกมา มีน้ำเหลือง และในน้ำเหลืองจะมีเชื้อซิฟิลิส แต่ผื่นเหล่านี้จะไม่คัน ซึ่งเรียกกันว่า ระยะออกดอก

ระยะที่ 2 หรือ ระยะเข้าข้อออกดอก
CR. https://www.sciencephoto.com/media/861704/view/secondary-syphilis-rash

นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกไม่สบาย มีไข้ต่ำ ๆ เป็นครั้งคราว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหลัง ปวดตามกระดูก ปวดตามข้อเนื่องจากข้ออักเสบ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ ต่อมน้ำเหลืองโต

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ ตับอักเสบ หน่วยไตอักเสบ โรคไตเนโฟรติก (Nephrotic syndrome) แผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือที่บริเวณอวัยวะเพศมีลักษณะเป็นแผลตื้น ๆ มีเยื่อสีขาวปนเทาคลุม ขึ้นบริเวณที่อับชื้น เช่น รอบ ๆ อวัยวะเพศ ทวารหนัก รักแร้ หรือขาหนีบ เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผื่นขึ้นเลยก็ได้ แต่อาจมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ ฯลฯในระยะนี้ถ้าตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล (VDRL) จะพบเลือดบวก ผู้ป่วยจะมีผื่นและอาการต่าง ๆ อยู่ประมาณ 2-6 สัปดาห์

แล้วจะหายไปได้เองแม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษา แต่เชื้อจะยังคงแฝงตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายและจะไม่แสดงอาการได้นานเป็นปี ๆ ซึ่งอาจนานเป็น 5 ปี 10 ปี หรือบางรายอาจนานถึง 30 ปี ซึ่งเราจะเรียกระยะนี้ว่า ซิฟิลิสระยะแฝง หรือ ระยะสงบ และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3

-ระยะที่ 3 หรือ ระยะทำลาย (Tertiary syphilis) เป็นระยะสุดท้ายของโรค เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง เช่น ซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร จึงทำให้เข้าสู่ระยะร้ายแรง

ระยะที่ 3 หรือ ระยะทำลาย
CR. https://wellcomecollection.org/works/ypjwg4py/items?canvas=1

ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต บ้านหมุน เดินเซ ชัก ความจำเสื่อม ตามัว ตาบอด หูตึง หูหนวก บุคลิกภาพเปลี่ยนไป อาจเสียสติ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ถ้าเชื้อเข้าสู่หัวใจก็จะทำให้หัวใจมีความผิดปกติ ทำให้เป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic insufficiency) หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (Aortitis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic aneurysm)

 

การรักษาโรคซิฟิลิส

-สำหรับซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2 แพทย์จะฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (Benzathine penicillin) ให้ในขนาด 4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้ง แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์อาจให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง

หรือดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 15 วัน แต่ถ้ารับประทานยาเตตราไซคลีนไม่ได้ แพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดเดียวกันแทน นาน 15 วัน

-สำหรับซิฟิลิสในระยะแฝง (เป็นมานานมากกว่า 2 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นแผลริมแข็ง) หรือแผลซิฟิลิสเรื้อรัง หรือซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular syphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (Benzathine penicillin)

ให้ครั้งละ 4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อ เป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยฉีดห่างกันทุก 1 สัปดาห์ แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์จะให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดดังกล่าวข้างต้นแทน นาน 30 วัน

-ในรายที่เป็นซิฟิลิสเข้าระบบประสาท (Neurosyphilis) แพทย์จะให้การรักษาโดยการฉีดเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ให้ในขนาด 2-4 ล้านยูนิต เข้าหลอดเลือดดำ ทุก 4 ชั่วโมง นาน 14 วัน

แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์จะให้รับประทานยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) แทน โดยให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 30 วัน

-สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซิฟิลิส แพทย์จะให้การรักษาตามระยะของโรคเหมือนผู้ป่วยทั่วไป ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) แทน โดยให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 30 วัน

-สำหรับซิฟิลิสแต่กำเนิด แพทย์จะให้การรักษาโดยการฉีดเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ให้ในขนาดวันละ 50,000 ยูนิต/กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง นาน 10 วัน

การป้องกันโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ดังนี้

-วิธีที่ดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว และทราบผลเลือดของคู่นอนด้วยว่าปกติ ไม่ติดเชื้อ

-คู่นอนควรจะต้องแจ้งถึงสถานะ การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมทั้งซิฟิลิส เพื่อจะได้ป้องกันการติดเชื้อ

-หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด เพราะจะทำให้ขาดสติและเพิ่มการมีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงได้

-หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส

-หลีกเลี่ยงการเที่ยวหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนที่สงสัยว่าเป็นโรค ควรป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันได้เกือบ 100 %

-แผลของอวัยวะเพศ เช่น ซิฟิลิส เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งที่ถุงยางครอบถึงหรือไม่ถึงได้ การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซิฟิลิสได้

-การใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารฆ่าเชื้ออสุจิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Nonoxynol-9 นั้นไม่ได้ผลดีไปกว่าถุงยางที่ไม่มีสารชนิดนี้ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงไม่แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารชนิดนี้เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

-โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งซิฟิลิสไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างอวัยวะเพศ การปัสสาวะ หรือสวนล้างช่องคลอดทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์

-ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและร่างกายอยู่เสมอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ

-ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการดังกล่าว อย่ารักษาด้วยตัวเอง หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลในอาการหรือสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงซิฟิลิส

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับโรคซิฟิลิส สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการดูแลตนเองของแต่ละคน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคซิฟิลิสหรือไม่

แนะนำให้เข้ารับการตรวจและรักษาจากแพทย์โดยตรง ไม่ควรซื้อยามาทานหรือรักษาด้วยตัวเอง เพื่อการวินิจฉัยโรค การรักษาที่ถูกต้องและเห็นผลได้อย่างชัดเจน หวังว่า จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาหารายละเอียดได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.pobpad.com/ซิฟิลิส
https://www.honestdocs.co/what-is-syphilis