HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคดีซ่านคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคดีซ่าน

โรคดีซ่าน

โรคดีซ่าน เป็นอาการที่ผิวหนังและดวงตามีสีเหลืองที่เกิดขึ้นเมื่อมีสารบิลิรูบินมากเกินไปในระบบร่างกาย ซึ่งเกิดจากการสลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุขัยภายในตับ ภาวะนี้ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการแสดงของโรคซึ่งมีอยู่มากมาย การเกิดภาวะดีซ่านอาจบ่งบอกถึงปัญหาร้ายแรงของการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดแดง การทำงานของตับ ภาวะของถุงน้ำดีหรือตับอ่อน

โรคดีซ่าน
CR. https://www.ayurvedabansko.com/diseases-jaundice/

 

สาเหตุของโรคดีซ่าน

ดีซ่านเกิดจากความผิดปกติของปริมาณสารบิลิรูบินในกระแสเลือด ทำให้เห็นผิวหนังและเยื่อตาขาวเป็นสีเหลือง โดยปกติ เซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีการสลายตัวและเกิดเซลล์ใหม่มาแทนที่ สารบิลิรูบินเป็นสารที่เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าสลายตัว โดยสารนี้จะถูกขับออกไปตามท่อน้ำดีและกระแสเลือด


ลำเลียงไปตามอวัยวะต่าง ๆ ไปจนถึงอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย คือ ลำไส้ จึงสามารถพบความผิดปกติของสีของเสียที่ถูกขับออกจากร่างกายอย่างปัสสาวะและอุจจาระด้วย

และโรคดีซ่านมีสาเหตุมาจากหลายโรค และพบบ่อยในโรคดังต่อไปนี้

-ตับติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือโรคฉี่หนู

-โรคติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย อย่างโรคมาลาเรีย เป็นต้น

-ตับอักเสบจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาบางตัวที่ใช้รักษาวัณโรค หรือการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด

-โรคภูมิแพ้ตัวเอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งอาการตับอักเสบได้

-โรคนิ่วในถุงน้ำดีและมะเร็งตับ ซึ่งจะก่อให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี ทำให้สารบิลิรูบินคั่งอยู่ในกระแสเลือด

-โรคเลือดบางชนิด เช่น โรคจีซิกพีดี (G6PD) และโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งส่งผลให้เม็ดเลือดแดงเกิดการสลายตัวง่ายกว่าปกติ

 

อาการของโรคดีซ่าน

นอกจากอาการตาเหลือง ตัวเหลืองแล้ว อาการของโรคดีซ่านแบ่งเป็นหัวข้อย่อยได้ดังนี้

อาการของโรคดีซ่าน
CR. https://www.pinterest.at/pin/834221530960012895/

-มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

-ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา

-มีไข้หนาวสั่น

-ปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนสีขมิ้น

-คันตามตัว

-ท้องบวม ขาบวม

-น้ำหนักลดฮวบ

อย่างไรก็ดี อาการของโรคดีซ่านในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไป หรือมีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกับอาการเจ็บป่วยของโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจทำให้หลายคนตีความอาการของโรคดีซ่านผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติกับตัวเอง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อความแน่ใจและหาวิธีรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

 

การวินิจฉัยของโรคดีซ่าน

นอกจากการสังเกตจากอาการภายนอกแล้ว ยังสามารถตรวจหาภาวะดีซ่านได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

การวินิจฉัยของโรคดีซ่าน
CR. https://www.lybrate.com/topic/jaundice-signs-symptoms-and-diagnosis/77ecc0570c17da4677c9458f33132e19

-ตรวจเลือด

การตรวจการทำงานของตับด้วยการตรวจเลือด เป็นการวัดระดับเอนไซม์และโปรตีนในเลือด ตับที่ถูกทำลายและมีความเสียหายจะปล่อยเอนไซม์เข้าสู่กระแสเลือด และระดับโปรตีนในเลือดก็จะลดลง วิธีการนี้สามารถตรวจหาโรคไข้จับสั่น (มาลาเรีย) โรคตับแข็ง ตับอักเสบ และตับที่ถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์

-ตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะเพื่อวัดระดับสารยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรบกวนการทำงานตามสภาวะปกติของสารบิลิรูบินในระบบย่อยอาหาร ปริมาณสารที่มากเกินไปแสดงถึงภาวะดีซ่านที่เกิดก่อนเข้าสู่ตับและเกิดขึ้นภายในตับ ส่วนปริมาณสารที่ปกติหรือน้อยเกินไปแสดงถึงภาวะดีซ่านที่เกิดหลังออกจากตับ และวัดสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งจะพบในปัสสาวะผู้ป่วยที่เป็นดีซ่านเท่านั้น

-การฉายภาพรังสี

เป็นการตรวจหาดีซ่านในภาวะดีซ่านที่สงสัยว่า สาเหตุเกิดจากตับ หรือมีการอุดกั้นของทางเดินน้ำดี ซึ่งจะเห็นภาพความผิดปกติภายในตับหรือในระบบน้ำดีผ่านการฉายภาพรังสี วิธีการฉายภาพรังสีที่นำมาใช้ ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound scan) การถ่ายภาพรังสีด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI scan)

-ตรวจชิ้นเนื้อตับ

การตรวจชิ้นเนื้อเป็นวิธีการที่ถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่น่าจะเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ โดยการใช้เข็มเจาะเอาชิ้นเนื้อในตับไปตรวจในห้องแล็บด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ตับ

-การส่องกล้องผ่านทางปากเพื่อตรวจบริเวณท่อน้ำดี (ERCP)

เป็นการตรวจท่อน้ำดีของตับโดยการฉีดสีและเอ็กซเรย์ผ่านกล้อง

 

การรักษาโรคดีซ่าน

การรักษาโรคดีซ่าน มักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น หากสามารถรักษาสาเหตุของโรคให้ทุเลาลง อาการตัวเหลืองตาเหลืองก็จะค่อย ๆ หายไปด้วย แต่ถ้ามีอาการของโรคดีซ่านที่รุนแรงมาก ก็อาจต้องมีการถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารบิลิรูบินออกไป

แต่หากพบโรคดีซ่านในเด็กก็จะทำการรักษาด้วยการเข้าตู้ส่องไฟ (Phototherapy) ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อช่วยกำจัดสารบิลิรูบินส่วนเกินออก และเมื่อสารบิลิรูบินออกจากร่างกายอาจจะพบว่าเด็กถ่ายบ่อยขึ้น และมีอุจจาระเป็นสีเขียว เพราะมีการกำจัดสารนี้ออกจากร่างกาย

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคดีซ่าน
CR. https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/food-news/this-is-the-diet-you-must-follow-to-quickly-recover-from-jaundice/articleshow/68596527.cms

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคดีซ่าน

1.เมื่อพบว่าตัวเองตาเหลือง ตัวเหลืองควรที่จะรีบพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรรอดูอาการเพราะอาจจะทำให้โรคลุกลามได้

2.ช่วงที่มีอาการของโรคดีซ่านควรพักผ่อนร่างกายให้มากที่สุด

3.พยายามเลี่ยงอาหารประเภทที่ทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ เช่น อาหารมัน ๆ

4.ผู้ป่วยที่มีท้องบวม (ท้องมาน) และเท้าบวมร่วมด้วย ไม่ควรให้กินของเค็มเช่น เกลือ น้ำปลา กะปิ ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ของเผ็ดและเครื่องเทศ ฯลฯเพราะจะทำให้บวมมากขึ้น

5.งดดื่ม สุรา เบียร์ และของมึนเมาทุกชนิดโดยเด็ดขาด เพราะสุราทำลายตับ หากผู้ป่วยยังดื่มสุราต่อไปอาจทำให้ตับทรุดเป็นอันตรายมากขึ้นอีกได้

6.อย่าซื้อยาให้ผู้ป่วยกินเองเพราะยาหลายชนิด รบกวนการทำงานของตับ

7.ห้ามฉีดยาเอง การฉีดยาในผู้ป่วยโรคดีซ่านต้องระวังมากหากไม่จำเป็นจริง ๆ  ก็ไม่ควรทำ เพราะนอกจะส่งผลเสียที่อาจมีต่อตับแล้ว ยังอาจเกิดการติดเชื้อโรคได้

8.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย หรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย อุจจาระ เพราะอาจจะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้

9.ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรรักษาอนามัยด้านการขับถ่ายอย่างดี อุจจาระ ปัสสาวะของผู้ป่วยควรได้รับการกำจัดอย่างสะอาด เข้าส้วมควรล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้ง การปรุงอาหารก็ต้องระวังความสะอาด

10.ผู้ป่วยโรคดีซ่านไม่ควรกินอาหารปะปนกับบุคคลอื่นในบ้าน เพราะโรคดีซ่าน บางชนิดอาจติดต่อได้ทางอาหารเช่นตับอักเสบ

11.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดีซ่านหรือเคยเป็นมาแล้วในอดีตไม่ควรบริจาคโลหิตเป็นอันขาดเพราะโรคอาจจะอยู่ในร่างกายของคุณอีกหลายปี หากคุณบริจาคเลือดไปอาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้

 

ความรุนแรงของโรคดีซ่าน

ความรุนแรงของโรคดีซ่านขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดีซ่าน โดยหากอาการดีซ่านเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี ความรุนแรงก็จะไม่น่ากังวล แต่หากเกิดจากมะเร็งตับ อาการจะค่อนข้างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดีซ่าน ก็ควรได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุด เพราะหากปล่อยไว้นานหรือรอดูอาการ อาจทำให้โรคลุกลาม รักษายากขึ้น และเป็นอันตรายมากกว่าเดิมได้ค่ะ

ความรุนแรงของโรคดีซ่าน
CR. https://www.msdmanuals.com/home/liver-and-gallbladder-disorders/manifestations-of-liver-disease/jaundice-in-adults

การป้องกันโรคดีซ่าน

โรคดีซ่านเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุโดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของตับและถุงน้ำดี ดังนั้นเราจึงสามารถป้องกันโรคดีซ่านได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัยให้ดี เพื่อป้องกันและลดโอกาสติดเชื้อไวรัส รวมทั้งพยายามอยู่ห่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มาก เพื่อป้องกันตับอ่อนแอ และเสี่ยงต่อโรคตับแข็งและมะเร็งตับ

นอกจากนี้ควรป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ด้วยนะคะ

โรคดีซ่านเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้และเป็นโรคที่ไม่ใช่โรคโดยตรงแต่เป็นโรคที่แฝงมากับโรคอื่น เช่นโรคตับ โรคฉี่หนู เมื่อรักษาโรคเหล่านี้ให้หายโรคดีซ่านก็จะหายไปเองค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://health.kapook.com/view135669.html
2. https://www.pobpad.com/ดีซ่าน
3. https://www.pobpad.com/ดีซ่าน
4. https://www.siamhealth.net/public_html/Disease/GI/hepatitis/ดีซ่าน.html
5. https://health.kapook.com/view135669.html