HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคปากนกกระจอกคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอก คือ ภาวะอักเสบบริเวณมุมปาก เกิดแผลบริเวณมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน มีรอยแตก และแยกออกจากกัน หากไม่รับการรักษาอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม เช่น เป็นอุปสรรคต่อการรับประทานอาหาร หรือการพูดคุย มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ และมีภูมิต้านทานต่ำ

โรคปากนกกระจอก
CR. https://cosmetic-dentistry.net/all-about-canker-sores/

มักสร้างความรำคาญ ความวิตกกังวล และความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก เพราะทำให้มีอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารหรือการพูดคุย อีกทั้งโรคนี้ก็เป็นโรคที่สามารถเกิดซ้ำได้อีกถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด แต่รอยโรคก็มักหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน

สาเหตุโรคปากนกกระจอก

ส่วนใหญ่แล้วคนมักเข้าใจว่าโรคปากนกกระจอกเกิดได้จากการขาดวิตามินบี 2 เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคปากกระจอกได้อีกมาก และสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ก็มีดังนี้

สาเหตุโรคปากนกกระจอก
CR. https://www.medicinenet.com/canker_sores/article.htm

-ปัญหาจากโรคผิวหนัง เช่น เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ซึ่งเป็นสาเหตุของปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด

-การขาดสารอาหาร ปากนกกระจอกมักเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) การขาดธาตุเหล็ก วิตามินซี และโปรตีน (เป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่มักพบได้ในเด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหาร หรือรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 น้อยเกินไป)

-การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อรา (Candida albicans) เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริมที่ริมฝีปาก (Herpes simplex) ที่มักพบตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่บริเวณริมฝีปาก

-ผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่มีฟัน จึงมีรูปปากที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการกดทับที่มุมปากและกลายเป็นจุดอับชื้น เมื่อน้ำลายหรือเหงื่อมาอยู่บริเวณนั้นมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเป็นแผลระคายเคืองที่มุมปากได้ ต่อมาอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้อีก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย

-ภาวะน้ำลายออกมากกว่าปกติ (Hypersalivation) เช่น ในคนที่นอนหลับแล้วน้ำลายไหลเป็นประจำ คนที่พูดแล้วมักมีน้ำลายเอ่อที่มุมปาก หรือในเด็กบางคนที่มีน้ำลายมากและน้ำลายไหลตลอด ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่มุมปากจนเกิดเป็นแผลได้ง่ายยิ่งขึ้น

-การแพ้หรือระคายเคือง เช่น การแพ้อาหาร แพ้ลิปสติก หรือยาสีฟัน (แต่ในกรณีนี้มักเป็นทั้งริมฝีปาก)

-เกิดจากการที่ริมฝีปากแห้ง จากนิสัยส่วนตัวที่ชอบเลียปากหรือจากการที่อากาศหนาวเย็นที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว

-ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากินรักษาสิวประเภทกรดวิตามินเอ (Isotretinoin) ที่มีผลทำให้ผิวแห้งลงและเกิดแผลที่มุมปากได้ง่ายขึ้น

-ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าปากนกกระจอกอาจเกิดปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ ฯลฯ หรือเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

-นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคพิษสุรา โรคตับ หรือท้องเดินเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร หรือมีความผิดปกติของการดูดซึมของลำไส้

การวินิจฉัยปากนกกระจอก

ผู้ป่วยปากนกกระจอกจะได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว  โดยแพทย์จะตรวจปากของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีสะเก็ด รอยแดง อาการบวม หรือตุ่มพองที่ปากหรือไม่ รวมทั้งสอบถามอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและป่วยเป็นปากนกกระจอกได้

การวินิจฉัยปากนกกระจอก
CR. https://www.mountnittany.org/articles/healthsheets/37830

อาการอักเสบที่มุมปากอาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อจากปากนกกระจอกเท่านั้น แต่อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเริมที่ริมฝีปาก หรือโรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus) แพทย์จึงอาจเก็บตัวอย่างของเชื้อจากมุมปากและจมูกของผู้ป่วยและนำส่งตรวจที่ห้องทดลอง เพื่อดูว่าอาการป่วยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราชนิดใด

โดยหากเป็นปากนกกระจอก ผลการตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งมักแสดงผลว่าผู้ป่วยติดเชื้อราแคนดิดา เชื้อสเตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือเชื้อไวรัสโรคเริม (Herpes Simplex)

อาการของโรคปากนกกระจอก

ผู้ป่วยปากนกกระจอกมักเกิดอาการระคายเคือง เจ็บปากและปวดแสบปวดร้อนตรงมุมปาก ซึ่งอาจเกิดอาการดังกล่าวที่มุมปากข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ทั้งนี้ บริเวณมุมปากที่เป็นอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

อาการของโรคปากนกกระจอก
CR. https://www.karlarakeliandmd.com/blog/2018/04/dentist-2/

-มีรอยแดงและเลือดออก

-เกิดตุ่มพองขึ้นมา เป็นแผล มีของเหลวไหลเยิ้มออกมา หรือเกิดสะเก็ดแผลที่มุมปาก

-ปากลอก รวมทั้งแห้งและแตก โดยปากอาจตึง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายปาก

-รู้สึกคันระคายเคืองตรงมุมปากที่เป็น ทำให้ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารลำบากในกรณีที่เกิดอาการดังกล่าวอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือน้ำหนักตัวลดลง

-เกิดอาการบวมบริเวณนั้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยปากนกกระจอกสามารถเกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หรือเกิดแผลติดเชื้อแบคทีเรียลามไปยังผิวหนังรอบ ๆ บริเวณที่เกิดปากนกกระจอกได้ ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง เนื่องจากกินลำบากมากขึ้น

การรักษาโรคปากนกกระจอก

ปากนกกระจอกสามารถรักษาได้ โดยแพทย์จะรักษาบริเวณที่ติดเชื้อของโรค รวมทั้งดูแลบริเวณที่แห้งและแตกไม่ให้กลับมาติดเชื้ออีก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับยาเพื่อรักษาอาการตามประเภทของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว ซึ่งได้แก่ การรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา การรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรีย และการดูแลรักษาอื่น ๆ ดังนี้

การรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา

ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อรา จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

-ไมโคนาโซล (Miconazole) ยานี้ใช้รักษาเชื้อราแคนดิดาและเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (Gram-Positive Cocci) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยควรทาครีมไมโคนาโซลตรงมุมปากที่เกิดการติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ไม่ควรใช้ยานี้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการต้านฤทธิ์กันอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้มีเลือดออกมาก

-ไนสแตนดิน (Nystatin) ผู้ป่วยจะรับประทานยานี้เพื่อรักษาการติดเชื้อราที่ปากหรือโรคเชื้อราในช่องปากหรือในทางเดินอาหาร โดยแพทย์จะให้ใช้ยาวันละ 4 ครั้ง อมไว้ปากให้นานก่อนกลืนลงไป ทารกควรงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 5-10 นาทีหลังจากใช้ยานี้ ทั้งนี้ ตัวยาจะไม่ซึมเข้ากระแสเลือด

-โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยานี้ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเชื้อรา ได้แก่ น้ำกัดเท้า ติดเชื้อราที่ขาหนีบ และกลาก โดยตัวยาจะส่งผลต่อเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราให้สลายลง ส่งผลให้เชื้อราตายได้

-คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) มีสรรพคุณขัดขวางการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา อย่างไรก็ตาม แพทย์จะใช้ยาคีโตโคนาโซลรักษาผู้ป่วยในกรณีที่ตัวยาอื่นไม่สามารถรักษาอาการป่วยให้ทุเลาลง ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว ทั้งนี้ คีโตโคนาโซลอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับได้

การรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรีย

-ผู้ป่วยที่เป็นปากนกกระจอกซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย จะได้รับยาต้านเชื้อดังกล่าว โดยจะยกยาต้านแบคทีเรียที่ใช้รักษาปากนกกระจอกมาบางตัว ดังนี้

-มิวพิโรซิน (Mupirocin) ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยตัวยายับยั้งการผลิตโปรตีนที่ใช้เลี้ยงแบคทีเรียบนผิวหนัง ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ติดเชื้อจากโรคพุพอง

-กรดฟูซิดิก (Fusidic Acid) ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง เป็นยาต้านแบคทีเรียชนิดทาภายนอกที่รักษาการติดเชื้อผิวหนัง โดยอาจใช้รักษาเชื้อสแตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส และเชื้อโครีนแบคทีเรีย (Corynebacterium) ยานี้ใช้รักษาโรคผิวหนังหลายโรค เช่น โรคพุพอง รูขุมขนอักเสบ ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ควรทายาที่ผสมกรดฟูซิดิกตรงบริเวณที่ติดเชื้อตามแพทย์สั่ง

การดูแลรักษาอื่น ๆ

1. ผู้ป่วยปากนกกระจอก สามารถดูแลอาการของโรคด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ ดังนี้

2. น้ำยาฆ่าเชื้อ (Antiseptics) คือสารที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ภายนอกร่างกาย และป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ แพทย์อาจจะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผลบริเวณที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกที่ได้รับความเสียหาย เพื่อทำความสะอาดและลดการติดเชื้อ

3. ยาสเตียรอยด์ชนิดทา ยานี้ถือเป็นยาที่ใช้ต้านอาการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้ยับยั้งอาการของโรคผิวหนังอักเสบและปัญหาอื่นเกี่ยวกับผิวหนัง มีทั้งแบบครีม ขี้ผึ้ง และแบบอื่น ๆ ยาสเตียรอยด์ชนิดทาจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ได้แก่ ต้านอาการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจจะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา

โดยอาจเกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงกับผิวหนังในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้ผิวหนังแตกลาย มีเลือดออกและผิวหนังฉีกได้ง่าย หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น

4. ผลิตภัณฑ์บำรุงความชุ่มชื้น ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ไม่ได้ติดเชื้อจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย จะได้รับผลิตภัณฑ์ทาปากเพื่อบำรุงความชุ่มชื้นให้ผิว โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีหลายลักษณะ ได้แก่ น้ำมัน โลชั่น ครีม และขี้ผึ้ง ผลิตภัณฑ์บำรุงความชุ่มชื้นจะช่วยบรรเทาอาการปากแห้งแตกและรักษาอาการระคายเคืองผิวหนัง

5. อาหารเสริมอื่น ๆ ผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ป่วยจากการขาดสารอาหาร โรคแพ้กลูเตน ขาดธาตุเหล็ก หรือขาดวิตามินบี 2 ควรรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเสริม เพื่อช่วยบำรุงสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายให้เพียงพอ

การป้องกันโรคปากนกกระจอก
CR. https://www.zendium.co.uk/how-to-reduce-a-canker-sore/

การป้องกันโรคปากนกกระจอก

โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ปลา ตับ ไต ถั่ว นม ไข่แดง ผักใบเขียว ผักหวานป่า โยเกิร์ต ชีส ฯลฯ และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ตับ หอย ไข่แดง หน่อไม้ฝรั่ง ผักกูด ผักแว่น ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ใบกะเพรา เห็ดฟาง ธัญพืช ถั่วชนิดต่าง ๆ

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เป็นประจำทุกวัน

-เลิกนิสัยการชอบเลียมุมปาก แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดแผลที่มุมปากได้

-ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองที่ริมฝีปาก เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน หากใช้แล้วแพ้ควรหยุดใช้แล้วเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นทันที

-รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่

บทสรุป

โรคปากนกกระจอก ถือว่าเป็นโรคที่มีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก  การรักษาต้องใช้เวลาที่นานกว่าจะหายเป็นปกติได้ ดังนั้นรายละเอียดต่าง ๆ ของปากนกกระจอก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้เพื่อป้องกัน และดูแลรักษาปากนกกระจอกได้เป็นอย่างดี เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://medthai.com/ปากนกกระจอก/
2. https://www.pobpad.com/ปากนกกระจอก