HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคพิษสุนัขบ้าคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า 

โรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกกันว่าโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว วัว ควาย หนู กระต่าย ค้างคาว และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้

โรคพิษสุนัขบ้า 

ความน่ากลัวของพิษสุนัขบ้าคือ มีอาการต่อระบบประสาท เช่น เส้นประสาท สมอง  มีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน  ที่สำคัญปัจจุบันพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษามีแต่วัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น

 

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า

พิษสุนัขบ้าเกิดจาก เชื้อไวรัส (Rabies) ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นโรค ส่งผลให้พิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกข่วน กัด หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล  ผิวหนังถลอก หรือถูกเลียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น  เยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยพบพิษสุนัขบ้าในสุนัขมากที่สุด  รองมาเป็นแมว    ถ้าโดนสุนัขกัดและไม่รู้ว่าสุนัขตัวนั้นเป็นพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า สุนัขตัวนั้นเป็นพิษสุนัขบ้าแล้วรีบไปฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้าทันทีเมื่อถูกกัด

โดยอัตราการเป็นโรคหลังถูกกัดอยู่ที่ 35% และบริเวณที่ถูกกัดก็ส่งผลแตกต่างกัน ถ้าถูกกัดบริเวณขามีโอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดที่บริเวณใบหน้าจะมีโอกาสเป็นโรคถึง 88% ถ้าเป็นแผลตื้น หรือแผลถลอกจะมีโอกาสเป็นโรคน้อยกว่าแผลลึกค่ะ

 

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

อาการของพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะเริ่มต้น

ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บ ๆ คล้ายเข็มทิ่ม

หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน

2.ระยะที่มีอาการทางสมอง

ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน

3.ระยะสุดท้าย

ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้นได้

 

ข้อควรปฏิบัติหลังจากถูกสุนัขหรือแมวที่เป็นพิษสุนัขบ้ากัด มีดังนี้

-ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรักษาในขั้นตอนไป

-ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าทันทีไม่ควรรอเพราะอาจจะสายเกินไป

-ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนทันทีเพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้า

-ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเมื่อโดนกัด คือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก จะต้องมารับการฉีดวัคซีนทันทีเพื่อป้องกันเป็นพิษสุนัขบ้า

-ส่วนในกรณีที่ถูกเลียผิวหนังที่ไม่มีบาดแผลหรือเพียงแต่อุ้มสุนัขไม่สามารถจะติดโรคได้แต่ทางที่ดีคุณควรอยู่ให้ห่างจากสุนัขหรือสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมจะเป็นการดีที่สุดค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคพิษสุนัขบ้า
CR. https://www.mountsinai.org/health-library/diseases-conditions/rabies

ภาวะแทรกซ้อนของโรคพิษสุนัขบ้า

ผู้ป่วยพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่มักเสียชีวิตลงภายใน 2 สัปดาห์หลังจากเกิดอาการโคม่า โดยสาเหตุมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขาดอากาศหายใจหรือภาวะหยุดหายใจจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว

อาการชักในผู้ป่วยกลุ่มสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตในผู้ป่วยกลุ่มอาการแบบอัมพาต

นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของพิษสุนัขบ้าที่อาจพบได้ เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น

 

การรักษาพิษสุนัขบ้า

เมื่อพบผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย ควรให้การดูแลรักษาดังนี้

1.การรักษาบาดแผลตามลักษณะของแผลที่ถูกสัตว์กัด

ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้ฟอกหรือล้างบาดแผลมาหรือไม่มั่นใจว่าได้รับการปฐมพยาบาลมาอย่างดีแล้ว แพทย์/พยาบาลอาจล้างแผลซ้ำ ใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ และอาจไม่เย็บแผลที่สัตว์กัดทันที

เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบเป็นหนองได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ให้ทำแผลให้ดีสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยเย็บปิดในภายหลัง

2.การให้รับประทานยาปฏิชีวนะ

การให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือโคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) เป็นเวลา 3-5 วัน

และผู้ป่วยที่จะได้รับยาปฏิชีวนะนั้นก็คือ ผู้ป่วยที่มีบาดแผลขนาดใหญ่ และเป็นบาดแผลบริเวณนิ้วมือ บาดแผลลึกถึงกระดูก ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวาย ตับแข็ง

หรือผ่าตัดม้ามออกไปแล้ว หรือในกรณีที่บาดแผลมีลักษณะบวม แดง ร้อน มีหนอง แต่หากมีความรุนแรงแพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการต่อไปค่ะ

3.การฉีดยาป้องกันบาดทะยัก

ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และได้เข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปีมาแล้ว แพทย์จะฉีดวัคซีนบาดทะยักเข้ากล้ามเนื้อให้ 1 เข็ม

แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน แพทย์จะให้จำนวน 3 เข็ม คือ วันแรกที่โดนกัด  และเดือนที่ 1 หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้ว และเดือนที่ 6 นับจากเดือนที่1 มาอีก 6 เดือนค่ะ

4.การฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสพิษสุนัขบ้า

แพทย์จะพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และให้การดูแลรักษาเพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้าดังนี้

ความเสี่ยงระดับที่ 1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลิน

ความเสี่ยงระดับที่ 2 และ 3 แพทย์จะพิจารณาจากสัตว์ที่ก่อเหตุดังนี้

ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่มีอาการผิดปกติหรือป่วย แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้แก่ผู้สัมผัสโรคทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจ

ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่มีอาการปกติดี แพทย์จะทำการซักประวัติดังต่อไปนี้ คือ

1. การเลี้ยงดูสัตว์อยู่ในรั้วรอบขอบชิดและมีโอกาสสัมผัสพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ตัวอื่นน้อย

2. สัตว์เลี้ยงได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

3. การกัดหรือข่วนเกิดจากมีเหตุจูงใจให้สัตว์กัด เช่น แหย่สัตว์ หรือเหยียบถูกสัตว์ เป็นต้น

 

ถ้าผู้ป่วยมีประวัติไม่ครบทั้ง 3 ข้อดังที่กล่าวมา แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้ก่อนเสมอ และเฝ้าดูอาการสัตว์ 10 วัน เมื่อครบแล้วถ้าสัตว์ยังไม่ตายก็หยุดฉีดได้ แต่ถ้าสัตว์ตายหรือหายไปก่อนครบกำหนด ผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดยาจนครบ

ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติครบทั้ง 3 ข้อ แพทย์จะเฝ้าดูอาการของสัตว์ 10 วัน ถ้าครบแล้วสัตว์ยังปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยาป้องกัน แต่ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติ แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้แก่ผู้สัมผัสโรคทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจทันทีเช่นกัน

 

การป้องกันพิษสุนัขบ้า

การป้องกันพิษสุนัขบ้าที่สำคัญที่สุดคือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัขซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข และระวังอย่าให้สุนัขหรือแมวกัด

เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคอยู่แล้ว รวมทั้งการควบคุมจำนวนสุนัข ซึ่งการป้องกันโรคสามารถทำได้ดังนี้

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
CR. https://www.who.int/philippines/news/feature-stories/detail/world-rabies-day-rabies-prevention-in-typhoon-yolanda-affected-areas

1.คนเลี้ยงสุนัขควรนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้า เพราะวิธีนี้เป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด ถ้าสุนัขในพื้นที่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อยร้อยละ 82 จึงจะป้องกันพิษสุนัขบ้าในพื้นที่นั้นได้

2.ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง อย่าปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับสุนัขตามลำพัง และสอนให้เด็กรู้จักระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้สุนัข อย่ารังแก อย่าแกล้ง อย่าทำให้สุนัขตกใจ

สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ให้สุนัขไปกัดคน และไม่ก่อความเดือดร้อนหรืออันตรายแก่ผู้อื่นโดยเด็ดขาด

3.ควบคุมจำนวนสุนัขไม่ให้เพิ่มขึ้น ผู้เลี้ยงสุนัขควรนำสุนัขไปรับการคุมกำเนิดหรือนำไปทำหมันเพื่อไม่ให้มีสุนัขเพิ่มขึ้น

4.ผู้ที่ถูกสัตว์ที่เสี่ยงต่อพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ต้องรีบล้างแผลให้สะอาดแล้วใส่ยา และกักสุนัขไว้ 10 วัน และรีบไปหาหมอโดยเร็วที่สุด หากสุนัขที่กัดคนตายลงภายใน 10 วัน

ต้องส่งหัวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติหรือติดต่อปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตรวจหาว่าสัตว์ที่ตายนี้เป็นพิษสุนัขบ้าหรือเปล่าหากเป็นคุณควรฉีดยาป้องกันทันทีค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.honestdocs.co/rabies-transmission-and-treatment
2. http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/579
3. https://www.ku.ac.th/emagazine/april48/know/rabies.html
4. https://www.pobpad.com/พิษสุนัขบ้า
5. https://medthai.com/โรคพิษสุนัขบ้า/
6. https://www.thaihealth.or.th/Content/Content/40609-การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า.html