โรคภูมิแพ้คือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้นั้น และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ร่างกาย
เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล คันรอบดวงตา ระคายเคืองทั่วใบหน้า มีผดผื่นคันแดงตามผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหลังจากที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการแพ้ต่อสารแตกต่างกันไป
สารก่อภูมิแพ้มี 2 ประเภท ได้แก่
1.สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า หรือเชื้อรา เป็นต้น
2.สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล หรือแป้งสาลี เป็นต้น
โรคภูมิแพ้ในระบบร่างกาย ได้แก่
-ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียง หรือหายใจเร็วโดยเฉพาะเวลากลางคืน จะมีอาการที่เกิดกับจมูก บริเวณโพรงจมูก และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก
หลังผู้ป่วยหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะขับสารเพื่อทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้
-ภาวะแพ้อาหารและยา อาการสำคัญของผู้ที่แพ้อาหารและยา มักจะเกิดขึ้นกับระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร มักจะมีอาการอาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด มีอาการบวมแดงหรือคันบริเวณปาก ชีพจรเต้นเร็ว รู้สึกอ่อนล้า หมดแรง หายใจลำบาก และความดันลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
-ภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการคัน ผดผื่นขึ้นตามตัว ผิวแห้งแดง บางครั้งผื่นอาจเป็นปื้น นูนแดง และคันมาก เป็นแผลหรือผิวลอกออกได้ง่ายเมื่อเกา อาจลุกลามอักเสบเป็นวงกว้างจนกลายเป็นลมพิษหรือสะเก็ดเงินได้
-ภูมิแพ้ตา มีอาการแพ้ที่แสดงออกทางดวงตา มีอาการคันตา เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เปลือกตาอักเสบบวม มีน้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีก้อนหรือสะเก็ดเม็ดทรายติดอยู่ในดวงตา
โรคภูมิแพ้ สาเหตุ
การเกิดโรคภูมิแพ้เป็นเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อบางสิ่งที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่เป็นอันตรายต่อตัวบุคคลที่แพ้เท่านั้น
สาเหตุที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ
1. กรรมพันธุ์ โรคภูมิแพ้ที่เกิดทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็ก ยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาสมากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว
กล่าวคือถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70
ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียง 10%
2. สิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยการหายใจ จากการรับประทาน หรือจากการสัมผัส ซึ่งสารก่อภูมิแพ้บางอย่างจะสังเกตได้ง่าย
เช่น การแพ้อาหาร หลังจากการรับประทานอาหารไป อาจเป็นลมพิษมีผื่น ถ้าแพ้ฝุ่น แพ้ขนแมวจะจาม คัดจมูกหรือหอบ และสารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ยาก เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสรหรือเชื้อราในอากาศ หรือไรฝุ่นในบ้าน
โรคภูมิแพ้ อาการ
อาการเบื้องต้น ของโรคภูมิแพ้
-ระบบการหายใจ ตั้งแต่จาม คันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา คันคอ หรือไอเรื้อรังมีเสมหะ มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเสียงดัง อาการดังกล่าวอาจเป็น ๆ หาย ๆ อาจมีอาการเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นตลอดเกือบทั้งปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุ เป็นหวัดไม่ยอมหาย ไอ ไซนัสอักเสบบ่อย ๆ หอบหืด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกร่วมกับไอมาก
-ระบบผิวหนัง อาจแสดงเป็นลมพิษ ผื่นคันตามข้อพับ เข่า ในเด็กอาจมีผื่นแดงบริเวณแก้ม
-ระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด
-แสดงอาการทุกระบบ ในคนไข้ที่แพ้รุนแรง อาจมีทั้งอาการหอบ หายใจลำบาก ลมพิษขึ้น อาจเกิดการช็อคและอาจเสียชีวิต
โรคภูมิแพ้ รักษา
หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งหรือการแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ และหากพบว่ามีอาการแพ้ที่รุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การรักษาด้วยยา
ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาภูมิแพ้มีประสิทธิภาพสูง และสามารถใช้ได้ทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่นทางจมูกเช่น
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารจะได้รับยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ป้องกันไม่ให้สารฮิสตามีนทำงาน ซึ่งฮิสตามีนเป็นสารที่หลั่งเมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
โดยสารนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ และยาออกฤทธิ์ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้ง่วงนอน
ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
จะช่วยลดอาการบวมของกล่องเสียงและหลอดลมที่เป็นเหตุทำให้หายใจติดขัด ส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบการฉีดตัวยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง
ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ใช้ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ช่วยลดอาการคัดจมูกและการหายใจติดขัด มีทั้งรูปแบบหยอดจมูกและยาเม็ดรับประทาน
ยากลุ่มนี้ได้ผลดีมากเมื่อใช้ต่อเนื่องกัน สามารถลดอาการบวมและอักเสบของเยื่อจมูกได้ดี และลดการเกิดไซนัสอักเสบแทรกซ้อน
ยาพ่นสเตียรอยด์ลดอาการอักเสบ อาการบวมและการเกิดน้ำมูกอุดตันในโพรงจมูก
และยาทาสเตียรอยด์รูปแบบครีมที่ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการแพ้และมีผดผื่นคัน ตัวยาจะช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและช่วยไม่ให้ผดผื่นคันขยายไปเป็นวงกว้าง
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปปริมาณเล็กน้อย ทำให้ร่างกายค่อย ๆ คุ้นเคยกับสารและทำให้การแพ้สารนั้นทุเลาลงจนหายขาด
เป็นวิธีการฉีดสารก่อภูมิแพ้อย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉีดสารเป็นระยะอย่างต่อเนื่องหลายปีตามความรุนแรงของอาการแพ้และตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย
โรคภูมิแพ้ การป้องกัน
-หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควรเปิดหน้าต่างในบ้านเพื่อให้อากาศในห้องถ่ายเทได้สะดวก
-ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเผชิญกับสิ่งที่มีสารที่ตนแพ้ เช่น ผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำมาจากสัตว์ทะเลทุกชนิด
-ผู้ที่แพ้ฝุ่นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางบนท้องถนนที่มีฝุ่นควัน ไม่ลดกระจกลงขณะโดยสารอยู่บนรถ หลีกเลี่ยงการเดินผ่านเขตบริเวณที่มีการก่อสร้าง
-ทำความสะอาดพื้นห้องเป็นประจำ และใช้เครื่องกำจัดไรฝุ่นและฝุ่นละอองภายในบ้าน ควันบุหรี่ ขนสัตว์ และเกสรดอกไม้
-ดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยละลายเสมหะได้ และช่วยในการขับของเหลวออกจากร่างกาย โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 8 แก้วต่อวัน
-นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ควรทำงานหักโหมจนเกินไป
-ออกกำลังกายแต่พอดีอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้รับมือกับอาการแพ้ได้
-ระวังอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้เช่นอาหารทะเล ถั่วเป็นต้น
-ควรสวมแว่นตาเมื่อออกนอกบ้าน ปกป้องดวงตาจากสารก่อภูมิแพ้ หากมีประวัติเป็นโรคเยื่อบุนัยน์ตาอักเสบจากภูมิแพ้ เพื่อป้องกันเกสรดอกไม้หรือฝุ่นละอองไม่ให้เข้าตา
-รักษาสภาพจิตใจให้แจ่มใส ลดความเครียด สุขภาพจิตที่ดีจะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้ช่วยต้านภูมิแพ้ได้
การป้องกันภูมิแพ้ในเด็ก
-ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุอย่างน้อย 4-6 เดือน
-คุณแม่ควรให้นมสูตรพิเศษ กรณีที่นมแม่ไม่พอหรือจำเป็นต้องให้นมอื่นเสริม อาจมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบในทารกกลุ่มเสี่ยง และควรให้อาหารเสริมตามวัย
โดยเริ่มจากอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้น้อยก่อน เช่น ข้าว ผักใบเขียว ไก่ หมู เป็นต้น
-ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว นมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ และหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ได้
-หลีกเลี่ยงการกินไข่และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ขวบ
-หลีกเลี่ยงการกินถั่วและปลาจนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ขวบ
-ให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กกินอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่
อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว
** บทความที่คุณอาจสนใจ : อาหารคีโต คีโตเจนิค คืออะไร?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.sanook.com/health/13053/
2. https://www.pobpad.com/โรคภูมิแพ้
3. https://www.doctor.or.th/ask/detail/7815