HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคหอบหืดคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคหอบหืด

โรคหอบหืด 

โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น จากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก

โรคหอบหืด 

โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด โดยหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้

 

สาเหตุของโรคหอบหืด

สาเหตุของโรคหอบหืดเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

สาเหตุของโรคหอบหืด
CR. https://steemkr.com/life/@muhammadhunain/causes-of-asthma

-พันธุกรรม มีประวัติการเป็นหอบหืดของคนในครอบครัว

-โรคภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ สปอร์เชื้อรา เกสรดอกไม้

-สารเคมี สารเคมีที่ใช้ในบ้านอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง สเปรย์แต่งผม รวมไปถึงควันบุหรี่

-การออกกำลังกาย บางคนเกิดอาการเมื่อต้องออกแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง ออกกำลังกาย โดยเฉพาะในที่ที่มีอากาศเย็น

-ภาวะทางอารมณ์ มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีความเครียด ส่งผลให้หายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว ทำให้หายใจแบบลึกบ้างตื้นบ้างสลับกันไปมา

-สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) และสารกันบูด สารที่เจือปนในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลไม้แห้ง เบียร์ ไวน์

-โรคกรดไหลย้อน ภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนในอก กรดไหลย้อนทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหอบหืด มีอาการบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นได้

-ไวรัสทางเดินหายใจ

-ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

 

การวินิจฉัยโรคหอบหืด

การวินิจฉัยโรคหอบหืดในเบื้องต้น สำหรับผู้ที่แพทย์ได้ลงความเห็นว่าเป็นโรคหอบหืด จะมีการซักประวัติ การตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพของปอด ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น

และการประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อวางแผนรักษาอย่างเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งโรคหอบหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ นั่นเองค่ะ

อาการของโรคหอบหืด
CR. https://health.clevelandclinic.org/why-does-asthma-hit-you-harder-as-an-adult/

อาการของโรคหอบหืด

อาการของหอบหืด จะเกิดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายจะมีอาการเป็นพัก ๆ แล้วหาย แต่บางรายเป็นอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดขึ้นเวลาใดนั้นไม่สามารถคาดเดาได้

อาการบ่งชี้ของโรคหืด มีดังนี้

-อาการไอ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกายหรือไอเวลากลางคืน

-หายใจเสียงหวีด

-แน่นหน้าอก หายใจติดขัดหรือมีอาการเหนื่อยหอบที่เป็นซ้ำ ๆ

-อาการมักเกิดขึ้นตอนกลางคืน จึงอาจทำให้ต้องตื่น

-อาการจะกำเริบในบางฤดูหรือสัมพันธ์กับสารกระตุ้นบางชนิด

-เมื่อใช้ยารักษาโรคหืด เช่น ยาขยายหลอดลม แล้วอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น

-มีอาการหวัดลงปอดหรือการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่างซ้ำ ๆ

-มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ภูมิแพ้ผิวหนัง และภูมิแพ้อาหาร

อาการของโรคหอบหืดที่รุนแรงที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน มีดังนี้

-อาการหายใจหอบถี่ หรือหายใจลำบากมีเสียง แย่ลงอย่างรวดเร็ว

-เมื่อใช้อุปกรณ์พ่นยา เช่น อัลบิวเทอรอล แล้วไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นเลย

-มีอาการหายใจหอบเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากมีสัญญาณและอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องรับไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการรักษาหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

การรักษาโรคหอบหืด

การรักษาโรคหอบหืดนั้น ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยเอง และยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย  ดังนั้นเป้าหมายของการรักษา คือควบคุมอาการให้เป็นปกติได้นานที่สุด ให้อาการสงบ และให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุข

ด้วยการมีสมรรถภาพปอดใกล้เคียงปกติมากที่สุด และผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหอบหืดบ่อย จะรักษาด้วยการใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ และสำหรับยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดมีทั้งชนิดสูดพ่นและยารับประทาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มยาควบคุมหรือระงับการอักเสบของหลอดลม เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (inhaled corticosteroids)

2.กลุ่มยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาขยายหลอดลมซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวและขยายตัว จึงช่วยลดอาการไอ เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ยานี้ควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ และไม่มีผลในการลดอาการหลอดลมอักเสบ

โรคหอบหืดเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอาการเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น แพทย์จะประเมินผลการรักษาด้วยยาเป็นระยะ และอาจต้องปรับเปลี่ยนหรือลด-เพิ่มขนาดของยาตามความจำเป็นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด

หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยอาจมีอาการหมดแรง (อ่อนเปลี้ยเพลียแรง) ภาวะขาดน้ำ ปอดแฟบ การติดเชื้อ ปอดทะลุ ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นโรคหอบหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายระยะใกล้คลอดหรือหลังคลอด

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต คือ ภาวการณ์หายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและขาดยารักษา

 

การป้องกันของโรคหอบหืด

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคหอบหืด เพราะโรคนี้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในเด็กที่พ่อแม่เป็นโรคหอบหืดลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้

การป้องกันของโรคหอบหืด
CR.http://www.mycirclecare.com/prevention-and-control-of-asthma-asthma-circlecare/

แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดก็สามารถสังเกตอาการของตนเอง ควบคุมไม่ให้มีอาการหอบหืดกำเริบ และใช้ชีวิตอย่างปกติได้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง เช่น

-กำจัดไรฝุ่นบ้าน โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอน หมอน ผ้าห่ม เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นที่ทำด้วยนุ่น หรือเป็นขน ๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรห่อหุ้มด้วยวัสดุกันไรฝุ่น

-ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งด้วยน้ำอุ่น มากกว่า 55 องศาเซลเซียส

-ไม่ควรปูพรมตามพื้นห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในห้องนอน ถ้ายังปูพรมควรใช้เสื่อน้ำมันปูทับให้ ทั่ว ให้ขอบชิดผนังห้องทุกด้าน

2.หลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง

(เช่น สุนัข แมว หนู นก) ถ้าเลี้ยงสัตว์เลี้ยงควรให้อยู่นอกบ้าน อย่านำเข้ามาในบ้านและห้องนอน และควรจับอาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อรา

โดยการทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว อย่าให้มีน้ำขัง ใช้พัดลมดูดอากาศ และทำให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่อับชื้น (เช่น ห้องใต้ดิน) และพุ่มไม้ ไม่ปลูกต้นไม้ภายในบ้าน ไม่ใช้วอลเปเปอร์และพรมในห้องน้ำ

4.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

การสูดควันบุหรี่ และควันต่าง ๆ ควรห้ามบุคคลในบ้านสูบบุหรี่ ห้ามใช้ฟืนในการหุงต้มและผิงไฟ

5.หลีกเลี่ยงการดมกลิ่นสี

น้ำหอม สเปรย์ กาว น้ำยาฆ่าเชื้อ สารเคมี เป็นต้น

6.หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและสารเคมีในโรงงานหรือที่ทำงาน

โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย และใช้อุปกรณ์ป้องกัน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้และทำให้หอบบ่อย ควรย้ายสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนงานที่ไม่ต้องสัมผัสกับสาเหตุกระตุ้น

7.ควรออกกำลังกายเป็นประจำ

เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น แต่ระวังอย่าให้หักโหมหรือเหนื่อยเกินไป ควรเตรียมยาขยายหลอดลมชนิดสูดไว้พร้อม ถ้าเคยมีอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย ควรใช้ยาสูดก่อนออกกำลัง 15-20 นาที และถ้ามีอาการกำเริบระหว่างออกกำลังกาย ควรหยุดพัก และใช้ยาสูด จนกว่าอาการทุเลาแล้วค่อยเริ่มออกกำลัง ใหม่

8.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน

ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา เวลาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรคหอบหืดอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้

9.ควรหาทางป้องกันหรือผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ

เช่น การออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก สวดมนต์ ไหว้พระ ฝึกสมาธิ เจริญสติ เป็นต้น

10.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

บำรุงร่างกายด้วยอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกินผักและผลไม้ให้มาก ๆ ระมัดระวังป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดและโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/โรคหอบหืด-โรคทางเดินหาย/
2. https://www.pobpad.com/โรคหืด
3. https://www.bumrungrad.com/th/conditions/asthma
4. https://www.doctor.or.th/article/detail/5823