HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคซึมเศร้าคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคซึมเศร้า 

โรคซึมเศร้า คือ โรคทางอารมณ์ที่พบบ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และส่วนมากพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก

โรคซึมเศร้า

เช่น การสูญเสีย ความผิดหวังหรือการหย่าร้าง การเป็นโรคนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลวหรือไม่มีความสามารถ เพราะมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ

ในปัจจุบันโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงานและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการหลงผิด หูแว่ว มีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายได้

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

1.โรคซึมเศร้าแบบ Major Depression คือ โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ จะมีความผิดปกติที่อารมณ์และจะมีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ที่ป่วยจะมีอาการเศร้าสลดอย่างมาก จนไม่มีความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้กลับมามีความสุขสดชื่นเหมือนเดิม

ดังนั้นควรเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยไม่ให้โรคซึมเศร้าแบบนี้มีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอีกด้วย

2.โรคซึมเศร้าแบบ Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder คือ โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก แต่สามารถเป็นได้อย่างต่อเนื่องและนานกว่า นั่นคือ จะมีอาการอย่างน้อย 2 ปี แต่มักจะนานกว่า 5 ปี แต่อาการจะไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากผู้ที่ป่วยจะมีอารมณ์ผิดปกติสลับไปด้วย เช่น

-รับประทานอาหารได้น้อยลงหรือมากขึ้น

-นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป

-อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

-รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำ

-ไม่มีสมาธิ หรือตัดสินใจอะไรได้ลำบาก

ในบางช่วงเวลาของภาวะซึมเศร้าประเภทนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะ Major depression หรือโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงร่วมด้วย ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ป่วยและทำให้เกิดความรู้สึกแย่ได้

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด
CR. https://www.schriever.af.mil/News/Article-Display/Article/1332535/fight-depression-search-for-signs/

3.โรคซึมเศร้าแบบ Bipolar หรือ Manic-depressive Illness คือ โรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้ว

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ชนิดนี้บางรายจะมีอารมณ์เซ็ง ซึมเศร้าสลับกับอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ พูดมากกว่าที่เคยเป็น กระฉับกระเฉงกว่าปกติ มีพลังงานในร่างกายเหลือเฟือ

โดยโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจและมักก่อให้เกิดปัญหา เช่น การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือตัดสินใจผิด ๆ และอาจมีความคิดฆ่าตัวตายในช่วงที่มีอาการซึมเศร้าได้

ดังนั้น หากพบหรือสงสัยว่าตนเองและคนใกล้ตัวคุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไปได้ค่ะ

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ ความเสี่ยงทางพันธุกรรมทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย  และสาเหตุของโรคซึมเศร้ามีดังนี้

1.โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด

แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ และมักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์

2.สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู

ก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นค่ะ

3.การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย

เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการ ดังนี้

-เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม

-รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง

-รู้สึกตนเองไร้ค่า

-รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา

-ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

-เคลื่อนไหวช้าลงหรือกระสับกระส่าย

-เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา

-ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง

-เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น

-นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ

-มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

-มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม

หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการเหล่านี้เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์คุณควรรีบไปปรึกษาแพทย์บางที่คุณอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้

การรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยา โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้น

ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม และวันนี้เรามีรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาทั้ง 2 แบบมาแนะนำพร้อมแล้วเราไปดูกันเลยค่ะ

การรักษาทางจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

1.การรักษาทางจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

การรักษาทางจิตใจมีวิธีรักษาอยู่หลายรูปแบบในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ ”พูดคุย” กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่ อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย

การรักษาโรคซึมเศร้าอีกรูปแบบ คือ การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม โดยการรักษารูปแบบแรกมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาระหว่าง

ผู้ป่วยกับคนรอบข้างที่อาจ เป็นสาเหตุและกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า ส่วนการรักษาแบบหลังจะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมในแง่ลบกับตนเอง

และการรักษาโรคซึมเศร้ารูปแบบสุดท้าย คือ การรักษาโดยอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ก็นำมารักษาโรคนี้ โดยช่วยผู้ป่วยค้นหาปัญหาข้อขัดแย้งภายในจิตใจผู้ป่วย ซึ่งอาจมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก

โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มักมีอาการกำเริบซ้ำ ๆ จะต้องการ การรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กันไป เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุดค่ะ

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยา

2.การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยา

ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ ดังนี้

1.กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง)

2.กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อ ๆ ว่า MAOI

3.กลุ่ม SSRI (serotonin-specific reuptake inhibitor)

ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน แพทย์อาจเริ่มจ่ายยากลุ่มใดแก่ผู้ป่วย ก่อนก็ได้เพื่อดูผลตอบสนอง เนื่องจากเราไม่อาจทราบก่อนได้เลยว่า ผู้ป่วยคนไหนจะ”ถูก”กับยาชนิดใด แล้วแพทย์จะค่อย ๆ ปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการต่อไป

และสิ่งสำคัญที่คุณควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาเพราะยาบางตัวที่คุณซื้อกินเองตามร้านขายยาอาจมีผลทำให้ยาที่คุณได้รับจากแพทย์โดยตรงลดประสิทธิภาพลงได้

การป้องกันโรคซึมเศร้า
CR. https://health.mil/News/Articles/2018/09/07/Stopping-bullying-takes-understanding-involvement

การป้องกันโรคซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่นอน เนื่องจากสาเหตุอาจเกิดจากโรคบางประการ เช่น ความผิดปกติในสมอง อาการเจ็บป่วย หรือการใช้ยาที่เกิดภาวะซึมเศร้าแทรกซ้อนได้  และวิธีป้องกันโรคซึมเศร้าที่เราสามารถทำได้เองมีดังนี้

-หางานอดิเรกทำ เช่น ทำอาหาร หรือต่อจิกซอว์ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกสนุกนัก แต่กิจกรรมยามว่างเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิและทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น

-ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่มีความสามารถ การตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ จะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยได้

-การออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้สารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ช่วยให้รู้สึกมีความสุขหลั่งออกมา ทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวมากขึ้นในระยะยาว และไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาแบบหนัก ๆ แค่เดินออกกำลังสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอแล้วค่ะ

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะรู้สึกเบื่ออาหาร แต่ผู้ป่วยก็ควรพยายามรับประทานอาหารที่สด สะอาด และรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและมีพลังงาน

-นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แม้การนอนจะเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ลืมความกังวลไปได้ชั่วขณะ และเมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายและสมองก็จะมีความพร้อมต่อการทำกิจกรรมในแต่ละวันได้มากขึ้นค่ะ

บทสรุป

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้มีอาการหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไปค่ะ