HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคหัดคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคหัด

โรคหัด คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย โรคหัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี และสามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่มักพบในเด็กอายุ 2-14 ปี และพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

โรคหัด
CR. https://patch.com/georgia/atlanta/measles-georgia-add-highest-rate-disease-eradication

แต่โรคหัดจะไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6-8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนโอกาสในการเกิดโรคในผู้หญิงและผู้ชายมีใกล้เคียงกัน โรคนี้สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย จึงอาจพบการระบาดตามชุมชน โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก

 

สาเหตุของโรคหัด

โรคหัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสหัด (Measles virus) โดยไวรัสจะแพร่กระจายจากคนสู่คนเท่านั้น และติดต่อจากการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่เข้าไปในร่างกาย

หรือการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด เชื้อไวรัสหัดเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้ค่อนข้างง่าย โดยคนไข้ที่เป็นโรคหัด 1 คนสามารถแพร่กระจายไปยังคนอื่น ๆ ได้ถึง 15 คน

ผู้ที่เสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคหัดนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมักเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด โดยเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินเออย่างเพียงพอ

จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้สูง นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนและได้รับเชื้ออาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้

ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากภูมิต้านทานถูกทำลายอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ รวมทั้งผู้ที่ขาดสารอาหารนั้น จะป่วยเป็นโรคหัดอย่างรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ

 

อาการของโรคหัด

อาการของโรคหัดแบ่งออกได้เป็นระยะภายในช่วงเวลาสองถึงสามสัปดาห์ นับตั้งแต่เด็กเริ่มติดเชื้อจนหายเป็นปกติ

-ระยะติดเชื้อและฟักตัวของโรค (Infection and incubation): เชื้อไวรัสหัดใช้เวลาฟักตัว 10 ถึง 14 วันหลังจากติดเชื้อ ในระยะนี้เด็กจะยังไม่แสดงอาการของโรคออกมา

-ระยะก่อนออกผื่น ยังไม่แสดงอาการของโรคอย่างเด่นชัด (Nonspecific signs and symptoms): โรคหัดมักเริ่มด้วยอาการที่คล้ายไข้หวัด เด็กจะมีไข้ มักตามมาด้วยการไอแห้ง ๆ น้ำมูกไหล ตาแดง ไม่สู้แสงและเจ็บคอ

มักพบจุดสีเทาขาว มีขอบสีแดงอยู่ภายในกระพุ้งแก้มบริเวณใกล้กับฟันกรามล่าง เรียกว่า ตุ่มค็อปลิค (Koplik’s spots ) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัด ระยะเวลาก่อนออกผื่นนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วัน

-ระยะเวลาออกผื่น (Acute illness and rash): ผื่นจะมีสีแดง ขนาดเล็กและแบนราบ อาจเกิดขึ้นติดกันหลายจุดจนกลายเป็นปื้นขนาดใหญ่ที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน มักไม่มีอาการคัน โดยผื่นจะเริ่มขึ้นที่บริเวณหลังหู บริเวณชิดขอบผม

และกระจายลงมาตามลำคอ แขน ลำตัว ขาและเท้าตามลำดับ ผื่นใช้เวลาลามจากใบหน้าถึงเท้าประมาณ 2 ถึง 3 วัน ในเวลาเดียวกันไข้จะขึ้นสูงถึง 40 – 41 องศาเซลเซียส

หลังจากนั้นผื่นจะค่อย ๆจางลงโดยเรียงตามลำดับจากหน้าไปสู่ขาและเท้า ผื่นจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาลแดงและค่อย ๆ ลอกออกเป็นแผ่นบาง ๆ จนหายไปในเวลา 7 ถึง 10 วัน

-ระยะติดต่อ (Communicable period): ผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่กระจายไวรัสหัดไปสู่คนอื่นเป็นเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 4 วันก่อนมีผื่นขึ้นและ 4 วันหลังจากมีผื่นขึ้น

อาการของโรคหัด
CR. https://www.npr.org/sections/health-shots/2019/04/30/718220586/is-measles-here-to-stay

อาการแทรกซ้อนของโรคหัด

อาการแทรกซ้อนของโรคหัดที่พบได้บ่อยคือ

-หูติดเชื้อ อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือหูติดเชื้อแบคทีเรีย

-หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบหรือโรคครูป

-ปอดอักเสบ หากพบในเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

-สมองอักเสบ เป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง มักพบภาวะสมองอักเสบหลังผื่นขึ้นประมาณ 2 ถึง 6 วัน ทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้

-ลำไส้อักเสบ ทำให้มีอาการท้องเสีย

 

การรักษาโรคหัด

แม้จะยังไม่มีตัวยาหรือวิธีทางการแพทย์ที่ได้รับการระบุว่าสามารถรักษาและกำจัดเชื้อไวรัสของโรคหัดได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลงได้ด้วยการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

อยู่ในที่แห้งอุณหภูมิพอเหมาะเพื่อลดอาการไอบ่อยและเจ็บคอ และอาจให้วิตามินเอเสริมให้กับร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดไข้ ที่ไม่ใช่ยาแอสไพรินอย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

และยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัดที่เริ่มมีผื่นขึ้นควรอยู่ในบ้าน ไม่ไปโรงเรียน ทำงาน หรือพบปะผู้คนตามที่สาธารณะเป็นเวลาอย่างน้อย  4 วันหลังจากผื่นเริ่มปรากฏเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้คนรอบข้างได้

และในปัจจุบันมีสมุนไพรที่สามารถรักษาโรคหัดได้ และมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

สมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคหัด มีดังนี้

1.กรดน้ำ

ช่วยลดอาการเป็นหัด โดยใช้ลำต้นสดนำมาต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำกินติดต่อกัน 3 วัน

2.ขมิ้นอ้อย

ใช้เป็นยาแก้หัดหลบใน ด้วยการใช้เหง้า 5 แว่น และต้นต่อไส้ 1 กำมือ นำมาต้มรวมกับน้ำปูนใสพอสมควร แล้วนำมาใช้ดื่มเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา

3.แพงพวยน้ำ

ใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ นำไปนึ่งก่อนรับประทานเป็นยาแก้ออกหัด

4.เสลดพังพอนตัวเมีย

ใช้ใบสดประมาณ 7 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 8 แก้ว ต้มให้เดือด 30 นาที เทยาออกและผึ่งให้เย็น แล้วนำใบสดมาอีก 7 กำมือ ตำผสมกับน้ำ 8 แก้ว แล้วเอาน้ำยาทั้งสองมาผสมกัน ใช้ทั้งกินและชโลมทา (ยาชโลมให้ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย) ส่วนเด็กที่เป็นหัด ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว

5.หญ้าคา

ใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม ต้มเอาแต่น้ำดื่มบ่อย ๆ ช่วยแก้ออกหัด

6.แอหนัง

ให้ใช้ใบสดนำมาต้มเอาแต่น้ำมาอาบใช้ชะล้างร่างกายช่วยแก้ออกหัด

ทั้งหมดนี้เป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคหัดได้แต่ก็ยังมีสมุนไพรอีกมากมายหลายชนิดที่สามารถรักษาโรคหัดได้ค่ะ

 

การป้องกันโรคหัด

โรคหัดป้องกันได้หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันคือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR)

ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) โดยทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ  9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี

ส่วนเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน การได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน

โดย 15 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ 6-12 วันหลังจากได้รับวัคซีน และเด็กอีก 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง

การป้องกันโรคหัด
CR. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322637.php

และในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัดเกิดขึ้นหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคหัด คุณควรปฏิบัติดังนี้

-ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง งานมหรสพ เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัส

-อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ

-ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยโดยตรง

-ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง

 

บทสรุป

โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่พบได้มากในเด็กเล็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอย่านิ่งนอนใจ และควรพาลูกน้อยไปเข้ารับการฉีดวัคซีนทันทีที่เมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการติดโรคหัดที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://medthai.com/โรคหัด/
2. https://www.samitivejhospitals.com/th/โรคหัด/
3. https://www.bumrungrad.com/th/conditions/measles
4. https://www.pobpad.com/โรคหัด