HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

กระ การดูแล รักษาและป้องกัน

Healthface

กระ

คุณเคยลองสังเกตผิวตัวเองกันบ้างไหม ว่ายังเนียนใสอยู่หรือเปล่า ยิ่งอายุที่มากขึ้นยิ่งต้องคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลา ว่ามีจุดสีน้ำตาลกลม ๆ ขึ้นมาอยู่ตามผิวหนังของเราหรือไม่ โดยเฉพาะใบหน้าถ้ามีนั่นหมายถึงว่า “กระ” มันได้มาเยือนคุณแล้ว สามารถเกิดได้กับทั้งชายและหญิงในทุกช่วงอายุ

กระ

 

กระ คือ

กระคือ จุดด่างดำ หรือสีน้ำตาลวงกลมเล็ก ๆ ที่เกิดบนใบหน้า หรือบนผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ลำคอ แขน ขา หรือตามร่างกายบริเวณที่โดนแสงแดด กระจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก มีสีอ่อนและสีเข้มปน ๆ กันไป บางครั้งอาจเรียบเนียนไปกับผิว แต่บางรายก็อาจจะนูนขึ้นมาเป็นติ่งเนื้อขึ้นมาได้

 

สาเหตุของการเกิดกระ

เกิดจากความผิดปกติของการสร้างเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) ที่มีปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปกติ จึงทำให้ผิวหนังส่วนนั้นมีสีผิวที่เข้มกว่าบริเวณอื่น ๆ และอีกหลายสาเหตุ เช่น

สาเหตุของการเกิดกระ

– อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุของเราเพิ่มมากขึ้น อาจทำการเกิดกระได้ โดยส่วนใหญ่จะพบผู้ที่มีอายุ 30- 50 ปีขึ้นไป

– แสงแดด ผู้ที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน แสงแดดถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวเราเป็นกระ ยิ่งในประเทศมีที่แดดรุนแรงอย่างประเทศไทยเรา ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่เราจะเป็นกระได้

– พันธุกรรม ผู้ที่คนในครอบครัวเป็นกระ  มักมีโอกาสที่จะเป็นกระสูง โดยเกิดมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวขาวมีโอกาสสูงกว่าผู้ที่มีผิวคล้ำ

 

กระมี 4 ประเภทด้วยกัน คือ

กระมี 4 ประเภทด้วยกัน คือ

1.กระตื้น (Freckle) จะเป็นกระทั่วไป มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ หรือสีแทนออกแดง ผิวเรียบ กระจายอยู่บริเวณใบหน้าและลำคอ โดยมักจะปรากฏขึ้นช่วงฤดูร้อน  กระชนิดนี้หากผิวโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ กระจะมีสีเข้มขึ้น และหากหลีกเลี่ยงไม่โดนแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ กระก็จะมีสีจางลงได้เอง ส่วนใหญ่จะพบบ่อยในคนผิวขาว

2.กระลึก  (Nevus of Hori)  มีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเทา ๆ เป็นกลุ่มรวมกันจำนวนมาก ซึ่งจะอยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง มักพบบริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง และขมับ

3.กระแดด (Solar Lentigo) จะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล ผิวเรียบ กระจายอยู่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณนอกร่มผ้าอื่น ๆ ซึ่งแสงแดดเป็นสาเหตุหลักของกระชนิดนี้

4.กระเนื้อ (Seborrheic Keratosis) มีลักษณะเป็นรอยนูนแข็งสีน้ำตาลขึ้นมาเป็นตุ่มบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือลำตัว มักมีสีน้ำตาลหรือสีดำก็ได้ ซึ่งกระชนิดนี้ มีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม พบในคนอายุ  30-40 ปีขึ้นไป และในผู้สูงอายุ

 

การดูแลรักษากระ

วิธีการดูแลรักษากระนั้น ปัจจุบันมีการรักษากระเพื่อลบเลือนหรือกำจัดกระมีหลากหลายตัวเลือกให้เลือกใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ครีมหรือยาทา การกำจัดด้วยเลเซอร์ชนิดต่าง ๆ ตามประเภทของกระที่เป็น โดยสามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมได้

1. ใช้ครีมกำจัดกระ

วิธีนี้กระสามารถทำให้จางลงได้ด้วยการใช้ครีมที่ประกอบด้วยตัวยาไฮโดรควินิน (Hydroquinone) และกรดโคจิก ( Kojic Acid ) ส่วนใหญ่จะใช้รักษากระตื้น กระแดด  การรักษาด้วยไฮโดรควินิน (Hydroquinone) ตัวยาชนิดนี้สามารถเข้าไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ดี ทำให้กระของคุณจางลง

แต่อาจมีผลข้างเคียง หากเจอแสงแดดอาจทำให้บริเวณที่เป็นคล้ำลง และอาจเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังอีกด้วย   ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ทาง อย. สั่งห้ามไม่ให้ครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควินินวางขายได้ทั่วไป แต่แพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายได้ โดยสามารถนำสารชนิดนี้มาผสมในครีมได้ไม่เกิน 2% เท่านั้น

2. การรักษาด้วยเลเซอร์

การใช้เลเซอร์รักษากระ เป็นวิธีที่ง่าย ปลอดภัย ผลตอบสนองค่อนข้างดีแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดและจำนวนครั้ง การรักษาแบบนี้จะเป็นการยิงคลื่นแสงลงไปถึงชั้นผิวด้านใน เพื่อให้ผิวเกิดการซ่อมแซมตัวเอง พร้อมกับผลัดเซลล์ผิวได้ไวยิ่งขึ้น การรักษาด้วยเลเซอร์สามารถทำบ่อยแค่ไหนขึ้นกับชนิดของกระที่เป็น เช่น ถ้าเป็นกระลึกที่รักษาค่อนข้างยาก เม็ดสีอยู่ลึก

ต้องทำการยิงเลเซอร์หลายครั้ง ปกติแล้วประมาณ 3 ครั้ง หรือบางคนเป็นมากอาจจะ 4-5 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของกระที่เป็นด้วย และทิ้งช่วงแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังการรักษากระด้วยเลเซอร์ บริเวณที่ทำการรักษาจะเป็นแผลตกสะเก็ดประมาณ 7 วันสะเก็ดแผลก็จะลอกหลุดไม่ต้องไปแกะ สำหรับการยิงเลเซอร์รักษากระลึก

หลังสะเก็ดหลุดอาจจะเห็นเป็นดวงสีขาว หลังจากนั้นสีจะจางไปทีละน้อย และระวังห้ามโดนแดดโดยเด็ดขาดในช่วง 1-2 เดือนหลังยิงเลเซอร์ เพื่อให้การรักษาได้ผลดีอย่างที่ต้องการ

และสำหรับกระตื้น  เลเซอร์รักษาได้ผลดี คือเลเซอร์ชนิดแสงทับทิม  (Ruby  laser) Nd  :  Yag  laser  Alexandrite  laser สามารถยิงเพียงครั้งเดียวก็เห็นผลแล้ว ส่วนกระลึกก็ใช้เลเซอร์ชนิดเดียวกันกับกระตื้น แต่อาจต้องทำซ้ำ  2-3  ครั้งจึงจะหายขาด

การดูแลรักษากระ

3. รักษาด้วยเครื่อง IPL (Intense Pulsed Light) การใช้แสงผสม

เป็นเครื่องที่ให้กำเนิดพลังงานแสงไปยังบริเวณผิวหนังที่รอยกระ ในส่วนที่มีเม็ดสีเมลานินปริมาณมาก ส่งผลทำให้เม็ดสีเมลานิน ถูกทำลายและลดจำนวนลง มีผลทำให้กระดูจางลง

4. รักษากระด้วยเมโสหน้าใส

หลักการคือการใช้เข็มเป็นตัวผลักสารที่เป็นประโยชน์จำพวกวิตามินซี เข้าไปในชั้นผิวของเราที่เรียกว่า “ผิวชั้นเมโส” โดยจะฉีดลึกลงไปประมาณ 1-2 มม. โดยเข็มจะไปกระตุ้นการทำงานของชั้นผิวและฟื้นฟูผิวของเราในชั้นเมโส ทำให้ผิวหน้าของเราขาวใส ลดริ้วรอยและ กระ จุดด่างดำได้

5. ลดกระด้วย AHA (กรดผลไม้)

AHA สามารถช่วยกำจัดเซลล์ผิวเก่าและเผยผิวใหม่ได้ นอกจากนี้ เม็ดสีเมลานินก็จะถูกกำจัดออกไปด้วยเช่นกัน วิธีนี้อาจจะได้ผลช้า แต่ก็ปลอดภัย

6. ทำทรีตเมนต์กำจัดกระ

นอกจากการทาครีมและทำเลเซอร์แล้ว การทำทรีตเมนต์เหล่านี้ควบคู่ไป ก็จะช่วยทำให้รอยกระของเราลดลงได้เร็ว ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ทรีตเมนต์ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวและทรีตเมนต์ซ่อมแซมผิว ดังนั้นควรหมั่นทำทรีตเมนต์หรือพอกหน้าด้วยสมุนไพรและผลไม้ที่มีกรด AHA เป็นประจำ อาจจะใช้เวลานานหน่อยแต่ก็ให้ผลและปลอดภัย

 

การป้องกันการเกิดกระ

1.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นบ่อเกิดของกระได้ง่าย เช่นแสงแดด ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่ควรโดนแสงแดดแรง ๆ โดยตรง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรทาครีมกันแดดที่สามารถช่วยป้องกันรังสี UVA และ UVB และมีค่า SPF30 PA+++ ขึ้น และหากต้องเผชิญกับแสงแดดนาน ๆ ควรเลือกครีมที่มี SPF 50 เป็นอย่างต่ำ และควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง

2.ก่อนออกแดด ไม่ว่าคุณจะทาครีมกันแดดแล้วก็ตามควรสวมหมวกปีกกว้าง

สวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือไม่ก็พกร่ม

3.พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด ช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น ที่มีแดดแรง

4.เลือกใช้ครีมบำรุงผิว ที่มีส่วนผสมที่ช่วยยับยั้งการเกิดเม็ดสีเมลานินได้ เช่นครีมพวกไวท์เทนนิ่ง หรือป้องกันการเกิดกระ และแม้จะไม่ได้ออกจากบ้านก็ต้องทาครีมกันแดด อาจจะทาแบบ SPF ไม่สูงมากก็ได้ เพราะแสงไฟจากหน้าจอคอม โทรศัพท์ หลอดไฟ ก็สามารถทำให้เกิดฝ้ากระได้เช่นกัน

5.ยาคุมกำเนิด ก็มีผลต่อการเกิดกระได้เช่นกัน ดังนั้นหากคุณต้องการคุมกำเนิดด้วยการทานยาคุมกำเนิด คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม ว่าคุมกำเนิดชนิดไหนหรือยี่ห้อไหนที่สามารถทานแล้วไม่ก่อให้เกิด กระหรือฝ้าได้ หรืออาจจะใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่น

6.อาหารการกินก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ควรเลือกรับประทานอาหารในกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระบ้าง ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ ส้ม มะละกอ ผักกาดเขียว ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันการเกิดฝ้าและกระได้

7. ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพราะน้ำจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่อยู่ในร่างกาย และขับสารเคมีต่าง ๆ ออกไป ให้ผิวดีจากภายในสู่ภายนอกได้

8. ขับถ่ายให้เป็น เพราะจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกตกค้างออกจากร่างกายได้

 

สรุป

นอกจากกระที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมแล้ว ที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การรักษากระที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก โดยพยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่ให้ร่างกายโดนแดดโดยตรง ใช้ครีมทาบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ ทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกแดด เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวี ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระ