HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคกรดไหลย้อนคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคกรดไหลย้อนคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนคือ ภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคกรดไหลย้อน
CR. https://www.indiansinkuwait.com/news/Gastroesophageal-Reflux-Disease-Gerd-

หากปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดการเรื้อรังและรักษาไม่ถูกวิธี อาจนำไปสู่โรคที่เกิดความเสียหายต่อหลอดอาหารได้ เช่น หลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดความเสี่ยงต่าง ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ

สาเหตุของกรดไหลย้อน

-เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ที่มีหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร มีความดันของหูรูดที่ต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าคนปกติ จึงเป็นสาเหตุให้กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการระคายเคืองของผนังหลอดอาหาร

ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยารักษาโรคบางประเภท เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว

-ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ

-ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง

 

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

1. โรคอ้วน คนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงกว่าคนปกติทั่วไปส่งผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติ

2. การตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่ออาการกรดไหลย้อนได้สูง

3. การสูบบุหรี่ เป็นผลให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากขึ้นและทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย

4. ความเครียด ส่งผลให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน

5. การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้หูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัว เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปปเปอร์มินต์

6. การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหูรูด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีความเป็นกรดสูง น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ พริกไทย

อาการของโรคกรดไหลย้อน

-อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย

-มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก

-ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร

-เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อย ๆ

-หืดหอบ ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ

-ในเด็กเล็ก อาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

การรักษาโรคกรดไหลย้อน

การรักษากรดไหลย้อนสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

การรักษาโรคกรดไหลย้อน
CR. https://www.pinterest.com/pin/404057397819526843/

-การทานยาลดกรด

เพื่อช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะ เพื่อช่วยรักษาและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยามากินเองหรือปรึกษาเภสัชกรก่อน สามารถแบ่งประเภทยาลดกรดได้ ดังนี้

1. ยาลดกรดที่มีองค์ประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) ยานี้จะลดความเป็นกรดอย่างรวดเร็ว อาการแสบร้อนกลางอกจะดีขึ้น มีผลต่อระบบขับถ่ายได้

2. ยาที่ป้องกันการผลิตกรดและรักษาหลอดอาหาร เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดได้ยาวนานทำให้เนื้อเยื่อที่เสียหายของหลอดอาหารมีเวลาฟื้นฟูกลับมาปกติได้เหมือนเดิม เช่น แลนโซพราโซล (lansoprazole) และโอมีพราโซล (omeprazole)

-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่าง ๆ ของกรดไหลย้อน และช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยการแก้ไขที่ตรงจุดที่สุดคือ การแก้ที่ต้นเหตุหลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม กระเทียม หัวหอม เป็นต้น

2. ผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชอบ ก็จะช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะได้เป็นอย่างดี

3. ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะในคนอ้วน หรือคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หมั่นออกกำลังกายและควบคุมอาหารที่รับประทาน เมื่อน้ำหนักลด ความดันในกระเพาะอาหารก็จะลดลง ทำให้กรดและอาหารในกระเพาะดันหูรูดหลอดอาหารน้อยลง อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามด้วย นอกจากนั้นยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

4. หลีกเลี่ยงการนอนราบ หรือการก้มหยิบของทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรรอให้อาหารย่อยก่อน 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันทีเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

5. ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป

-ผ่าตัด

เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้ว ไม่สามารถควบคุมอาการ หรือหยุดยาได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้เป็นเวลานาน ๆ และได้รับผลข้างเคียงจากยา

-บรรเทาอาการกรดไหลย้อนด้วยสมุนไพร

1. ขมิ้นชัน จากงานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกในกระเพาะ ช่วยสมานแผล ต้านแบคทีเรีย และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะได้ ดังนั้นขมิ้นชันจึงสามารถช่วยลดอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนได้ แต่มีข้อห้ามและข้อควรระวังที่ต้องศึกษาก่อนรับประทาน ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้

2. ขิง มีฤทธิ์ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ทำให้อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนลดลงได้ มีหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน เช่น ยาชง ยาผง ยาแคปซูล เป็นต้น

3. กะเพรา มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ โดยให้นำกะเพรา 1 กำ มาต้มกับน้ำประมาณ 2-3 ลิตร ด้วยไฟปานกลาง 20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ml) หลังอาหาร 3 มื้อ และควรดื่มหลังรับประทานอาหารแล้ว 10-15 นาที

การป้องกันโรคกรดไหลย้อน
CR. https://blog.pregistry.com/gastroesophageal-reflux-pregnancy/

การป้องกันโรคกรดไหลย้อน

ภาวะกรดไหลย้อนสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักจะพบในกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อการเกิดกรดไหลย้อน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจลดโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้ เช่น

-ควรกินอาหารในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ หรือแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้งมากขึ้นแทน การกินอาหารจนอิ่มเกินไป ไม่ควรกินอาหารรสจัดทุกมื้อ กินอาหารให้ตรงเวลา

-ไม่ควรเข้านอน ออกกำลังกาย หรือยกของหนักหลังกินอิ่มทันที

-ควรเว้นช่วงให้กระเพาะอาหารได้ย่อยอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนล้มตัวลงนอน

-สวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีกับรูปร่าง ไม่รัดแน่นจนเกินไป

-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น รวมไปถึงจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้หูรูดหลอดอาหารปิดไม่สนิท

-อย่าปล่อยให้เกิดอาการเครียด ซึ่งอาจไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มากขึ้น

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับกรดไหลย้อน ถือว่ากรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยหากมีวิธีการดำเนินชีวิตที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

หวังว่ารายละเอียดต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาข้อมูลหรือผู้ป่วยด้วยกรดไหลย้อน เพื่อนำรายละเอียดต่าง ๆ ไปดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เพื่อจะได้ห่างไกลจากกรดไหลย้อนได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://www.pobpad.com/กรดไหลย้อน
2. https://www.honestdocs.co/gerd
3. https://www.bumrungrad.com/th/conditions/gerd-gastroesophageal-reflux-disease