HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคริดสีดวงคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคริดสีดวงคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคริดสีดวง

โรคริดสีดวง  คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก มีอาการบวม โป่งพอง และมีหลอดเลือดดำบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือคัน รวมไปถึงนั่งถ่ายลำบากมากขึ้น

โรคริดสีดวง

ประเภทของโรค ริดสีดวง

-ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายใน

หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไปตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน

ประเภทของโรคริดสีดวง
cr.healthline.com

-ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายนอก

หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนังจึงอาจเกิดความเจ็บปวดได้เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก

 

 

สาเหตุของริดสีดวง

โรคริดสีดวงทวารยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเกิด แต่มีความเกี่ยวข้องกับแรงดันที่เพิ่มมากขึ้นของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เส้นเลือดเกิดการบวมหรือนูนจากแรงดันที่มีเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งมีความเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง การนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการท้องผูก การตั้งครรภ์ โรคอ้วน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือแม้แต่เนื้อเยื่อที่รองรับเส้นเลือดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนักเกิดการเสื่อมหรือขยายตัว หรืออาจเกิดจากปัจจัยดังนี้

 

-ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา

-อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนนาน ๆ จะมีผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียวแต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูงจึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนักส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรค

-เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับแข็ง หรือโรคตับอักเสบไวรัสบีซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้องเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก

การวินิจฉัยริดสีดวง

แพทย์สามารถวินิจฉัยริดสีดวงทวารได้จากการดูประวัติอาการ การตรวจร่างกาย โดยการตรวจก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก และจากการส่องกล้องตรวจทางทวารหนักและลำไส้โดยตรง แต่ในบางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาด้วย เมื่อต้องแยกจากโรคมะเร็ง

อาการของริดสีดวง

อาการของโรคริดสีดวง
cr. https://www.verywellhealth.com/

 

-อาการของริดสีดวงภายนอก คือ

มีติ่งเนื้อสีชมพูคล้ำออกมาจากปากทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม เจ็บ และระคายเคือง หากมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดที่โป่งพองจะก่อให้เกิดอาการปวด บวม เจ็บมาก

ซึ่งปกติแล้วจะหายเจ็บได้ภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม กว่าจะหายบวมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายดีแล้วอาจจะยังมีผิวหนังเป็นติ่งเหลืออยู่ และหากหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือคันบริเวณรอบปากทวารหนักได้ด้วย

-อาการของริดสีดวงภายใน คือ

ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ เลือดที่ออกมานั้นจะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดงสด ออกปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลหยดลงในโถส้วม และอาจสังเกตว่ามีเลือดเปื้อนบนกระดาษชำระ (เลือดจะออกมาในลักษณะอาบก้อนอุจจาระ

ส่วนตัวก้อนอุจจาระยังเป็นสีของมันตามปกติ ไม่มีมูกปน และเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง) ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ถ้ามีเลือดออกมากหรือเป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการซีดตามมาได้ ในรายที่เป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ปลิ้นโผล่ออกมา

ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บที่ทวารหนักได้ และอาจจะทำให้เกิดอาการคันและอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

 

ผลข้างเคียงของโรคริดสีดวง

-ภาวะซีด เมื่อมีเลือดออกจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง หรือบางครั้งที่มีเลือดออกมากและไม่สามารถหยุดได้เอง อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เป็นการด่วน

-เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดจะทำหน้าที่ช่วยการปิดตัวของหูรูดปากทวารหนักในช่วงที่ยังไม่ถ่ายอุจจาระ แต่เมื่อเกิดหลอดเลือดโป่งพอง หูรูดปากทวารหนักจะปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ตามมา

-การติดเชื้อ อาจทำให้เกิดเป็นฝีหรือหนองในบริเวณก้นได้

เมื่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดปลิ้นออกมานอกทวารหนักในระยะที่ 4 จะเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดขาดเลือดและเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ซึ่งในกรณีนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรรีบไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน

 

การรักษาโรค ริดสีดวง

ในปัจจุบันการรักษาริดสีดวงทวารสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ประกอบกับชนิดของโรคและระดับความรุนแรง

– กรณีที่ไม่รุนแรง

ในกรณีนี้ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ แพทย์จะแนะนำวิธีในการดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยา โดยเน้นให้มีการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดูแลบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารให้แห้งและสะอาด

รวมถึงมีการแช่น้ำอุ่นบริเวณก้นเป็นประจำ ควบคู่กับการทายาและการรับประทานยาในกลุ่มแก้ปวด เพื่อช่วยให้บรรเทาอาการปวด คัน หรือเจ็บบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารน้อยลง

– กรณีขั้นรุนแรง

หากเป็นขั้นรุนแรงหรืออาการของโรคส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะมีการรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม คือ การฉีดยา เพื่อให้หลอดเลือดเกิดการตีบและหดตัวกลับเข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดเล็กน้อยขณะฉีดยา การใช้ยางรัด เพื่อตัดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ทำให้เกิดการฝ่อและแห้งของริดสีดวงทวารภายใน 1 สัปดาห์

การจี้ริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ อินฟราเรด หรือเครื่องจี้ไฟฟ้า เป็นการใช้ความร้อนหรือเลเซอร์จี้ไปที่หัวริดสีดวงทวาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการรักษา และการผ่าตัด เป็นวิธีใช้การรักษาริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะรุนแรง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

-การผ่าตัดเอาริดสีดวงออก เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ให้ผลการรักษาได้ดีและมีโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำน้อย โดยแพทย์จะผ่าส่วนที่เป็นริดสีดวงทวารออก

-การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเย็บติด เป็นการผ่าตัดสำหรับการรักษาริดสีดวงทวารชนิดภายใน ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารจนให้เกิดการฝ่อและหลุดไป โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือคล้ายเครื่องยิงลวดในการตัด เย็บ และผูกหัวริดสีดวง

 

การป้องกันโรคริดสีดวง

การป้องกันโรคริดสีดวง
CR. vilabin.com

 

ทางที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเกิดริดสีดวงทวาร คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของริดสีดวงทวาร

-เริ่มต้นด้วยการดูแลเรื่องระบบขับถ่ายให้เป็นนิสัย ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา

-ไม่กลั้นอุจจาระ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายที่ผิดปกติและถ่ายได้ยากมากขึ้น

-ระวังอย่าให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเดิน หรือท้องเสียบ่อย ๆ

-ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชประเภทต่าง ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ถ้ามีการปรับวิธีในการรับประทานอาหารที่ยังไม่ได้ผลดีเพียงพอ

-อาจมีการรับประทานอาหารเสริมประเภทไฟเบอร์หรือสารที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น

-ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย

-ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

-ออกกำลังกายให้เพียงพอ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

 

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับริดสีดวง หวังว่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากในการศึกษาหารายละเอียดต่างเพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากริดสีดวง หรือสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาริดสีดวงอยู่ ควรปฏิบัติตามแนะนำของแพทย์และดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อจะได้หายจากริดสีดวงอย่างปกติ

ขอบคุณข้อมูลจาก
1. https://www.pobpad.com/ริดสีดวง
2. https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/hemorrhoids
3. https://medthai.com/ริดสีดวงทวาร/
4. https://medthai.com