HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคอีสุกอีใสคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคอีสุกอีใสคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส คือโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ โดยทั่วไปจะพบอัตราการป่วยได้สูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี 10-14 ปี 15-24 ปี และ 25-34 ปี

โรคอีสุกอีใส
cr. https://www.businessinsider.my/what-is-gangrene-chicken-pox-2019-4/

ส่วนในคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปอาจพบได้บ้าง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เช่นโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนทั่วไป

สาเหตุของโรคอีสุกอีใส

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus – VZV) หรือ Human herpesvirus type 3 (HHV-3) โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสในผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นหรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อที่หลบซ่อนอยู่ก็จะเจริญเติบโตขึ้นใหม่ก่อให้เกิดโรคงูสวัด

การติดต่อของโรคอีสุกอีใส

เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอยู่ในตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด ในน้ำลายและเสมหะของผู้ที่เป็นอีสุกอีใส สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ที่นอน ผ้าห่ม เป็นต้น หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนไปด้วยเชื้อตุ่มน้ำ น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย

แล้วเชื้อก็ปนเปื้อนเข้าทางเดินหายใจแบบเดียวกับไข้หวัด หรืออีกทางหนึ่งโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจแล้วเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย ระยะฟักตัวของโรคอีสุกอีใส  ประมาณ 10-21 วัน แต่โดยเฉลี่ยคือประมาณ 14-17 วัน

อาการของโรคอีสุกอีใส
CR. https://www.medicalnewstoday.com/articles/239450.php

อาการของโรคอีสุกอีใส

ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ปวดศีรษะ เจ็บคอ อยากอาหารลดลงหรือไม่อยากอาหารในช่วง 1-2 วันแรกของการติดเชื้อ จากนั้นจะเกิดผื่นเป็นจุดแดง ๆ ตามร่างกาย ทั้งใบหน้า หน้าอก หลัง ปาก เปลือกตา อวัยวะเพศ ผื่นแดงเหล่านี้จะเริ่มกลายเป็นตุ่มพองขนาดเล็ก มีน้ำใส ๆ ภายในตุ่มในอีก 2-4 วัน

ก่อนจะเกิดการตกสะเก็ดในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการคันบริเวณที่เกิดผื่นหรือตุ่มพองอยู่บ่อยครั้ง อาการที่พบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงในเด็กเล็ก แต่ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจเกิดการพัฒนาโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน แต่มักพบได้น้อยมากและมีอาการเพียงเล็กน้อย

หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สตรีตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ เช่น มีไข้ขึ้นสูงหรือเป็นติดต่อนานกว่า 4 วัน ไออย่างรุนแรง ปวดท้องรุนแรง มีผื่นแดงเป็นจ้ำ ๆ และเลือดออก

 

การรักษาโรคอีสุกอีใส

1. แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย เช่น ถ้ามีอาการคันมากก็ให้กินยาแก้แพ้อย่างคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

คาลาไมน์โลชั่น
CR. https://www.wikihow.com/Treat-Chicken-Pox

หรือให้ทายาแก้ผดผื่นคันอย่างคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ถ้ามีไข้สูงก็ให้กินยาพาราเซตามอล สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ได้

2. ถ้าตุ่มเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เป็นแผงพุพอง ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือเจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) แต่ถ้าเป็นมากแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)

3. ให้ยาต้านไวรัส แพทย์จะพิจารณาให้ยานี้เฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือโรคผิวหนัง ได้แก่ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินหรือสเตียรอยด์อยู่เป็นประจำ (ส่วนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้)

โดยผู้ใหญ่จะให้กินยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ในขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง นาน 5 วัน ส่วนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง ในขนาดสูงสุด 800 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง โดยแพทย์จะรีบให้ยานี้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีผื่นขึ้น เพราะจะช่วยลดความรุนแรงและระยะของโรคลงได้

ส่วนในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ฉีดเข้าทางหลอดเลือด โดยในผู้ใหญ่จะให้ในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ส่วนในเด็กจะให้ในขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7-10 วัน

 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นอีสุกอีใส

การดูแลตนเองเมื่อเป็นอีสุกอีใส ในเบื้องต้นผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

การดูแลตนเองเมื่อเป็นอีสุกอีใส
CR. https://www.sheknows.com/parenting/articles/847473/5-ways-to-soothe-chicken-pox-in-children/

-ผู้ป่วยควรแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากจนพ้นระยะติดต่อ รวมทั้งแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค (ระยะติดต่อคือตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น ไปจนถึงระยะที่ตุ่มทั้งหมดตกสะเก็ดแล้ว หรือประมาณ 6 วันหลังจากตุ่มน้ำ)

-พักผ่อนให้มาก ๆ

-อาบน้ำให้สะอาด อยู่ในที่ที่อากาศเย็นสบายและถ่ายเท

-ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดการดื่มน้ำ

-ควรรับประทานอาหารเหลวที่มีโปรตีนให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว อาหารหมักดอง และอาหารที่เคี้ยวยาก

-ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นแผลเป็นได้

-ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง

-ถ้าตุ่มทำให้เกิดอาการคันให้ใช้น้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบ หรืออาบน้ำเย็นบ่อย

-ถ้าเจ็บปากหรือปากเปื่อยลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือเย็น ๆ กลั้วปากและคอ

-ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทั้งยากินและยาทา เช่น ยาชุด ยาหม้อ เพราะอาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่เกิดลุกลามได้

-สำหรับยาเขียวที่ทำจากสมุนไพร ไม่ถือเป็นข้อห้ามหรือทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยสามารถใช้ร่วมกับการรักษาปกติได้ แถมยาเขียวยังช่วยให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นอีกด้วย

-รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค

-ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วันหลังกินยาลดไข้ มีตุ่มพองเป็นหนอง มีอาการไอมาก ไอมีเสมหะ ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

-ถ้าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น มีเลือดออก เจ็บหน้าอกมาก หายใจติดขัด หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ปวดศีรษะ ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว อาจร่วมกับแขนขาอ่อนแรง หรือชัก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

การป้องกันโรคอีสุกอีใส

การป้องกันที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือ การฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุประมาณ 1 ปี (12-15 เดือน) และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อนจะต้องมีการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นเดียวกัน

โดยให้ฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 28 วัน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคและลดความรุนแรงของโรคลงได้มากถึงประมาณ 90 % แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หญิงตั้งครรภ์

ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน หรือผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษา เช่น ฉายรังสี หรือเคมีอาจมีความเสี่ยง จึงควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว วิธีที่ป้องกันการเกิดอีสุกอีใส หรือผู้ป่วยอีสุกอีใสควรมีวิธีการปฏิบัติตัวดังนี้

-ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลังจากออกไปพบปะผู้คนภายนอก

-ผู้ที่เป็นอีสุกอีใสควรถูกกักแยกตัวออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

-ไม่เกาบริเวณผื่น เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลที่เกาได้

-พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้เร็วขึ้น และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น

-บำรุงร่างกายด้วยครีมบำรุงผิว เพราะการทำให้ผิวชุ่มชื่นจะช่วยลดอาการคันได้

-ใช้ใบสะเดาใส่ลงในน้ำอุ่นแล้วอาบ เพื่อช่วยลดความคัน และช่วยลดการติดเชื้อได้

-ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคในอนาคต

 

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับอีสุกอีใส สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ หากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน หวังว่ารายละเอียดอีสุกอีใส คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นอีสุกอีใสหรือผู้ที่ต้องการศึกษาหารายละเอียดเกี่ยวกับอีสุกอีใส เพื่อการดูแลตนเองและการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากอีสุกอีใสได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.pobpad.com/อีสุกอีใส
2. https://medthai.com/อีสุกอีใส/
3. https://www.pobpad.com/อีสุกอีใส