HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรควิตกกังวลคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล 

โรควิตกกังวล คือ โรคทางจิตใจที่มีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลจะพบว่ามีความวิตกกังวลและอาการอื่น ๆ ต่อเนื่องและอาการไม่หายไป หรืออาจมีอาการที่แย่ลงได้ในที่สุด

โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียนหนังสือ และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถจัดการกับอาการนี้ได้และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

ประเภทของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลแบ่งออกได้ 6 ประเภท คือ

1.โรคคิดมาก [Generalized Anxiety Disorder : GAD] มีความกังวลในเรื่องทั่ว ๆไปแทบทุกเรื่อง ที่ไม่ได้จำเพาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งแม้พยายามห้ามไม่ให้คิดก็ไม่สามารถห้ามได้ ร่วมกับมีอาการกระวนกระวาย อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด ปวดตึงกล้ามเนื้อ หรือนอนไม่หลับ นานอย่างน้อย 6 เดือน

ประเภทของโรควิตกกังวล
CR. https://www.verywellmind.com/dsm-5-criteria-for-generalized-anxiety-disorder-1393147

2.โรคแพนิค คือ การที่อยู่ดี ๆ เกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาเป็นพัก ๆโดยไม่มีสาเหตุหรือมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้หรือท้องปั่นป่วน หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ มือเท้าชา กลัวว่าตัวเองจะตาย อาการของแพนิคไม่ใช่เป็นโรคร้ายแรงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบายมาก ดังนั้นผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองกำลังหัวใจวายหรือเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต

3.โรคกลัว [Phobia] มีความกลัวอย่างมากเกินเหตุและจำเพาะต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยรู้ดีว่าไม่ควรกลัวถึงขนาดนั้น แต่ก็ยังต้านทานไม่ได้ เช่น กลัวที่แคบ ความสูง สัตว์

4.โรคย้ำคิดย้ำทำ คือ ความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำ ๆ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น คิดว่าลืมล็อกประตูก็จะคอยตรวจซ้ำ ๆ ว่าล็อกประตูหรือยัง

5.โรคกลัวการเข้าสังคม [Social Anxiety Disorder : SAD]มีความกลัวอย่างมากในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสังคม เช่น การพูดในที่สาธารณะ การทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ โดยเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม จะเริ่มมีอาการวิตก/เครียด/กลัวว่าจะพูดผิด กลัวจะทำให้อับอาย จึงมักพยายามหลีกหนีจากสังคมเสมอ

6.โรคเครียดหลังเผชิญเหตุร้าย [Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD] หวนระลึกถึงเหตุร้ายซ้ำ ๆ ร่วมกับมีจิตตื่นตระหนก และคอยหลีกเลี่ยงจากสิ่งเกี่ยวข้อง เกิดขึ้นหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุร้ายแรง โดนปล้น/ข่มขืน ฯลฯ

 

สาเหตุของโรควิตกกังวล

สาเหตุของโรควิตกกังวลเกิดขึ้นได้จากปัจจัย ดังนี้

1.ปัจจัยทางพันธุกรรม

ซึ่งเป็นเรื่องของการถ่ายทอดพื้นฐานทางอารมณ์ โดยหากพ่อแม่มีพื้นฐานอารมณ์ทางลบ เครียดง่าย มีความเก็บกดทางอารมณ์ความรู้สึก ลูกก็มักจะได้รับพื้นฐานทางอารมณ์ที่คล้ายกัน ทำให้กลายเป็นเด็กที่เก็บกด เครียดง่าย ไม่เปิดเผย ไม่กล้าแสดงออก และมีภาวะวิตกกังวลได้ง่าย

2.ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

มีความเกี่ยวข้องกับวิธีการเลี้ยงดู โดยหากพ่อแม่ที่มักดุด่า ตำหนิลูก ไม่ให้กำลังใจ ไม่มีการชมเชยเมื่อเด็กทำดี หรือเลี้ยงดูด้วยการบังคับให้เดินตามกรอบของพ่อแม่ ก็อาจส่งผลให้เด็กรู้สึกเก็บกด และเกิดภาวะวิตกกังวลได้ง่าย

3.ปัจจัยอื่น ๆ เช่น

-ความขี้อายหรือไม่กล้าแสดงอารมณ์ในเด็ก

-มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี

-เป็นหม้ายหรือเคยหย่าร้าง

-ต้องพบกับเหตุการณ์ในชีวิตที่มีความตึงเครียด ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่

-มีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคทางจิตใจ

-มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลายเพิ่มในช่วงบ่ายซึ่งมาจากความเครียด โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)

-โรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

 

อาการของโรควิตกกังวล

อาการของโรควิตกกังวลสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.อาการทางกาย

อาการทางกาย เกิดจากการตอบสนองทางระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป เช่น เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจเร็ว หายใจไม่ทั่วท้อง ปวดท้อง และท้องไส้ปั่นป่วน โดยมักจะมีอาการเฉพาะเวลาที่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล

2.อาการทางความคิด

อาการทางด้านความคิด มักคิดเรื่องเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ หรือมีความกังวลล่วงหน้าถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งที่รู้ตัวดีว่าเป็นความคิดที่ไร้เหตุผล แต่ก็ไม่สามารถกำจัดความคิดเหล่านั้นออกไปได้

อาการทั้งทางกายและทางความคิดที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเกิดอาการทางความคิดก็จะมีอาการทางร่างกายตามมา และเมื่อมีอาการทางกายผู้ป่วยก็จะมีอาการทางความคิดความกังวลเพิ่มขึ้น จนทำให้ไม่สามารถควบคุมให้อาการสงบ หรือไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้

 

การวินิจฉัยโรควิตกกังวล

การวินิจฉัยโรควิตกกังวล แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติความเจ็บป่วย ตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายโรควิตกกังวล รวมถึงพูดคุยหรือใช้เครื่องมือในการประเมินโรคทางจิตเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวล ไม่ได้เป็นโรคทางจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน

 

การรักษาโรควิตกกังวล

การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง แสดงความเห็นใจและให้คำอธิบาย การทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy หรือ CBT) และการรักษาด้วยยาซึ่งมียาหลายกลุ่มที่สามารถกินเพื่อลดอาการวิตกกังวลและตัวยาที่ใช้ในการรักษา มีดังนี้

การรักษาโรควิตกกังวล
CR. https://www.verywellmind.com/generalized-anxiety-disorder-treatment-4171993

-ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ที่นิยมใช้คือยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) และ ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า และมักเห็นผลหลังจากใช้ยาไปแล้วเป็นเวลา 2 สัปดาห์

-ยาคลายกังวล (Anxiolytic) เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) โคลนาซีแพม (Clonazepam) หรือลอราซีแพม (Lorazepam) ซึ่งมักออกฤทธิ์ทันที ช่วยลดการตื่นตัวของระบบประสาท และช่วยให้นอนหลับ แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา

โรควิตกกังวล สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับคำแนะนำ การรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การรับประทานยาเป็นประจำ จนสามารถลดความแรงของยา ลดความถี่ในการรับประทานยา จนสามารถหยุดยา และใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนเดิม

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลเป็นภาวะที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียนหนังสือ หรือการรักษาความสัมพันธ์ให้ดี นอกจากนั้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงที่รุนแรงต่าง ๆ จนถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น

-ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งต่างมีอาการที่คล้ายกัน เช่น ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ และรู้สึกกังวล

ภาวะซึมเศร้า

-การฆ่าตัวตาย โรคทางจิตใจหรือโรควิตกกังวลเป็นหนึ่งในสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวการเข้าสังคม หรือผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลพร้อมกับมีภาวะซึมเศร้า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ หากผู้ป่วยเริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความคิดในการฆ่าตัวตาย ควรรีบขอรับความช่วยเหลือจากแพทย์โดยเร็ว

ฆ่าตัวตาย

-การใช้สารเสพติด ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตหรือโรควิตกกังวล มีแนวโน้มที่จะติดสิ่งเสพติดที่ให้โทษ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ติดสิ่งเสพติดเหล่านี้ โดยผู้ป่วยมักใช้สิ่งเสพติดเพื่อบรรเทาอาการ

สารเสพติด

-ความเจ็บป่วยทางกาย โรควิตกกังวลอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคทางกายได้ เช่น ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังเกี่ยวกับความวิตกกังวล จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายไวต่อการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อต่าง ๆ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

ความเจ็บป่วยทางกาย

การป้องกันโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลสามารถป้องกันได้โดยการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพ ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ควรฝึกสติเพื่อรู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่ามีความเครียดมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบอยู่กับปัจจุบันและให้สมองได้ผ่อนคลาย

โรควิตกกังวลสามารถรักษาให้หายได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความต่อเนื่องของการรักษา และผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำอีกเพียงเท่านี้ผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนเดิมได้แล้วค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://www.pobpad.com/โรควิตกกังวล
2. https://www.honestdocs.co/generalised-anxiety-disorder-2