HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

วัณโรคปอดคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

วัณโรคปอด

วัณโรคปอด เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากแบคทีเรียเอ็มทีบีซี (Mycobacterium Tuberculosis Complex: MTBC) โดยส่วนมากจะเกิดการติดเชื้อบริเวณปอด ที่เรียกว่า วัณโรคปอด

วัณโรคปอด
CR. https://www.intechopen.com/books/tuberculosis-current-issues-in-diagnosis-and-management/pathophysiology-of-tuberculosis

แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก สมอง และลำไส้ ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ

หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

 

สาเหตุของวัณโรค

สาเหตุของวัณโรคเกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศโดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ โดยความเสี่ยงของวัณโรคจะเพิ่มขึ้นหากเป็นผู้ที่เคยพักอาศัย หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก

เคยมีการติดต่อและสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคร้ายแรง หรืออยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี จากปัญหาทางด้านโภชนาการ ติดยาเสพติด หรือพิษสุราเรื้อรัง

ไม่เพียงเท่านั้น เด็กและผู้สูงอายุยังเป็นวัยที่เสี่ยงต่อติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากทั้ง 2 วัยนี้จะมีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าคนในวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้น้อยกว่า

เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เองตามธรรมชาติ หรือหากเคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้วผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง เชื้อก็จะไม่แสดงอาการใด ๆ เช่นกัน

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค ได้แก่

– ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคไตวาย ผู้ที่กินยาสเตรียลอยด์นาน ๆ ผู้ที่ทำงานหนักหรือมีความเครียดสูง

– ผู้ที่ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์

– ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร

– ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด การระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร

– ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลายาวนาน เช่นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน

– บุคลากรสาธารณสุข ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย

– ผู้สูงอายุ

– ทารกแรกเกิด

 

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้น จากที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้และไอนานเกิน ๑-๒ สัปดาห์ขึ้นไป เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอออกเป็นเลือด หากสงสัย จะยืนยันด้วยการเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะพบรอยโรคที่กลีบปอดส่วนบนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ จะทำการตรวจหาเชื้อในเสมหะ อย่างน้อย ๓ ครั้ง

บางรายอาจทำการทดสอบผิวหนัง ดังที่เรียกว่า การทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) เพื่อยืนยันการติดเชื้อ อาจนำเสมหะไปเพาะหาเชื้อ หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคโดยเทคนิค CPR เป็นต้น

 

อาการของวัณโรคปอด
CR. https://www.medicalnewstoday.com/articles/325526.php

อาการของวัณโรคปอด

อาการวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการใด ๆ ให้เห็น

-ระยะแฝง (Latent TB) ในระยะแฝง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น ทว่าเชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้

ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ

-ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ โดยอาการในระยะนี้จะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก

หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง

 

อาการแสดงของวัณโรคปอด

วัณโรคปอดจะมีการแสดงอาการตามระยะความร้ายแรงของโรค

-ระยะแรกจะมีการไอแห้ง ๆ อย่างเดียว อาการจะมากขึ้นเมื่อเนื้อปอดเป็นโรคมากขึ้น

-ระยะต่อมาไอจะมีเสมหะติดออกมาด้วย และมักจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ โดยเฉพาะในเวลาเย็น และกลางคืน

-ระยะที่เป็นโรคมาก อาจมีอาการหายใจหอบ และไอมีเสมหะติดเลือดปนด้วย จนถึงขั้นไอเป็นลิ่มเลือดได้

-หากเชื้อลามไปติดที่เยื่อหุ้มปอดแล้ว อาจมีน้ำเกิดขึ้นในช่องปอด และมีอาการเจ็บอก น้ำที่เกิดในช่องปอดนี้จะทำให้อาการหอบเกิดมากขึ้น

 

อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคปอด ได้แก่

-ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไอ ที่นานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้ง ๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะจนอาจไอเป็นเลือดได้

-อ่อนเพลีย

-รู้สึกเบื่ออาหาร

-น้ำหนักตัวลดลง

-มีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน

 

การรักษาวัณโรค

-เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอด แพทย์จะให้ยารักษาวัณโรค โดยทั่วไปจะนิยมใช้สูตรยากิน ๖ เดือน ๒ เดือนแรกใช้ยา ๔ ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช (INH) ไรแฟมพิซิน (rifampicin) ไพราซินาไมด์ (pyrazinamide)

และอีแทมบูทอล (ethambutol) บางรายอาจใช้ สเตรปโตไมซินชนิดฉีดแทนอีแทมบูทอล แล้วต่อด้วยยา ๒ ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช และไรแฟมพิซิน อีก ๔ เดือน

การรักษาวัณโรค

-แพทย์จะย้ำเตือนให้ผู้ป่วยกินยาให้ตรงเวลาทุกวัน ห้ามลืมหรือเว้นบางมื้อหรือบางวัน กำชับให้ญาติช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาได้สม่ำเสมอ มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้รักษาไม่ได้ผล หรือต้องเปลี่ยนไปใช้ยาสูตรที่แรงขึ้น

-ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเอดส์ร่วมกับวัณโรคปอด นอกจากให้ยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว ยังต้องให้ยารักษาวัณโรค (ซึ่งเปลี่ยนแปลงสูตรยาที่แตกต่างกันออกไป) เป็นเวลานาน ๙ เดือน

-แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปเมื่อใช้ยาได้ ๒ สัปดาห์ อาการไข้และไอจะเริ่มทุเลา กินข้าวได้ และน้ำหนักขึ้น

-แพทย์จะทำการตรวจเสมหะ (ดูว่าเชื้อหายหมดหรือยัง) เป็นระยะๆ เช่น เมื่อกินยาครบ ๒ เดือน ๕ เดือน และเมื่อสิ้นสุดการใช้ยารักษา นอกจากนี้อาจทำการเอกซเรย์ปอดดูว่ารอยโรคหายดีหรือยัง

-ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบ เช่น ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติเป็นโรคตับอยู่ก่อน หรืออายุมากกว่า ๓๕ ปี เมื่อกินยารักษาวัณโรค ซึ่งอาจทำให้ตับอักเสบได้

แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT) เพื่อดูว่ามีการอักเสบของตับเกิดขึ้นหรือไม่

 

การป้องกันวัณโรคปอด

การป้องกันวัณโรคปอด

-การฉีดวัคซีนบีซีจี หรือที่เรียกว่า วัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette–Guérin (BCG) vaccine) ให้ทารกตั้งแต่แรกเกิดทุกราย (ภายในวัคซีนจะประกอบไปด้วยเชื้อวัณโรคที่ถูกทำให้เชื้ออ่อนแอลงและมีปริมาณเพียงเล็กน้อย

มีกลไกการทำงานคือ เชื้อที่อ่อนฤทธิ์ลงจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถรับมือกับเชื้อวัณโรคได้) เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดภายหลังการได้รับวัคซีนประมาณ 4-6 สัปดาห์ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ไปได้นาน 10-15 ปี

(การฉีดวัคซีนนี้จะทำเพียงครั้งเดียว หากไม่ได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดก็สามารถรับวัคซีนนี้ได้ทันทีในทุกช่วงอายุ) โดยวัคซีนชนิดนี้จะให้ผลในการป้องกันวัณโรคได้สูงถึง 60-90% โดยเฉพาะวัณโรคชนิดรุนแรง

ได้แก่ วัณโรคชนิดแพร่กระจาย วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่อาจจะป้องกันวัณโรคปอดไม่ได้เต็มที่ ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนชนิดนี้มาแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้อยู่

-ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ไม่ใช้ยาเสพติด

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และควรตรวจสุขภาพและเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี

-ถ้ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง หอบเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เหงื่อออกมากตอนกลางคืน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เสมอเพื่อตรวจร่างกาย ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ก็จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่น แต่ถ้าตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค หรือให้ยารักษาวัณโรคแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ดังที่กล่าวไปในหัวข้อการแยกโรค

โดยเฉพาะอย่างโรคเมลิออยโดซิส (Melioidosis) ที่พบเป็นกันมากทางภาคอีสาน

-ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้านเดียวกัน ควรกำชับให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด (ดูหัวข้อคำแนะนำ) โดยในช่วงที่ผู้ป่วยยังกินยารักษาวัณโรคได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์

หรือยังไม่หายจากอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงการนอนในห้องเดียวกับผู้ป่วย และถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเสมอ

-ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเป็นสมาชิกในบ้านเดียวกับผู้ป่วย แม้ว่าจะยังรู้สึกสบายดีก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทูเบอร์คูลิน

ถ้าพบว่าให้ผลเป็นบวกซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรค แพทย์ก็จะพิจารณาให้กินยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคติดต่อกันนาน 9-12 เดือน

 

บทสรุป

วัณโรคปอด เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่ามีวิธีการดูแลตนเองและรักษาตามที่แพทย์แนะนำหรือไม่ เพราะถ้ามีการทานยาอย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่จะหายย่อมเกิดขึ้นได้ หวังว่ารายละเอียด

วัณโรคปอด จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาหารายละเอียดไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเอง หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค เพื่อการดูแลและรักษาให้ห่างไกลจากวัณโรคปอดได้เป็นอย่างดี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.pobpad.com/
2. https://www.doctor.or.th/article/detail/11221