โรคหัวใจคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคหัวใจ
หัวใจของเราประกอบไปด้วย เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ โรคที่เกิดกับอวัยวะเหล่านี้เราเรียกรวมว่าโรคหัวใจ โรคหัวใจ (Heart Disease) หมายถึง ภาวะความผิดปกติและโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน
และส่วนประกอบเกี่ยวกับหัวใจ โรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น
สาเหตุโรคหัวใจ
สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ
สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจนั้นมีความหลากหลายมาก แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่มักจะทำให้เกิดโรคหัวใจจะได้แก่
-การสูบหรือสูดดมควันบุหรี่
ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 2 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหันมากกว่าถึง 4 เท่าของผู้ไม่สูบ
-สารคาเฟอีน
ผู้ที่รับสารคาเฟอีนจากเครื่องดื่มประเภทชากาแฟมากเกินไป หรือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูง
-ความดันโรหิตสูง
ผู้ที่ความดันโลหิตสูง หรือไม่ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ดีจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้นเพื่อนำไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานผิดปกติ
-คอเลสเตอรอลสูง
ผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมากขึ้นมากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้นเท่านั้นไม่
-ไม่ออกกำลังกายให้เพียงพอ
จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 วัน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้
-การรับประทานอาหารบางประเภท
เช่น อาหารไขมันสูง อาหารหวาน และอาหารเค็มที่ควรหลีกเลี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
-อายุมากขึ้น ยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงหลอดเลือดแดงหัวใจตีบลงก็ยิ่งเพิ่มสูง และยังเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอลงหรือหนาขึ้นอีกด้วย
-เพศชาย มีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
-พันธุกรรมทางครอบครัว บุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก็เพิ่มมากขึ้น
-โรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย
-โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักที่มากเกินผิดปกติจะยิ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าเดิม หากมีปัจจัยเสี่ยงข้ออื่น ๆ อยู่แล้วด้วย
-การรับประทานอาหาร อาหารที่ประกอบไปด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรือคลอเรสเตอรอลปริมาณสูง หากรับประทานบ่อย ๆ เป็นประจำจะยิ่งเสี่ยงพัฒนาเกิดโรคหัวใจในที่สุด
-ไม่ชอบออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจหลาย ๆ ประเภท
-ความเครียด ความเครียดที่ไม่ได้รับการผ่อนคลาย มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการโรคหัวใจ
อาการผิดปกติเบื้องต้นซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจดังต่อไปนี้
-ผู้ป่วยโรคหัวใจจะรู้สึกเหนื่อยง่าย หรืออาจรู้สึกเหนื่อยมากผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงแม้จะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย หรือทำกิจกรรมที่ไม่ได้ออกแรงมาก
-เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก ผู้ป่วยโรคหัวใจมักจะจะมีอาการรู้สึกหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีของหนักมาทับอยู่บนอกตลอดเวลา
-ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการแสดงของภาวะนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยแม้นั่งอยู่เฉย ๆ
-ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น และหายใจไม่ทัน
-เป็นลมหมดสติ เพราะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยหน้ามืดเป็นลมได้
-หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ผู้ป่วยจะเกิดอาการชักเกร็งกระตุก หมดสติ และหยุดหายใจกะทันหัน หากอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด
ซึ่งอาการของโรคหัวใจที่กล่าวมานี้เป็นอาการโดยรวมของผู้ที่เป็นโรคหัวใจ แต่ถ้าจะแยกย่อยตามประเภท ย่อมแสดงอาการแตกต่างกันไปเช่น
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วน อาจจะไม่มีอาการแสดง แต่ในผู้ป่วยที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันค่อนข้างมากที่พบมากสุด คือ อาการเจ็บหน้าอกอย่างมาก จนทนไม่ได้ เหมือนมีอะไรหนัก ๆ กดทับตรงกลางหน้าอก
หรือการเจ็บจากหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้ายกลุ่มที่เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาทันที โดยอาจไม่มีอาการผิดปกตินำมาก่อน
อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา โดยมักพบภาวะนี้จากการตรวจสุขภาพหรือเมื่อป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์
แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปรากฏให้สังเกตได้ วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลม หมดสติ
อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
เป็นภาวะความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง อาจมีทั้งกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นผิดปกติหรือกล้ามเนื้อหัวใจบางลง ซึ่งในระยะแรก ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการ จนเมื่อรุนแรงขึ้น รู้สึกหายใจไม่อิ่มเมื่อต้องออกแรง
หรือแม้ขณะนั่งพักขา เท้า หรือข้อเท้าบวม เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ โดยเต้นเร็วหรือสั่นรัว วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม เจ็บหน้าอก
อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
อาการของโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความผิดปกติ ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติชนิดที่มีความรุนแรงน้อยมักมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากอาจมีอาการเขียว จะมีสีม่วงคล้ำที่เล็บ ริมฝีปากและเยื่อบุภายในช่องปาก หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วและหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ในทารกจะสังเกตได้เวลาดื่มนม ทำให้ดื่มนมได้น้อย เลี้ยงไม่โต อ่อนเพลีย
อาการของโรคลิ้นหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยในระยะเริ่มแรก แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะเริ่มรุนแรงมากขึ้น เช่น เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เหนื่อยง่าย หายใจลำบากเมื่อออกแรง เหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้ไอ มีเสมหะปนเลือด เท้าบวม ขาบวมกดบุ๋ม ท้องมาน
อาการโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
โรคหัวใจชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
-เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ส่งผลต่อบริเวณรอบหัวใจ
-กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งจะมีผลต่อการบีบของหัวใจตามมา
-และสุดท้าย ลิ้นหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจที่ทำให้การทำงานของลิ้นหัวใจผิดปกติไป
โดยรวมแล้วมักก่อให้เกิดอาการมีไข้ โดยส่วนใหญ่มักเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า หายใจหอบเหนื่อย ไอแห้ง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ มีอาการบวมที่ขาหรือช่องท้อง มีผื่นหรือจุดผิดปกติขึ้นบนผิวหนัง
การรักษาโรคหัวใจ
สำหรับการรักษาโรคหัวใจ บางชนิดอาจรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดทำได้เพียงรักษาให้อาการดีขึ้นแต่อาจไม่หายขาด ทั้งนี้ ถึงแม้โรคหัวใจจะมีหลากหลายชนิดวิธีรักษาย่อมแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วมีวิธีรักษา ดังนี้
-การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารโซเดียมต่ำ ออกกำลังกายแบบพอประมาณอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน รวมทั้งเลิกสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้โรคหัวใจที่เป็นอยู่แย่ลง
-ใช้ยารักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้รับประทานเพื่อควบคุมอาการของโรค โดยยาสำหรับโรคหัวใจแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของการรักษาโรคหัวใจนั้น ๆ
-การผ่าตัดรักษา สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียวได้ แต่จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจและระดับความรุนแรงของอาการ
การป้องกันโรคหัวใจ
การป้องกันโรคหัวใจสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น
-ควรตรวจวัดระดับคลอเรสเตอรอล ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ควรเริ่มตรวจคลอเรสเตอรอล หลังจากนั้นตรวจเป็นประจำทุก 5 ปี หรือในรายที่มีบุคคลในครอบครัวมีคลอเรสเตอรอลสูงอาจต้องเริ่มตรวจเร็วขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงทางพันธุกรรม หากมีคลอเรสเตอรอลสูง แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจบ่อยยิ่งขึ้น
-ควบคุมระดับความดันโลหิต ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยทุก 1-2 ปี
-ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินพอดี จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้
-เลิกสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดแดง
-หมั่นออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนัก
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ และธัญพืชทั้งหลายล้วนเป็นอาหารที่ดีต่อหัวใจ และมีไขมันอิ่มตัว คลอเรสเตอรอล โซเดียม และน้ำตาลปรุงแต่งต่ำ
-รู้วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เสี่ยงโรคหัวใจได้ ผู้ป่วยจึงควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์หากมีอาการหดหู่ ไม่เครียด หมั่นผ่อนคลาย ให้มีความเครียดน้อยที่สุด อาจลองฝึกวิธีลดความเครียด
-หมั่นออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ควบคุมอาหารไม่รับประทานรสจัดหรือมันจนเกินไป ทำอารมณ์ให้แจ่มใส
-หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี อย่างสม่ำเสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://www.pobpad.com/โรคหัวใจ/ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใ
2. https://www.honestdocs.co/signs-to-watch-out-for-heart-disease