โรคหัวใจโตคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคหัวใจโต
โรคหัวใจโต คือ ภาวะที่หัวใจมีขนาดโตเกินกว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ซึ่งการวินิจฉัยภาวะหัวใจโต มักวินิจฉัยได้ครั้งแรกจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคของปอด และในการตรวจสุขภาพประจำปี
หัวใจโต ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากโรคต่าง ๆ ทั้งของหัวใจเอง ของปอด หรือของหลอดเลือด
โรคหัวใจโตพบได้ 2 ลักษณะ คือ
1. หัวใจโตจากมีกล้ามเนื้อ
หรือผนังห้องหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophy)
หรือจากห้องต่าง ๆ ของหัวใจขยายขนาดโตขึ้นผิดปกติ (Dilatation)
2. หัวใจโตพบได้ในทุกอายุ
ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุจากการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ของหัวใจตามธรรมชาติ และโอกาสเกิดหัวใจโต ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
ทั้งนี้สถิติการเกิดที่แท้จริงของ หัวใจโต ยังไม่ทราบ แต่มีการศึกษาพบว่าในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี พบมีภาวะหัวใจโต ซึ่งวินิจฉัยได้จากภาพเอกซเรย์ปอดประมาณ 17% และอีกการศึกษาพบภาวะหัวใจโตในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและเพศชายได้ 23% จากการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดประจำปี
สาเหตุของโรคหัวใจโต
สาเหตุของหัวใจโต มีดังนี้
1.ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหัวใจโต เพราะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายขยายใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจค่อย ๆ อ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังทำให้หัวใจห้องบนโตขึ้นอีกด้วย
2.โรคลิ้นหัวใจ
ความผิดปกติของลิ้นหัวใจซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจห้องต่าง ๆ อาจเกิดจากภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น โรคไข้รูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ การใช้ยาหรือฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง โรคเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อลิ้นหัวใจและพลอยทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้
3.โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจแข็งและก่อตัวหนาขึ้นเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้หัวใจโตขึ้น เนื่องจากหัวใจทำงานหนักกว่าเดิมเพราะต้องสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงร่างกาย มากขึ้น
4.ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังปอดและกลับมาลำบาก หัวใจห้องขวาจึงโตขึ้น
5.ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจมากผิดปกติ
ภาวะที่มีการสะสมของของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจมากเกินไป จะทำให้หัวใจโตขึ้นได้เช่นกัน
6.โรคโลหิตจาง
เป็นภาวะที่ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอที่จะนำพาออกซิเจนไปตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาและเกิดเป็นภาวะโลหิตจางชนิดเรื้อรังจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติได้
7.ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
ทั้งภาวะไทรอยด์เป็นพิษและไทรอยด์ต่ำเป็นสาเหตุของปัญหาเกี่ยวกับหัวใจรวมถึงภาวะหัวใจโตด้วย
8.ภาวะเหล็กเกิน
ภาวะผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถนำธาตุเหล็กไปใช้ได้ จนทำให้มีธาตุเหล็กสะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่หัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจที่มีธาตุเหล็กสะสมอยู่จะอ่อนแอลงและตามมาด้วยหัวใจห้องล่างซ้ายที่ขยายใหญ่ขึ้นในที่สุด
9.โรคเกี่ยวกับหัวใจที่พบได้ยาก
อย่างเช่น โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) ภาวะที่มีโปรตีนผิดปกติไหลเวียนในเลือด โปรตีนนี้อาจไปสะสมที่หัวใจและขัดขวางการทำงานของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมา
สาเหตุอื่น ๆ ของหัวใจโตยังรวมถึงการติดเชื้อไวรัสบริเวณหัวใจ อาจเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ในช่วงใกล้คลอด โรคไตในระยะที่ต้องฟอกไต การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด การติดเชื้อเอชไอวี และโรคที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจโต มีดังนี้
– ความดันโลหิตสูง
– ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้องท้องเดียวกัน)
– หลอดเลือดหัวใจตีบ
– หัวใจพิการแต่กำเนิด
– ลิ้นหัวใจผิดปกติ
– กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
– การใช้สารเสพติดเช่น สูบบุหรี่, การติดสุราและสารเสพติดให้โทษชนิดอื่น ๆ
อาการของโรคหัวใจโต
ผู้ที่เป็นหัวใจโตส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการหากหัวใจยังทำงานปกติ แต่หากหัวใจทำงานผิดปกติจะเกิดอาการต่าง ๆ จากโรคที่เป็น และอาการต่าง ๆ ที่ว่า ได้แก่
-หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
-หายใจเร็ว
-เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
-ใจสั่น
-บวมบริเวณเท้าตอนสาย ๆ
-ไอโดยเฉพาะเวลานอน
-นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก
หัวใจโตที่ตรวจพบในระยะต้น จะรักษาได้ง่าย ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นหรือกังวลว่าตนเองอาจมีภาวะนี้ให้ปรึกษาแพทย์ และผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบรุนแรง เป็นลม หรือรู้สึกปวดบริเวณหน้าอก แขน หลัง คอ หน้าท้อง หรือกราม
ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุว่าอาการที่เราเป็นนั้นจะเป็นหัวใจโตหรือเปล่าเมื่อตรวจแล้วหากพบว่าเป็นจะได้รักษาได้ทันท่วงที
การรักษาโรคหัวใจโต
แนวทางการรักษาภาวะหัวใจโต คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ
การรักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ เช่นการใช้ยาต่าง ๆ และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเมื่อสาเหตุเกิดจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนหรือการผ่าตัด
เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคลิ้นหัวใจหรือ การใส่เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เมื่อสาเหตุเกิดจากภาวะหัวใจเสียจังหวะ เป็นต้น
การรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาขับน้ำเมื่อมีอาการบวม การให้ออกซิเจนเมื่อมีอาการทางการหายใจ การให้ยาบรรเทาอาการไอ และการพักผ่อน การปรับการทำงาน และการออกแรง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจโต
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโตอาจเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
1. หัวใจล้มเหลว นับเป็นภาวะหัวใจโตขั้นวิกฤตที่สุด ถ้าเกิดขึ้นบริเวณห้องล่างซ้ายจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวยิ่งขึ้น โดยเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและขยายใหญ่ขึ้นจนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เกิดลิ่มเลือด หัวใจที่โตขึ้นอาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดในเยื่อบุหัวใจได้ง่าย หากลิ่มเลือด เข้าไปสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันในการไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะสำคัญอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกตามมาได้
3. เสียงฟู่ของหัวใจ ในผู้ป่วยภาวะหัวใจโตบางรายอาจพบว่ามีลิ้นหัวใจ 2 ลิ้นที่ปิดไม่สนิทเนื่องจากการขยายขนาดของหัวใจ จนเกิดการไหลกลับของเลือดซึ่งจะได้ยินเสียงดังฟู่ของหัวใจ ถึงแม้จะไม่มีอันตรายอย่างใด แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนนี้ก็ควรอยู่ในการเฝ้าระวังของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ
4. ภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างฉับพลัน ภาวะหัวใจโตที่เกิดขึ้นบางชนิดอาจทำให้การเต้นของหัวใจหยุดชะงักลง จังหวะการเต้นของหัวใจที่ช้าหรือเร็วเกินไปนั้นทำให้มีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือบางรายหัวใจอาจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ค่ะ
5. ภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและปอดบวมน้ำ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสะสมของของเหลวในปอดหรือบริเวณช่องว่างระหว่างปอดและผนังหน้าอก ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากหายใจติดขัดได้
การป้องกันหัวใจโต
การป้องกันหัวใจโตมีแนวทางในการป้องกัน ดังนี้
1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคหลอดเลือดสมอง
2. กินอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารป้องกันโรคหัวใจ อาหารป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง )
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
4. ควบคุมอาหารเพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
5. ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
6. เมื่อมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรมีการตรวจหัวใจประจำปีสม่ำเสมอ เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 15-18 ปี
7. จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยในแต่ละวัน ผู้ชายไม่ควรดื่มเบียร์เกิน 350 มิลลิลิตร (มล.) ไวน์ไม่เกิน 150 มล. และสุรา ไม่เกิน 50 มล. ในผู้หญิงลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย เพราะมีรูปร่างและน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ชาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.honestdocs.co/ask/9881247
2. https://www.pobpad.com/หัวใจโต
3. https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=en&id=432
4. https://www.siamhealth.net/public_html/Disease/heart_disease/cardio.html
5. https://www.pobpad.com/หัวใจโต
6. https://www.honestdocs.co/ask/9881247