โรคเบาหวานคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินซูลินผิดปกติ ซึ่งอินซูลินมีความจำเป็นต่อร่างกายในการนำน้ำตาลในเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในขณะที่อินซูลินทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณในอินซูลินลดลง
หรือ อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลคงเหลือในกระแสเลือดมากกว่าปกติ
หากน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จะทำให้ไตซึ่งปกติจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำตาลจากสารที่ถูกกรองจากหน่วยไตไปใช้ ดูดกลับน้ำตาลได้ไม่หมด ส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
เบาหวานชนิดที่ 1
เกิดจากการขาดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้เลย (อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำรงชีวิต) เบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี
เบาหวานชนิดที่ 2
พบมากในคนส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีหรือที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายเหมือนขาดอินซูลินไประดับหนึ่ง ร่างกายต้องทดแทนโดยการสร้างอินซูลินออกมามากขึ้น
จนตับอ่อนทำงานมากขึ้นจนทำงานไม่ไหวถ้าไม่ช่วยแก้ไข นอกจากนี้ตับอ่อนของผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้ยังสร้างอินซูลินได้ไม่มากเท่าคนปกติด้วย จึงมีระดับอินซูลินที่ไม่พอเพียงแก่ความต้องการ
สาเหตุของภาวะดื้ออินซูลิน ได้แก่ พันธุกรรม ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ร่วมกับมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากขึ้น
เบาหวานชนิดที่ 3
เป็นเบาหวานชนิดที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ตับอ่อนถูกตัด โรคที่มีเหล็กสะสมมากเกินไปในตับจนทำให้ตับเสียหาย การรับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ การได้รับสารเคมี ความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
เบาหวานชนิดที่ 4
เป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดในผู้ที่ไม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป แต่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นเบาหวานได้อีกในอนาคต
สาเหตุของโรคเบาหวาน
เบาหวาน เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็คือการรับประทานน้ำตาลและไขมันในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้อินซูลินเกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งอาการป่วยเบาหวานได้ นอกจากนี้ โรคเบาหวานก็ยังมีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้อีกด้วย
กรรมพันธุ์
สำหรับผู้ที่มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นเบาหวานมาก่อน ก็อาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากรู้จักดูแลตนเองให้ดี และควบคุมอาหาร
โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน ของมัน คุณก็จะปลอดภัยจากโรคเบาหวานได้มากขึ้น นอกเสียจากว่าจะเป็นโรคเบาหวานมาอยู่แล้วโดยกำเนิด
ความอ้วน
ร้อยละ 80 ของคนที่เป็นโรคอ้วนส่วนใหญ่มักมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานค่อนข้างสูง เนื่องจากไขมันส่วนเกินจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประสิทธิภาพในการจัดการกับน้ำตาลและไขมันต่ำลง และเป็นผลให้เกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด
ความผิดปกติของตับอ่อน
เนื่องจากตับอ่อนจะทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลิน ดังนั้นหากตับอ่อนมีการเสื่อมสภาพหรือเกิดความผิดปกติก็ย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วย นอกจากนี้ ในคนที่ดื่มเหล้าหรือรับประทานยาที่มีผลต่อตับอ่อนก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานได้สูงอย่างมากทีเดียว
อาหารการกิน
เนื่องจากปัจจุบันนั้น วิธีการทานอาหารที่เปลี่ยนไป โดยพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเต็มไปด้วยแป้งและไขมัน อีกทั้งรวมไปถึงเครื่องดื่มแต่ละชนิด ที่มีน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถขจัดให้หมดไปจากร่างกายได้ใน 1 วัน
การออกกำลัง
ผู้คนในยุคนี้มีการขยับตัวกันน้อยจนเกินไป จนร่างกายมีประสิทธิภาพในการขจัดน้ำตาลได้น้อย เนื่องจากมีกิจกรรมทางกายน้อยจนเกินไป จึงทำให้น้ำตาลถูกสะสมในเลือดได้ง่าย
อาการของโรคเบาหวาน
อาการที่พบบ่อยในผู้เป็นเบาหวานมีเป็นอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงโดยตรง และอาการเนื่องจากโรคแทรกซ้อน ได้แก่
ปัสสาวะบ่อยหิวน้ำบ่อย
เมื่อระดับน้ำตาลสูงมากกว่า 180 มก./ดล. ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลออกนอกร่างกายโดยการปัสสาวะออกมา ซึ่งทำให้สูญเสียน้ำไปด้วย จึงปัสสาวะบ่อย คอแห้ง หิวน้ำ
หิวบ่อย น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
การที่อินซูลินไม่สามารถนำเอาน้ำตาลกลูโคสไปส่งให้อวัยวะต่าง ๆ ใช้เป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงพยายามสลายพลังงานออกมาจากไขมันและกล้ามเนื้อออกมาใช้ ทำให้กล้ามเนื้อลีบ จึงมีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย และน้ำหนักลด
แผลหายยาก
มีการติดเชื้อตามผิวหนังง่าย เกิดฝีบ่อย ภาวะน้ำตาลสูง ทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง จึงติดเชื้อง่าย
คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อราง่าย
สาเหตุของการคันเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ผิวหนังแห้งเกินไป หรือการอักเสบของผิวหนังซึ่งพบได้บ่อยในผู้เป็นเบาหวาน
ตาพร่ามัว
มีสาเหตุหลายประการ เช่น อาจเป็นสายตาเปลี่ยน (สายตาสั้นลง) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลไปคั่งอยู่ในตาหรือตามัว อาจเกิดจากต้อกระจก หรือจอประสาทตาผิดปกติ จากโรคเบาหวาน
ชาปลายมือปลายเท้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
เนื่องจากน้ำตาลที่สูงนาน ๆ ทำให้เส้นประสาทเสื่อม การรับความรู้สึกลดลง จึงชาหรือไม่รู้สึกเจ็บปวด ทำให้เกิดแผลที่เท้าตามมา
การรักษาโรคเบาหวาน
เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะให้สุขศึกษาแนะนำข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย พร้อมกับอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและปัจจัยที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นประโยชน์และทราบถึงแนวทางในการควบคุมโรค และพิจารณาให้ยารักษาเบาหวาน ร่วมไปกับการประเมินภาวะเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักตัวเกิน ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ
และทำการควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ควบคู่กันไปให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งถ้าควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ลงได้
การรักษาตามประเภทของโรคเบาหวานมีดังนี้
-การรักษาผู้ป่วยเบาหวานในประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หากเป็นในระยะแรก ๆ
สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลัง และควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1
-สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมทั้งควบคุมอาหารที่รับประทานและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
-ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานขึ้นที่เท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล เป็นต้น หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงขึ้น
แพทย์อาจวางแผนการรักษาตามเหมาะสมขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น ทั้งนี้ หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันอาการลุกลาม
การป้องกันโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน สามารถป้องกันได้หากเรามีวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้ โดยมีวิธีป้องกันดังนี้
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้แป้งและน้ำตาลที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อถูกดึงออกไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งจะทำให้ระดับแป้งและน้ำตาลลดลง
2. ควบคุมน้ำหนักให้คงที่ พยายามอย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือหากใครที่เป็นโรคอ้วน ก็ควรรีบลดน้ำหนักโดยด่วน เพราะจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึง 80 %
3. รับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าหรือเย็น แสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้าและตอนเย็นนั้นอุดมไปด้วยวิตามินดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งวิตามินดี ไม่เพียงแต่จะบำรุงผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่งมากขึ้นเท่านั้น
แต่ยังช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างกระดูก และยังช่วยเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด และสมอง
4. รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว ข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังไม่ทำให้อ้วนอีกด้วย และที่สำคัญข้าวกล้องยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ดี
ดังนั้น จึงควรรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาวทั่วไป หรือจะหุงรวมกับข้าวขาวด้วยก็ได้
5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำลายตับให้เสื่อมสภาพลง และเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง ซึ่งเมื่อตับอ่อนเกิดความผิดปกติก็จะทำให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลง
ส่งผลให้เกิดการสะสมน้ำตาลในร่างกาย และในเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในที่สุด
6. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ทุกส่วนในร่างกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น
จึงลดความเสี่ยงเบาหวานได้ดีนั่นเอง ทั้งนี้ ควรเน้นเมนูผักผลไม้ให้มาก ๆ พร้อมทั้งลดคาร์โบไฮเดรตจากแป้งและไขมันให้น้อยลง เพราะการได้รับไขมันและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานได้เช่นกัน
บทสรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับโรคเบาหวาน มีรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาหารายละเอียดในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน หวังว่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลตนเองให้ห่างไกลเบาหวานได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.pobpad.com/โรคเบาหวาน
https://www.honestdocs.co/diabetes-symptoms-diagnosis-management-treatment