โรคเริมคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคเริม
เริม เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย เกิดจากเชื้อไวรัสเริม (Herpes simplex virus, HSV) ลักษณะของเริมคือพบหย่อมตุ่มน้ำใสบนพื้นผิวหนังสีแดง
ต่อมาตุ่มน้ำใสมักกลายเป็นตุ่มหนอง หรือแตกเป็นแผล ในที่สุดอาจมีสะเก็ดปกคลุม แม้ว่าการติดเชื้อเริมเกิดได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
เริ่มสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
-เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1)
-เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2)
โดยเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้จะก่อให้เกิดอาการ เริมที่ปาก (Herpes Simplex) และเริมที่อวัยวะเพศ (Gential Herpes) และสามารถติดต่อกันระหว่างคนสู่คนได้โดยผ่านทางการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ทางน้ำลาย น้ำเหลือง หรือผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้
เริมเป็นโรคผิวหนังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเหล่านี้จะยังคงอยู่ในร่างกายแม้อาการจะสงบลงแล้ว และเริมสามารถกลับมาเป็นได้อีกเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอค่ะ
สาเหตุของโรคเริม
สาเหตุของเริม มีดังนี้
–สาเหตุ : เกิดจากการติด เชื้อไวรัสเริม หรือ เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus – HSV) ซึ่งเป็นไวรัสต่างชนิดกับโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส ถึงแม้จะก่อให้เกิดตุ่มน้ำกับผิวหนังได้คล้าย ๆ กันก็ตาม โดยเชื้อไวรัสเริมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด
คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 หรือ เอชเอสวี-1 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1) กับไวรัสเริมชนิดที่ 2 หรือ เอชเอสวี-2 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-2) เชื้อเริมทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งบริเวณผิวหนังทั่วไป
ช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อเมือกต่าง ๆ โดยเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่ปาก ส่วนเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่อวัยวะเพศ
–การติดต่อ : เริมสามารถติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ ผ่านทางรอยถลอกของผิวหนังหรือทางเยื่อเมือก (เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก องคชาต ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก)
จากน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่ง รวมไปถึงจากการใช้ของใช้ร่วมกัน การกิน การจูบ หรือจากมือติดโรคแล้วป้ายเข้าตา ดังนั้น ผู้ที่คลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น สามีภรรยา สมาชิกในครอบครัว เด็กในโรงเรียนหรือในสถานรับเลี้ยงเด็ก จะมีโอกาสติดเชื้อเริมได้ง่าย
-ระยะฟักตัว : สำหรับการติดเชื้อครั้งแรกจนกระทั่งแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 2-20 วัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อเริมจะแบ่งตัวทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ
แต่หลังจากนั้นเมื่อหายจากโรคแล้ว เชื้อเริมจะเข้าไปหลบซ่อนที่ปมประสาทในบริเวณใต้ผิวหนังหรือเยื่อบุและแฝงตัวอยู่อย่างสงบ โดยไม่มีการแบ่งตัว
แต่เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้นเชื้อเริมที่แฝงอยู่ตัวอยู่ขณะนั้นจะเกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตเกิดการปลุกฤทธิ์คืน (Reactivation) ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
-การเกิดเป็นซ้ำ : โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้บ่อย ๆ บางครั้งอาจเป็นซ้ำได้ถึงปีละ 3 ครั้ง แต่จะค่อย ๆ ลดไปเมื่ออายุสูงขึ้น โดยเริมที่ริมฝีปากจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 20-40%
ส่วนเริมที่อวัยวะเพศจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 80% ซึ่งการเกิดเป็นซ้ำนี้จะมีอาการน้อยกว่า หายเร็วกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการของโรคเริม
อาการของโรคเริมที่พบบ่อย ๆ มีดังนี้
1.เริมที่ผิวหนัง
ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อซ้ำบริเวณรอยโรคมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดเสียวนำมาก่อนประมาณ 30 นาที ถึง 48 ชั่วโมง แล้วมีตุ่มน้ำใสขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยรอบจะมีผื่นแดง
ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นแล้วแตกกลายเป็นสะเก็ด ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ ริมฝีปาก แก้ม จมูก ตา หู ก้น อวัยวะเพศ ซึ่งผื่นมักจะขึ้นที่ตำแหน่งที่เคยขึ้นหรือบริเวณใกล้เคียง
2.เริมในช่องปาก
เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 เป็นครั้งแรก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 20 วัน
เมื่อหายแล้วเชื้อมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทของสมอง ต่อมาเชื้ออาจจะแบ่งตัวเจริญเติบโตทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
3.เริมที่อวัยวะเพศ
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นแผลที่อวัยวะเพศ จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรก จะมีระยะฟักตัวของโรคคือตั้งแต่ได้เชื้อจนกระทั่งแสดงอาการประมาณ 2-10 วัน
ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเกิดผื่นตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน และเริมในอวัยวะของผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต ที่ตัว หรือที่ปลายองคชาต ถุงอัณฑะ ต้นขา ก้น รอบทวารหนัก
หรือในท่อปัสสาวะ ส่วนเริมในอวัยวะเพศของผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ก้น รอบทวารหนัก ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก โดยผื่นตุ่มจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือเป็นแผลแดง ๆ คล้ายรอยถลอก
อาจมีอาการเจ็บหรือคัน ต่อมาจะแห้ง อาจมีสะเก็ดหรือไม่มีก็ได้ แล้วอาการเหล่านั้นก็จะหายไปได้เอง และสามารถเกิดขึ้นได้ใหม่เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอค่ะ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเริม
ไม่ว่าจะเป็นเริมที่ปากหรือเริมที่อวัยวะเพศ ก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยการติดเชื้ออาจลุกลามไปที่อวัยวะอื่น ๆ เช่นการติดเชื้อที่บริเวณดวงตาทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด หรือในกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ก็อาจเกิดติดเชื้อที่สมองจนทำให้เกิดสมองอักเสบได้
การรักษาโรคเริม
แม้ว่าโรคเริมจะไม่มียารักษาให้หายขาดได้แต่ยังมีวิธีในการจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นได้ และยังมียาที่ช่วยให้โรคเริมหายเร็วได้ขึ้น และแพทย์จะเป็นผู้แนะนำยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ และคุณสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยตนเองโดยวิธีดังต่อไปนี้
-อาบน้ำอุ่น
-พยายามดูแลให้บริเวณอวัยวะเพศแห้ง ไม่อับชื้น เพราะความชื้นจะทำให้แผลหายช้า
-สวมเสื้อผ้านุ่ม และหลวม ๆ
-ประคบเย็นบริเวณแผล (เช่น ใช้ถุงเจลประคบเย็น)
-รับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน (aspirin), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ พาราเซตามอล (paracetamol)
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเริม
-พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ
-ถ้ามีแผลในปากควรใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
-หากมีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ และรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล
-ควรตัดเล็บให้สั้น ไม่แกะ ไม่เกาที่แผล
-อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด ป้องกันไม่ให้ตุ่มเป็นหนอง และแผลเป็น
-ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ หรือน้ำต้มสุกประคบทำความสะอาดบริเวณแผล
-รับประทานยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อมีอาการนำ เพราะจะช่วยลดระยะเวลาการเกิดโรค ลดการแพร่เชื้อ และลดระยะเวลาเจ็บปวดได้ ยานี้มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยโรคไต
ดังนั้นควรเข้าพบแพทย์เพื่อพิจารณาเรื่องขนาดยาจะดีกว่า อีกทั้งยาต้านไวรัสยังไม่สามารถกำจัดเชื้อที่สะสมอยู่ที่ปมประสาทได้
-การทายาต้านไวรัส มีประโยชน์ในการรักษาน้อย โดยเฉพาะเริมที่อวัยวะเพศซึ่งอาจก่อให้เชื้อดื้อยาได้ด้วย
การป้องกันโรคเริม
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคเริมให้หายขาดได้แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็ก กระจายไปสูงผู้อื่นได้ และการป้องกันโรคเริมควรปฏิบัติตัวดังนี้
1.การใช้ถุงยางอนามัยโดยเฉพาะถุงยางอนามัยสำหรับสตรีซึ่งพบว่า สามารถป้องกันได้มากกว่าถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดต่อได้ทั้งหมด
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
3.การมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายสนิท
4.สำหรับผู้ที่เคยเป็นเริมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคซ้ำ
5.หากเป็นโรคเริมซ้ำบ่อย มากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือมีอาการรุนแรง หรือการเป็นซ้ำส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
หากคุณมีอาการของโรคเริมซ้ำหลายครั้ง แพทย์อาจพิจารณาสั่งยาให้คุณรับประทานทุกวัน เพื่อกดไว้ไม่ให้มีอาการ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเริมซ้ำในอนาคตได้ และลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อเริมไปยังคู่ของคุณด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.doctor.or.th/article/detail/10908
2. https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/เริม/
3. https://www.pobpad.com/เริม
4. https://www.honestdocs.co/herpes