โรคไข้เลือดออกคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) โดยมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายนี้จะออกหากินเฉพาะเวลากลางวัน ชอบอาศัยอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น ซึ่งประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้น
จึงพบการแพร่กระจายของยุงลายได้มาก และ จะพบโรคนี้ได้ตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก และ มีแอ่งน้ำท่วมขับ ซึ่งแอ่งน้ำก็เปรียบเสมือนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้เป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจและประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง และ ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทยจึงมีการประกาศเตือนให้เป็นโรคเฝ้าระวัง ในประเทศไทย เพราะมีอัตราการป่วยและการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายเพศเมียที่เป็นพาหะของโรค ดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ และ เชื้อนี้จะไปเจริญเติบโตในท้องยุงลาย และ เมื่อยุงลายกัดคนอื่น เชื้อนี้ไวรัสเดงกีก็จะแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ถูกกัด
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DEN – 1, DEN – 2, DEN – 3,
DEN – 4 โดยที่แต่ละสายพันธุ์จะทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการป่วยไข้เลือดออกได้ 3 ระดับ ดังนี้ ไข้เลือดออก ไข้เลือดออกชนิดรุนแรง และ ไข้เลือดออกช็อก
ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ละสายพันธุ์จะมีภูมิคุ้มกันที่จะไม่ติดเชื้อตัวเดิมซ้ำอีกประมาณ 6 – 12 เดือน แต่สามารถกลับมาป่วยด้วยไข้เลือดออกซ้ำได้ด้วยเชื้อสายพันธุ์อื่น และ การป่วยซ้ำจะเพิ่มอัตราเสี่ยงที่จะทำให้ภาวะโรครุนแรงขึ้นได้
ยุงลายที่ดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี จะมีลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ชัด คือ ลำตัว และ ขามีลายสีขาวสลับดำ ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น อยู่ในที่มืด และ อับชื้น และจะออกหากินในเวลากลางวัน
โดยที่ยุงลายจะมีวงจรชีวิต 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และ ระยะโตเต็มวัย ซึ่งยุงลายจะวางไข่ในน้ำนิ่ง เช่นบ่อน้ำที่ไม่มีการไหลเวียนของน้ำ หรือ ภาชนะที่มีน้ำขัง จนกระทั่งโตเต็มวัย
และ จะมีเพียงยุงลายเพศเมียเท่านั้นที่ออกหากิน ด้วยการดูดเลือดคน และสัตว์เลือดอุ่น โดยจะหาเหยื่อด้วยการบินไปตามอุณหภูมิของร่างกาย กลิ่นตัวและคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มนุษย์ และ สัตว์เลือดอุ่นปล่อยออกมาขณะหายใจออก
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการเบื้องต้นจะคล้ายโรคไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อย ตัวร้อน และ อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะแสดงอาการที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ปวดหัวมาก
และ ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจจะพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว และ อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาเช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกายในรายที่ร่างกายอ่อนแอ และ มีภูมิคุ้มกันต่ำ
หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5 – 8 วัน อาการของโรคจึงปรากฏโดยแบ่งอาการตามระดับความรุนแรงของโรค คือ ไข้เลือดออก ไข้เลือดออกชนิดรุนแรง และ ไข้เลือดออกช็อก
ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดใดไปแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน และ จะไม่ติดเชื้อนั้นอีกเป็นเวลา 6 – 12 เดือน แต่จะป่วยโรคเดิมได้ ซึ่งจะเป็นเชื้อสายพันธุ์อื่น
ในรายที่ติดเชื้อซ้ำ อาการของโรคมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรง และ นำไปสู่ภาวะไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้นได้ โดยที่ไข้เลือดออกจะมี 3 ระดับ ดังนี้
– ไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมาก ซึ่งเป็นอาการนำ 2 – 3 วัน หลังจากนั้นจะมีอาการอื่นตามมา เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดรอบกระบอกตา
และ อาจมีผดผื่นแดงบริเวณผิวหนัง ซึ่งหากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาการของโรคจะทุเลาลงได้ และ หายได้เองภายใน 2 – 7 วัน
– ไข้เลือดออกชนิดรุนแรง คือ ผู้ป่วยที่เคยได้รับเชื้อไวรัสเดงกีแล้ว และ กลับมาเป็นซ้ำ แต่จะไม่ซ้ำกับสายพันธุ์เดิม จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกัน อาการจะรุนแรงกว่าไข้เลือดออกธรรมดา คือ จะมีไข้สูงมาก ปวดหัวรุนแรง เบื่ออาหาร และ อาเจียนอย่างหนัก
หรือ อาจจะอาเจียนมีเลือดปนด้วย อาจมีเลือดออกตามไรฟันมากผิดปกติ หรือ อาจมีเลือดกำเดาไหล อาจพบจ้ำเลือด หรือ ห้อเลือดบริเวณผิวหนัง มีเลือดออกที่เนื้อเยื่ออวัยวะภายในต่าง ๆ ตับโต
ความเข้มข้นของเลือดสูง ความดันเลือดต่ำ ผู้ป่วยในระยะนี้ถือว่าวิกฤตต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมอาการไม่ให้เกิดภาวะช็อก
– ไข้เลือดออกช็อก ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกในเนื้อเยื่อปริมาณมาก เกล็ดเลือดจะต่ำ พลาสมารั่ว เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ความดันต่ำอย่างรวดเร็ว ตับจะทำงานผิดปกติ
หรือมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงของอวัยวะภายใน สมองจะบวม ไตวาย ซึ่งจะนำไปสู่การช็อก และ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว หรือมีผื่นแดง หรือห้อเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที การวินิจฉัยไข้เลือดออกสามารถทำได้ดังนี้
– การวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยสังเกตอาการที่แสดง ว่ามีไข้สูงเฉียบพลันปวดหัวรุนแรง หรือ มีเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน มีห้อเลือด หรือ ผื่นแดงบริเวณผิวหนัง หรือไม่
ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณของไข้เลือดออก หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์
– การวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดไข้เลือดออกหรือไม่ เพื่อประกอบการวินิจฉัย และ รักษาโรคอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
แพทย์จะดูอาการของผู้ป่วยว่าอยู่ในเกณฑ์ หรือ มีความรุนแรงของอาการดังต่อไปนี้หรือไม่
-มีไข้สูง 39 – 41 องศาเซลเซียส
-มีเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน หรือ มีจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง
-เกล็ดเลือดต่ำ
-ปวดบริเวณชายโครงขวา เมื่อกดบริเวณดังกล่าวแล้วจะรู้สึกเจ็บ เพราะตับโต
-ความเข้มข้นของเลือดสูง หรือ มีน้ำบริเวณช่องปอด
-มีภาวะช็อก
– การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยนั้น แพทย์จะใช้วิธี CBC (Complete Blood Count) ซึ่งเป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และ ความเข้มข้นของเลือด การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อ (Antibody Test)
ซึ่งจะพบความผิดปกติภายใน 3 – 4 วัน หลังมีไข้สูง และ การตรวจ Electrolytes เป็นการตรวจหาแร่ในเลือด และ ของเหลวในร่างกาย เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำในร่างกาย ค่าความเป็นกรดของเลือด และ การทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
– ในบางรายอาจต้องดูการทำงานของปอด และ ของเหลวภายในด้วยการเอกซเรย์บริเวณหน้าอก และ การตรวจวิเคราะห์ผลในห้องแลบจากระดับเอนไซม์ตับก็เป็นอีกวิธีในการวินิจฉัยโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน และ เลือกการตรวจตามความเหมาะสมของการรักษาในขณะนั้น
การรักษาโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาที่เฉพาะโรค การรักษาจะเป็นการประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นการรักษาจะใช้ยาระงับอาการ เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมาก และ ปวดหัวรุนแรง โดยจะใช้ยา Acetaminophen หรือยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวด และ ลดไข้
โดยหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งหากใช้ยาแอสไพรินจะมีผลกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออก ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง หากผู้ป่วยมีอาการอาเจียน และ อ่อนเพลีย แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้ในระยะแรกเริ่มแล้วรีบมาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวด “พาราเซตามอล” และให้กลับไปพักที่บ้านหากไม่มีอาการแทรกซ้อน หรือ ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจะหายได้ภายใน 2 – 7 วัน
และหากผู้ป่วยที่เป็นสตรีที่กำลังสงสัยว่ากำลังป่วยเป็นไข้เลือดออก ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับการมีประจำเดือน เพราะการมีประจำเดือนจะทำให้อาการแย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกอาจนำความรุนแรงไปสู่ภาวะโรค Dengue Hemorrhagic Fever ซึ่งจะทำให้มีไข้สูง มีอาการปวดหัวรุนแรง และ อาจมีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อ และ อวัยวะภายใน และ Dengue Shock Syndrome
ซึ่งเป็นภาวะที่เสียเลือดมาก พลาสมารั่วมีความดันโลหิตต่ำ นำไปสู่การช็อก ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออกได้แก่
1. หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
2. ผู้ที่เคยป่วยด้วยไข้เลือดออกแล้วป่วยซ้ำด้วยไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใหม่
3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือ ผู้ป่วยเด็ก เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ
4. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีในบางสายพันธุ์ ที่อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
ในประเทศไทยวัคซีนที่ป้องกันไข้เลือดออกยังอยู่ในขั้นตอนการค้นคว้าทดลอง วิธีการป้องกันจึงเน้นไปยังวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วยการดูและตัวเอง โดยวิธีป้องกันทำได้ดังนี้
1. กำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ในบริเวณบ้าน และ ชุมชน ด้วยการคว่ำ ปิดฝาภาชนะ หรือ ไม่ปล่อยให้ภาชนะมีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ ใส่ทรายอะเบท (Abate) ตามภาชนะ
หรือ ไม่ปล่อยให้ภาชนะที่ใส่น้ำ เช่น แจกัน ถังเก็บน้ำ หรือ เลี้ยงปลากัด ปลาหางนกยูง เพื่อให้กินลูกน้ำยุงลาย หรือ ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยังเป็นระยะ หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหากพบว่ามีการระบาดของยุงในชุมชน
2. สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
3. ป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีคนจำนวนมาก และ หลีกเลี่ยงพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
4. รับการฉีดวัคซีน วัคซีนที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศไทย คือ วัคซีน Dengvaxia (CYD-TDV) โดยวัคซีนนี้มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งกำหนดให้ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 9 – 45 ปี และให้ฉีด 3 ครั้ง
แต่ละครั้งห่างกัน 6 เดือน หลังฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียง คือ มีไข้ต่ำ ๆ มีห้อเลือด ปวดกล้ามเนื้อ ถึงแม้ว่าวัคซีนนี้จะผ่านการรับรองแต่แพทย์ก็ไม่แนะนำให้คนกลุ่มนี้รับวัคซีน Dengvaxia
– ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
– ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีน
– ผู้ที่มีไข้ หรือป่วยกะทันหัน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปจนกว่าจะหายเป็นปกติ
– หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ซึ่งปกติประมาณ
70 – 80% ของผู้ป่วยจะมีอาการเล็กน้อยและหายได้เองภายใน 7 – 14 วัน
เพียงแค่รักษาไปตามอาการ โดยการกินยาลดไข้ เช็ดตัว และ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการช็อก และอีกประมาณ 20 – 30% ของผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือมีเลือดออก
ซึ่งก็มีทางรักษาให้หายได้ด้วยการให้น้ำเกลือ หรือ ให้เลือด และมีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และ เมื่อหายแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้น ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://www.thaipost.net/main/detail/11905
2. https://www.pobpad.com/ไข้เลือดออก