HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคงูสวัดคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคงูสวัด

โรคงูสวัด (Shingles) เรียกอีกชื่อว่า ซอสเตอร์ (Zoster) หรือเฮอร์ปิส ซอสเตอร์ (Herpes Zoster) คือโรคผิวหนังชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus : VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส (Chicken pox)

โรคงูสวัด

โดยเชื้อชนิดนี้ติดต่อกันจากการสัมผัสกับบุคคลที่ติดเชื้อ แม้โรคงูสวัดเป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้เกิดผื่นที่เจ็บปวดมาก ส่วนมากจะเป็นตุ่มพุพองตามแนวยาวด้านหนึ่งของลำตัว

งูสวัดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาทันท่วงที

ยิ่งพบแพทย์ไว ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน

 

สาเหตุของโรคงูสวัด

โรคงูสวัด เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยมีความแตกต่างอยู่ที่อีสุกอีใสนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

แต่งูสวัดจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น เมื่อเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจนเกิดเป็นอีสุกอีใสแล้ว เชื้อดังกล่าวก็จะเข้าไปหลบตามปมประสาท ทำให้กลายเป็นโรคงูสวัดได้ในภายหลัง

และกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ใช้การรักษาด้วยยาบางชนิด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติจึงทำให้เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าคนทั่วไป

สาเหตุของโรคงูสวัด
CR. https://www.health24.com/Medical/infectious-diseases/Viral-infections/Approximately-90-of-adults-are-at-risk-for-shingles-20150220

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคงูสวัด

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดมากกว่าผู้อื่น ได้แก่

-ผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่ำลงทำให้เสี่ยต่อโรคงูสวัดได้ง่าย

-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) หรือผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV/AIDS)

-ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ (Steroid) หรือยาอื่น ๆ ที่ได้หลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplant)

เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ จึงทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปค่ะ

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคงูสวัด

 

อาการของโรคงูสวัด

อาการของโรคงูสวัดมักจะเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเล็ก ๆ ของร่างกายฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นในฝั่งร่างกายเดียวกัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัวและมีไข้ จากนั้นจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง

บางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย เมื่อใช้มือสัมผัสแล้วจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงระยะฟักตัว จากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ บริเวณที่ปวดจะมีผื่นสีแดงขึ้น ก่อนจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ในเวลาอันรวดเร็วโดยตุ่มน้ำอาจเกิดขึ้นในลักษณะเป็นกลุ่ม

และเรียงเป็นเส้นยาวไปตามแนวของเส้นประสาท

บริเวณที่พบผื่นงูสวัดได้มากที่สุด คือ

บริเวณที่พบผื่นงูสวัดได้มากที่สุดคือบริเวณอกและเอวข้างใดข้างหนึ่ง บางครั้งอาจมีผื่นขึ้นที่บริเวณใบหน้า ลำคอ หรือในดวงตาได้อีกด้วย หลังจากนั้นตุ่มที่เป็นก็จะแตกและตกสะเก็ด โดยจะใช้เวลาเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์แผลถึงจะหายเป็นปกติค่ะ

 

อาการแทรกซ้อนของงูสวัด มีดังนี้

-หากผู้ป่วยมีการแกะ เกา หรือดูแลผื่นไม่ถูกต้อง อาจเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้า และอาจจะเกิดเป็นแผลลุกลามเพิ่มเติมได้

-ในรายที่มีภาวะงูสวัดขึ้นตา อาจทำให้บริเวณกระจกตาเกิดการอักเสบได้ รวมถึงเกิดต้อหิน ประสาทตาอักเสบที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

-ในรายที่มีเป็นงูสวัดบริเวณหู อาจทำให้เกิดการอัมพาตครึ่งซีกหน้าได้ นอกจากนั้นยังมีอาการบ้านหมุน อาเจียน ตากระตุกเพิ่มด้วย

-ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคงูสวัดอาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ในผู้ป่วยงูสวัดที่เป็นสตรีมีครรภ์ เชื้อไวรัสอาจจะสามารถแพร่กระจายไปยังทารกได้ ก่อให้เกิดความผิดปกติ อาทิ มีแผลเป็นตามตัว แขน ขาลีบ ศีรษะเล็ก อีกทั้งมีปัญหาทางสมองได้

 

ข้อควรระวังเมื่อป่วยเป็นงูสวัด

-หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน เนื่องจากขณะที่ป่วย เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าแผลจะหายดี

-หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้เด็กเล็ก เพราะอาจทำให้เด็กติดเชื้อและป่วยเป็นอีสุกอีใส

-หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์ เพราะหญิงตั้งครรภ์อาจได้รับเชื้อและป่วยเป็นอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์

-หลีกเลี่ยงการแกะ แคะ เกา แผล เพราะจะทำให้แผลหายช้าและยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มเติมด้วย

-หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างผิวหนังที่เป็นผื่นกับเสื้อผ้า เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดมากขึ้น

-ไม่ควรฉีดพ่น หรือทายาใด ๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์ลงบนผื่นตุ่มน้ำงูสวัด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงยิ่งขึ้น

-ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้อาการบรรเทาลงโดยเร็วที่สุด

 

การรักษาโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัด ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

1.ทานยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด

ควรรับประทานยา อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) วันละ 5 ครั้ง ทุก 4 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 7-10 วัน หรือ รับประทานยาต้านไวรัส วาลาซิโคลเวียร์ (valaciclovir) หรือ แฟมซิโคลเวียร์ (famciclovir) วันละ 3 ครั้ง จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้

2.การอาบน้ำ

ควรอาบน้ำเย็นและใช้ครีมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของคาลาไมน์จะช่วยบรรเทาอาการคันได้ หากมีอาการปวดแสบปวดร้อนให้ประคบเย็นที่ตุ่มจะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนลงได้

3.ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ

ระยะเป็นตุ่มน้ำใส ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลืออุ่น ๆ แล้วนำไปประคบแผลไว้ประมาณ 5-10 นาที โดยประคบวันละ 3-4 ครั้ง น้ำเกลือจะทำให้แผลแห้งได้เร็วยิ่งขึ้น ถ้ามีอาการปากเปื่อย ลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก

ส่วนในระยะตุ่มน้ำแตกแล้วมีน้ำเหลืองไหลออกมา ต้องระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่แผล และควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่แผลได้

4.รับประทานยาแก้ปวด

ถ้าผู้ป่วยที่ปวดแผลมากและมีภูมิคุ้มกันปกติ สามารถทานยาพาราเซตามอลแก้ปวดได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไป

5.ไม่แกะเกาแผล

ไม่ควรแกะเกาตุ่มงูสวัดอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและทำให้แผลหายช้า ควรตัดเล็บให้สั้นและอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด

6.การแต่งกาย

ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าแบบหลวม ๆ ไม่รัดแน่นจนเสียดสีกับผิวเพราะจะทำให้เจ็บปวดบริเวณผิวหนังได้

7.การฉีดวัคซีนป้องกัน

ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ และผู้ที่เคยป่วยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ควรฉีดเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำอีกค่ะ

8.อาหารที่ไม่ควรกิน

ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ช็อคโกแลต ถั่ว ขนมหวาน แอลกอฮอล์ กาแฟ อาหารฟาสต์ฟู้ด เพราะอาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นโรคงูสวัดให้เป็นมากขึ้นได้ค่ะ

9.ยาสมุนไพร

มีการศึกษาและค้นพบว่าสมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคงูสวัดได้และสมุนไพรไทยที่เรากล่าวถึงนั่นก็คือ พญายอ และฟ้าทะลายโจร สมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคงูสวัดได้

เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคจากไวรัส โดยทานยาฟ้าทะลายโจรก่อนอาหาร 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ ส่วนครีมพญายอให้นำมาทารักษาแผลจะช่วยให้หายเร็วขึ้นค่ะ

การป้องกันโรคงูสวัด

วิธีป้องกันงูสวัดที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน โดยกว่า 99% ของการเป็นโรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ฉะนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสก็จะช่วยป้องกันโรคงูสวัดได้ และวิธีป้องกันโรคงูสวัดที่เราสามารถปฏิบัติได้ตนเอง มีดังนี้

-ควรดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

-พักผ่อนให้เพียงพอ

-หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

-ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

 

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถห่างไกลโรคงูสวัดได้แล้วค่ะ แต่หากสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคงูสวัดก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะหรืออยู่หางผู้คนจนกว่าแผลจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

หากคนใกล้ชิดเป็นโรคงูสวัดและเราไม่เคยเป็นมาก่อนก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าอยู่ใกล้เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ค่ะ

โรคงูสวัดอาจจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงนัก แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการป้องกันการเกิดโรคงูสวัดก็คือ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดและดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคงูสวัดได้แล้วค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.pobpad.com/งูสวัด
2. https://www.honestdocs.co/shingles-symptoms-treatment-prevention
3. https://www.sanook.com/health/3797/
4. https://www.honestdocs.co/shingles-do-not-eat-anything-how-should-i-behave
5. https://today.line.me/th/pc/article/10+วิธีการดูแลรักษา+โรคงูสวัด+เบื้องต้นแบบง่ายๆ+ได้ด้วยตัวเอง-KYlB8R