โรควัณโรค (Tuberculosis)คือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรควัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรุนแรง สามารถติดต่อกัน โดยผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การไอ การจาม หรือ การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยสถิติของคนที่เสียชีวิตจากวัณโรคถือเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก และ วัณโรค เป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทย แต่ไม่ติด 10 อันดับสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย
แต่องค์การอนามัยโลกก็จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงมากตั้งแต่ปี 2521 โรควัณโรคมักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติด และ แสดงอาการได้ง่าย
สาเหตุของวัณโรค
วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “Mycobacterium Tuberculosis” สามารถแพร่กระจายในอากาศจากคนสู่คน โดยเชื้อแบคทีเรีย สามารถแพร่กระจาย โดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และ การหายใจ หากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น เรามาดูปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อวัณโรคกันค่ะ
-อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด
-มีการสัมผัส หรือ ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
-เคยพักอาศัย หรือ เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก
-มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น การติดเชื้อ HIV
-มีสุขภาพที่ไม่ดี เนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ติดยาเสพติด พิษสุราเรื้อรัง
-ผู้ที่มีอายุน้อยมาก หรือ ชรามาก เพราะสุขภาพจะอ่อนแอกว่าคนอื่น
อาการของโรควัณโรค
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไมโครแบคทีเรียทูเบอร์คูโลซิสแล้ว จะไม่มีอาการให้เห็นโดยทันที อาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าผู้ป่วยจะมีอาการ และ อาจจะใช้เวลานาน กว่าอาการของโรควัณโรคจะเริ่มแสดงให้เห็นบางรายใช้เวลานับเดือน หรือหลายปี ซึ่งวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ระยะแฝง (Latent TB)
ในระยะแฝงนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็น เพราะเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น แต่เชื้อแบคทีเรียจะยังคงอยู่ในร่างกาย หากแพทย์ตรวจพบเชื้อในระยะแฝงจะให้เข้ารับการรักษา และ ควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ โดยที่ผู้ป่วยกว่า 90% จะไม่มีอาการ
และ มีเพียง 10% เท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค และ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีการพัฒนาเชื้อจะป่วยหลังจากได้รับเชื้อภายใน 2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก และ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำส่วนที่เหลืออาจแสดงอาการหลังติดเชื้อหลายปี
2. ระยะแสดงอาการ (Active TB)
คือระยะที่เชื้อแบคทีเรียได้รับการกระตุ้นจนแสดงอาการออกมา สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ และ เชื้อนี้สามารถแสดงอาการได้ทั้งในปอด และ ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่ปอด โดยจะแสดงอาการดังนี้
– มีอาการไอ ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
– มีอาการไอเป็นเลือด
– อ่อนเพลีย
– มีอาการเจ็บหน้าอก ขณะหายใจ หรือ ไอ
– มีไข้หนาวสั่น
– น้ำหนักลดอย่างไม่มีเหตุผล
– ความอยากอาหารลดลง
– มีเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
ในส่วนกรณีที่เชื้อแสดงอาการกับอวัยวะหลายส่วน เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก และ ข้อ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ กระเพาะปัสสาวะ หรือ อาจเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งระบบประสาท และ สมองจะมีอาการดังนี้
-ปวดบริเวณท้อง
-ไม่สามารถเคลื่อนไหว บริเวณกระดูก หรือ ข้อต่อที่เกิดการติดเชื้อวัณโรคได้
-มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมขึ้นเรื่อย ๆ
-ปวดศีรษะเรื้อรัง สับสน มึนงง
-มีอาการชัก
หากเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปบริเวณกระดูกสันหลัง จะทำให้เกิดอาการ ปวดหลัง หรือ หากแพร่ไปยังไต ก็จะทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ การติดเชื้อวัณโรคในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายนั้น เกิดขึ้นได้น้อย มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด
การวินิจฉัยโรควัณโรค
– การวินิจฉัยด้วยตนเอง หากอยู่ในระยะแฝงไม่สามารถวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ โดยจะสังเกตความผิดปกติได้เมื่ออยู่ในระยะแสดงอาการ และ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์
– การวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะตรวจดูลักษณะของต่อมน้ำเหลืองว่ามีอาการบวมหรือไม่ และ แพทย์จะฟังการทำงานของปอดในขณะที่หายใจ จากนั้นแพทย์จะมีการคัดกรองวัณโรค (Purified Protein Derivative : PPD) ที่สามารถบอกได้ว่าร่างกายมีเชื้อวัณโรคหรือไม่ วิธีนี้จะใช้กับเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
หากได้รับผลบวก แสดงว่ามีโอกาสที่วัณโรคจะลุกลามได้ง่ายกว่าในส่วนของผู้ใหญ่ แพทย์จะฉีดยาซึ่งเป็นโปรตีนสกัดจากเชื้อวัณโรคใต้ชั้นผิวหนัง บริเวณท้องแขน และ ปล่อยทิ้งไว้ 48 – 72 ชั่วโมง และ อาจจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม
เพราะการตรวจทางผิวหนัง อาจทำให้ผลลวงได้ จึงต้องตรวจด้วยวิธีอื่น เพื่อยืนยันและหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะติดเชื้อวัณโรค แพทย์ก็จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อความแน่ใจ โดยแพทย์จะใช้วิธีดังนี้
-การตรวจเลือด จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคในระยะแฝง หรือ ระยะแสดงอาการ
-การเอกซเรย์ปอด แพทย์จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของปอด ซึ่งจะช่วยบอกว่าเป็นวัณโรคปอดหรือไม่
-การตรวจเสมหะ เมื่อเอกซเรย์ปอดยืนยันผลแล้ว แพทย์จะสั่งตรวจเสมหะเพิ่มเติม โดยแบ่งการตรวจออกเป็น 2 แบบคือ ตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ อีกวิธีคือ การเพาะเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สั่งจ่ายยาที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยการตรวจนี้จะกินเวลาประมาณ 4 – 8 สัปดาห์
-การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ การอัลตราซาวด์ ซึ่งแพทย์จะเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อวัณโรคตามอวัยวะต่าง ๆ ได้
-การตรวจด้วยการส่องกล้อง การส่องกล้องจะช่วยให้เห็นร่องรอยของการติดเชื้อวัณโรคได้ มักจะใช้กับผู้ป่วยวัณโรคที่มีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น ๆ
-การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
-การตรวจน้ำไขสันหลัง การเจาะน้ำไขสันหลังจะช่วยให้แพทย์ยืนยันผลได้ชัดเจนขึ้นใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของวัณโรคที่สมอง และ ระบบประสาท
การรักษาโรค
การรักษาวัณโรค จะมุ่งเน้นไปที่การใช้ยา ซึ่งการรับประทานอย่างถูกต้อง และ สม่ำเสมอจะช่วยควบคุม และ รักษาโรคได้ โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษาวัณโรค ได้แก่
-ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
-ไรแพมพิซิน (Rifampicin)
-อีแทมบูทอล (Ethambutol)
-ไพราซินาไมค์ (Pyrazinamide)
หากการรักษาด้วยยาแล้วผู้ป่วยมีอาการดื้อยา จะต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือ เพิ่มตัวยาเพื่อใช้ในการรักษา ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยดื้อยามักใช้ยา สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และ ยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin)
การรักษาวัณโรคด้วยยาเป็นยาที่มีผลข้างเคียง มีสารที่เป็นพิษต่อตับ ซึ่งในระหว่างการรักษา แพทย์จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการข้างเคียงที่พบได้แก่คลื่นไส้ อาเจียน คัน นอนไม่หลับ และ หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
– ผิวซีดเหลือง
– ปัสสาวะมีสีเข้ม
– ความอยากอาหารลดลง
– หายใจลำบาก
– มีไข้ติดต่อกัน 3 วันโดยไม่ทราบสาเหตุ
– มีอาการบวมที่หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือ คอ
– รู้สึกว่าหน้าท้องมีอาการแข็ง หรือ บวมผิดปกติ
– มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เช่น เห็นสีผิดปกติ เห็นภาพไม่ชัด
ผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างใกล้ชิด ในช่วงระหว่างที่รักษาด้วยยาเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง หากพบอาการที่กล่าวข้างต้น ต้องรีบแจ้งแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้กำหนดแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคอาจแตกต่างกันไป แต่ต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยจะต้องมีการตรวจเสมหะ และ เอกซเรย์ปวดเป็นระยะ
การป้องกันโรควัณโรค
โรควัณโรค สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และ หากมีความจำเป็นต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย และยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งวัคซีนบีซีจีจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับ เมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังฉีดไปแล้ว 4 – 6 สัปดาห์
และสามารถอยู่ได้นาน 10 ปี สามารถป้องกันวันโรคได้ประมาณ 80% และยังลดความเสี่ยงโรควัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็กได้ แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้ว ก็ยังเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคปอดได้
หลังจากฉีดวัคซีนบีซีจีแล้ว จะต้องเว้นระยะการฉีดวัคซีนที่แขนข้างที่ฉีดอย่างน้อย 3 เดือน และ หลังจากได้รับวัคซีนแล้วผู้ได้รับวัคซีนจะรู้สึกไม่สบายเนื้อ
ไม่สบายตัวหลังจากฉีดวัคซีนจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้น และ แตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ และ จะหายเป็นปกติ ซึ่งในช่วงนี้การป้องกันของวัคซีนจะยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าอาการต่าง ๆ จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://pantip.com/topic/37117220
2. https://www.pobpad.com/วัณโรค/การป้องกันวัณโรค