HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคพาร์กินสันคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคพาร์กินสันคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคพาร์กินสัน 

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า “โดพามีน” (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการตายและลดจำนวนลง

โรคพาร์กินสัน 
CR. https://www.bloomingyourlifestyle.com/parkinsons-disease-symptoms-causes/

จึงทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายช้า และสูญเสียการทรงตัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้า ๆ และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

แต่หากได้รับการวินิจฉัยโรคและรับการดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยชะลออาการของโรคและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และจะพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าวัย 70 ปีขึ้นไป จะพบได้บ่อยขึ้น โรคนี้สามารถพบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

 

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

โรคนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความชราภาพของสมอง ซึ่งพบว่าเซลล์สมองส่วนที่สร้างโดพามีน (Dopamine) ที่มีชื่อว่า “เซลล์ประสาทสีดำ” (Substantia nigra) ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวที่อยู่ในส่วนลึกของก้านสมองมีการตายและลดจำนวนลง

เป็นเหตุทำให้สมองพร่องสารโดพามีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้า และสูญเสียการทรงตัว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์สมองส่วนดังกล่าว

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดพาร์กินสันอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดพาร์กินสันได้ ได้แก่

– ปัจจัยทางพันธุกรรม ในรายที่มียีนผิดปกติอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพาร์กินสันได้

– ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับสารบางอย่างเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะโดยการสูดดมหรือการรับประทาน หากแต่ยังไม่ทราบว่าสารใดในสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนทำให้เกิดพาร์กินสัน

 

อาการของโรคพาร์กินสัน

อาการหลักที่สังเกตได้ชัดเจน คือ อาการสั่นที่มือ แขน ขา คางและริมฝีปาก กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาหรือลำตัวแข็งเกร็งทำให้ไม่สามารถขยับได้ เคลื่อนไหวช้า เสียสมดุลในการทรงตัว และกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน เมื่ออาการเหล่านี้หนักขึ้น

อาการของโรคพาร์กินสัน
CR. https://www.medicalnewstoday.com/articles/323396.php

ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันลำบาก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญปัญหากับการเคลื่อนไหว และการนอนตอนกลางคืนไม่ดี เช่น นอนละเมอ นอนกรน ร่วมกับปัญหาด้านการดมกลิ่น ท้องผูก รวมทั้ง มีอาการซึมเศร้า หดหู่ หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการเกร็งร่างกายขยับลำบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

 

การวินิจฉัยพาร์กินสัน

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นพาร์กินสันต้องอาศัยการซักถามประวัติและการตรวจร่างกาย เริ่มจากการวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นพาร์กินสันแท้ หรือพาร์กินสันเทียม เนื่องจากมีกลุ่มอาการที่คล้ายพาร์กินสัน และในปัจจุบัน แพทย์สามารถเจาะเลือดและสแกนสมอง CT หรือ MRI เพื่อวินิจฉัยแยกโรค

การวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน
CR. https://www.invisionapp.com/inside-design/ux-parkinsons-disease/

รวมทั้งใช้เทคโนโลยี PET Scan มาช่วยยืนยันพาร์กินสันได้อีกวิธีหนึ่งโดยการฉีดสารโดพามีนให้จับกับรังสี หรือเอฟโดป้า (F-DOPA) เพื่อดูว่ามีสารดังกล่าวอยู่ในปริมาณมากน้อยแค่ไหนเข้าข่ายเป็นพาร์กินสันแท้ หรือพาร์กินสันเทียม หรือเป็นพาร์กินสันในระยะใด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาได้ถูกต้องค่ะ

 

การรักษาพาร์กินสัน

พาร์กินสันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเซลล์เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย แต่มีวิธีการรักษาที่จะช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ทุเลาลง เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน และการรักษามีด้วยกัน ดังนี้

การรักษาโรคพาร์กินสัน
CR. https://wfneurology.org/2019-11-19-wfn

1.การรักษาด้วยยา

ยารักษาพาร์กินสันต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้นและมีตัวยา ดังต่อไปนี้

-คาร์บิโดปา-ลีโวโดปา (Carbidopa-Levodopa) ยาลีโวโดปาเป็นสารเคมีธรรมชาติที่เมื่อผ่านเข้าสู่สมองแล้วจะกลายเป็นโดปามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสำคัญที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ส่วนคาร์บิโดปาเป็นยาที่ใช้รักษาร่วมกับลีโวโดปา โดยจะออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้โดปามีนถูกทำลายภายนอกสมอง

-โดปามีน อะโกนิสต์ (Dopamine Agonists) เป็นยากระตุ้นตัวรับโดปามีน ทำงานต่างจากลีโวโดปาที่กลายเป็นโดปามีน แต่ยากลุ่มนี้จะทำหน้าที่แทนโดปามีนในร่างกาย เพื่อลดอาการที่เกิดจากภาวะพาร์กินสัน ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ พรามิเพรกโซล (Pramipexole)

-ยายับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี (MAO-B Inhibitors) เช่น เซเลกิลีน ช่วยป้องกันการลดระดับโดปามีนในสมองด้วยการยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่จะเผาผลาญทำลายสารโดปามีน

-แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) (Catechol-O-Methyltransferase: COMT Inhibitors) เช่น Entacapone ยานี้จะช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานของยาลีโวโดปา ด้วยการป้องกันไม่ให้เอนไซม์ทำลายโดปามีนที่ถูกสร้างขึ้น

-ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergics) จะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีนที่ส่งผลต่ออาการต่าง ๆ ของพาร์กินสัน เช่น ยาเบนซ์โทรปีน ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล โดยอาจมีผลข้างเคียงเกิดอาการสับสนมึนงง ท้องผูก ปัสสาวะยาก หรือปากแห้ง เป็นต้น

-ยาอะแมนตาดีน (Amantadine) หากอาการของพาร์กินสันเกิดขึ้นในระยะแรกเริ่มและไม่รุนแรง ในระยะสั้น แพทย์อาจจ่ายยาอะแมนตาดีน หรืออาจใช้ร่วมกับยาคาร์บิโดปา-ลีโวโดปา เพื่อรักษาควบคุมอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Dyskinesias) โดยการใช้ยาอาจมีผลข้างเคียงอย่างมีจุดเป็นจ้ำสีม่วงที่ผิวหนัง ข้อเท้าบวม

การรักษาดูแลรักษาอื่นนอกจากยา

2.การรักษาดูแลรักษาอื่นนอกจากยา

-กายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะคอยดูแลและฝึกฝนให้ผู้ป่วยหัดใช้กล้ามเนื้อและทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้คล่องขึ้น เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งและอาการปวดบริเวณข้อต่อ

-อาชีวะบำบัด นักอาชีวะบำบัดจะดูแลและช่วยเหลือในด้านทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ดูแลจัดการในด้านความเป็นอยู่ ให้ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพาร์กินสัน และป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตราย

-อรรถบำบัด นักบำบัดจะช่วยแก้ไขปรับปรุงปัญหาเกี่ยวกับปาก อย่างการพูดและการกินอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีอาการกลืนลำบาก (Dysphagia) และพูดไม่คล่อง นักบำบัดจะสอนวิธีการพูด การกิน และการออกกำลังกายบริหารปากให้แก่ผู้ป่วย

-แนวทางการบริโภคอาหาร ผู้ป่วยพาร์กินสันอาจไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อรับคำแนะนำในการบริโภคอาหาร เพื่อจัดการกับปัญหาและอาการที่เกิดขึ้นจากการป่วย เช่น ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงอย่างพวกผักผลไม้เพื่อลดปัญหาท้องผูก เพิ่มปริมาณเกลือในอาหาร โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อย ๆเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิด

 

3.การผ่าตัด

แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation: DBS) ในผู้ป่วยบางราย โดยจะผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงไปในสมอง เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการพาร์กินสัน

การผ่าตัด

โดยกระบวนการทำงานจะเชื่อมต่อกับขั้วไฟฟ้าอีกตัวที่ถูกฝังอยู่ในหน้าอกบริเวณใกล้กับกระดูกไหปลาร้า ขั้วไฟฟ้าจะส่งคลื่นไฟฟ้าไปยังสมอง ช่วยลดอาการพาร์กินสันที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถหยุดการพัฒนาโรคและการเสื่อมของสมองที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของพาร์กินสัน

-กลืนลำบาก

-ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

-ท้องผูก

-มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน

-มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน

-ประสาทการรับกลิ่นมีปัญหา

-อ่อนเพลียง่าย เจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

-มีความต้องการและการแสดงออกทางเพศลดลง

-ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง

อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดและการจำ (Dementia)

 

การป้องกันโรคพาร์กินสัน

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน จึงไม่มีวิธีการป้องกันโรคได้ 100% แต่การป้องกันพาร์กินสันด้วยตนเองทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม

-หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันและเนื้อแดง

-รับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มาก ๆ

เมื่อปฏิบัติตามหัวข้อด้านบนได้อาจช่วยลดโอกาสในการเกิดหรือลดความรุนแรงจากอาการของพาร์กินสันลงได้บ้างถึงแม้ว่าจะป้องกันไม่ได้ 100 % แต่ก็ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่งค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://medthai.com/โรคพาร์กินสัน/
2. https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/known-parkinson
3. https://www.pobpad.com/พาร์กินสัน