โรคด่างขาวคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคด่างขาว
โรคด่างขาว เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติกับเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีผิว (Melanocyte) ซึ่งเซลล์ดังกล่าวอาจถูกทำลายหรือหยุดการสร้างเม็ดสีผิว (Melanin) จึงทำให้เกิดเป็นด่างสีขาวคล้ายน้ำนมตามผิวหนัง และสามารถเกิดขึ้นกับบริเวณใดก็ได้บนร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ใบหน้า คอ มือ หรือตามรอยพับ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดมากหรือน้อยเพียงใด
โรคผิวหนังด่างขาว ส่วนใหญ่จะพบก่อนอายุ 40 ปี และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดจะเกิดโรคก่อนอายุ 20 ปี สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสภาพผิว แต่ผู้ที่มีผิวสีเข้มก็จะทำให้เห็นได้เด่นชัด อย่างไรก็ตาม โรคผิวหนังด่างขาวเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ขาดความมั่นใจ และการรักษาจะช่วยทำให้รอยด่างขาวที่ปรากฏลดน้อยลงได้แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
สาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังด่างขาว
สาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังด่างขาวยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดแต่ก็อาจจะเป็นจากสาเหตุของเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเม็ดสีผิว (Melanin) อาจหยุดทำงานหรือถูกทำลาย และสาเหตุอาจเกิดจากปัจจัย ดังต่อไปนี้
– เกิดจากโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง หรืออีกชื่อเรียกคือ “โรคพุ่มพวง” (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) หรือ “โรคลูปัส” (Lupus) ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ป้องกันร่างกายหันมาโจมตีเซลล์ที่สร้างเม็ดสี
– โรคไทรอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายทำร้ายตนเอง และเป็นโรคที่มักเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังด่างขาวบ่อยที่สุด เพราะโรคด่างขาวที่เกิดกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ยังเป็นสัญญาณของโรคต่อมไทรอยด์ในวัยเด็กได้ด้วย
– พันธุกรรม โดยพบว่าโรคผิวหนังด่างขาวมักเกิดขึ้นเมื่อมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
– การสัมผัสกับสารเคมีอุตสาหกรรม
– การถูกแสงแดด
– ความเครียด
– การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคผิวหนังด่างขาวได้
อาการของโรคผิวหนังด่างขาว
อาการของโรคผิวหนังด่างขาว มักจะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากมีผิวซีดและค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนเป็นด่างขาวโดยมักไม่มีผื่นคันนำมาก่อน อาจมีจุดกึ่งกลางของด่างขาวเป็นสีขาวและรายล้อมด้วยสีซีด แต่รอยด่างขาวอาจเป็นสีชมพูอ่อนหากเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีหลอดเลือดอยู่มาก โดยลักษณะของผิวหนังอาจเรียบหรือไม่เรียบก็ได้
อย่างไรก็ตาม อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป รูปร่างรอยด่างอาจกลม รี หรือเป็นเส้นยาวก็ได้ มีขนาดต่างกันตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ อาจมีวงเดียวหรือหลายวง กระจายได้ทั่วตัว และมักจะเริ่มเกิดขึ้นบริเวณผิวที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น มือ แขน เท้า ใบหน้าและริมฝีปาก
ชนิดของโรคผิวหนังด่างขาว
โรคผิวหนังด่างขาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.โรคผิวหนังด่างขาวเฉพาะที่
โรคผิวหนังด่างขาวเฉพาะที่อาจพบรอยโรคอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายเป็นชนิดของอาการค่อนข้างคงที่ไม่ลุกลาม
2.โรคด่างขาวกระจายทั่วตัว
เป็นชนิดที่พบบ่อย พบรอยโรคกระจายทั้งสองด้านของร่างกาย อาจพบรอยโรคบริเวณมือ เท้า ปากหรือบางรายอาจพบรอยโรคทั่วตัว เป็นชนิดที่มีโอกาสลุกลามมากกว่าชนิดอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคผิวหนังด่างขาว
เมื่อคุณมีอาการคุณควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแพทย์จะเริ่มจากซักประวัติรวมถึงสอบถามว่าคุณเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคผิวหนังด่างขาว หรือเป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเองหรือไม่ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างผลเลือดเพื่อนำไปตรวจโรคไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน และตรวจตาเพิ่มเติม
รวมถึงอาจมีการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อหาโอกาสการเกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจต้องการวินิจฉัยในรูปแบบอื่นด้วย เพื่อตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่สามารถเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังด่างขาว หรือมีอาการคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังด่างขาวได้
นอกจากการตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว คุณควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการใช้ยา อาหารเสริม อาหารที่รับประทาน และการรักษาโรคอื่น ๆ ให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างถูกวิธี
การรักษาโรคผิวหนังด่างขาว
ในปัจจุบันมีการรักษาโรคผิวหนังด่างขาวหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณรอยโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาที่ใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้
1.รักษาด้วยยาเฉพาะที่ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาทาโครลิมัส ยาไพมิโครลิมัส
2.การฉายแสงอาทิตย์เทียมอัลตราไวโอเลตบี ชนิดคลื่นแคบ (narrowband UVB) เป็นการรักษาหลักในโรคผิวหนังด่างขาวชนิดกระจายโดยสามารถฉายแสงอาทิตย์เทียมเฉพาะรอยโรคที่เป็น หรือฉายทั่วทั้งตัวได้
3.การรับประทานยา เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาต้านอนุมูลอิสระ จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการลุกลามของโรคผิวหนังด่างขาว
4.การผ่าตัดปลูกถ่ายเม็ดสี (Melanocyte-KeratinocyteTransplantation Procedure:MKTP) ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและมีอาการคงที่ ไม่ลุกลาม
5.การใช้เครื่องสำอาง ช่วยปกปิดรอยโรค มักแนะนำให้ใช้ในตำแหน่งที่ตอบสนองไม่ดีหรือดื้อต่อการรักษา
ผลการรักษาเป็นอย่างไร
หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา จะพบจุดสีน้ำตาลขึ้นบริเวณรอยโรคผิวหนังด่างขาว หรืออาจสังเกตเห็นรอยโรคผิวหนังด่างขาวมีขนาดเล็กลง การตอบสนองจะขึ้นกับตำแหน่งของด่างขาวเป็นสำคัญ โดยด่างขาวบริเวณใบหน้า คอ ลำตัวจะตอบ สนองได้ดีกว่าด่างขาวบริเวณมือ เท้าและเยื่อบุ
การป้องกันโรคผิวหนังด่างขาว
เนื่องจากโรคผิวหนังด่างขาวไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลผิวหนังให้ดูดีขึ้นหรือไม่ทำให้อาการแย่ลงได้ โดยมีวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
1.ปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสียูวี (UV)
ด้วยการใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) อย่างน้อย 30 ขึ้นไป และควรใช้เป็นประจำ ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือใช้บ่อยขึ้นหากต้องว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออกมาก
นอกจากนั้นอาจสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะการถูกแดดเผาอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ที่สำคัญครีมกันแดดยังช่วยให้สีผิวไม่คล้ำลง ทำให้ความแตกต่างของสีผิวปกติกับสีผิวเกิดด่างขาวไม่แตกต่างกันเกินไป
2.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกปิดผิว
เช่น ใช้เครื่องสำอาง ช่วยให้บริเวณผิวที่ปรากฏด่างขาวดูดีขึ้นและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจขึ้นได้ ควรทดลองใช้ให้หลากหลายยี่ห้อจนกว่าจะเจอที่เหมาะสมกับตนเอง
3.หลีกเลี่ยงการสักลายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคผิวหนังด่างขาว
เพราะเสมือนเป็นการทำร้ายผิว และอาจทำให้เกิดรอยด่างขาวใหม่ขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังด่างขาว อาจเกิดความเครียด เสียความมั่นใจ หรือรู้สึกแย่กับอาการที่เกิดขึ้น จนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้ที่มีรอยด่างขาวแพร่กระจายไปทั่วร่างกายหรือปรากฏบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ใบหน้า มือ แขน และเท้า และวิธีป้องกันอีกแบบที่เราอยากแนะนำให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังด่างขาวได้นำไปปฏิบัติ มีดังนี้
– ติดต่อกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาจะทำให้ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาได้อย่างทันท่วงที
– พยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และศึกษาทางเลือกในการรักษาให้มากที่สุด เพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจหรือปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
– ควรเล่าหรือระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะแพทย์จะสามารถแนะนำหรือส่งตัวไปให้ผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิตได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้
– เข้าร่วมกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคผิวหนังด่างขาว ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้ติดต่อพูดคุยเพื่อขอคำแนะนำต่าง ๆ กับผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังด่างขาวคนอื่นได้
– ควรให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนที่ไว้ใจมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วย เพราะความเข้าใจและการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป
โรคผิวหนังด่างขาวเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่สามารถป้องกันให้อาการดีขึ้นได้ หากเป็นมากเกินการรักษาด้วยตนเองคุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไปค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก…
1. https://www.pobpad.com/โรคด่างขาว
2. https://www.honestdocs.co/what-is-vitiligo
3. https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/626_49_1.pdf