โรคตับแข็งคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
โรคตับแข็ง คือภาวะที่เกิดขึ้นของโรคตับ ซึ่งเกิดจากการที่ตับได้รับความเสียหาย เนื้อเยื่อตับถูกทำลายเป็นระยะเวลานานจากหลายสาเหตุ จนเกิดแผลเป็นและเกิดพังผืดขึ้น
มีลักษณะแข็งกว่าปกติ ส่งผลให้การทำงานของตับลดลง ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งเมื่อเกิดโรคตับแข็งขึ้น การทำงานของตับจะลดลงจนก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
Table of Contents
สาเหตุของโรคตับแข็ง
-โรคตับแข็งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่ส่งผลต่อการทำงานของตับและนำไปสู่การเกิดโรคตับแข็งมากที่สุดจากการดื่มแอลกอฮอล์จัดติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่าวันละ 80 กรัม นาน 5-10 ปีขึ้นไป) โดยประมาณ 60-70 % ของตับแข็งจะเกิดจากสาเหตุนี้เป็นส่วนใหญ่
ซึ่งเมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมาก ๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง
-จากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 10 %
-จากโรคต่าง ๆ ของท่อน้ำดี ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้ประมาณ 10 % เช่น ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ท่อน้ำดีอุดตัน ซึ่งทำให้น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปที่ตับส่งผลทำลายเนื้อตับจนกลายเป็นตับแข็งได้
-จากภาวะร่างกายมีธาตุเหล็กสูง ธาตุเหล็กจึงไปสะสมในตับส่งผลให้เกิดโรคตับแข็ง เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย
-จากโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคตับอักเสบจากภูมิต้านตนเอง โรคไขมันพอกตับ (Fatty liver) ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบหดรั้งเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากมีการสะสมธาตุทองแดงมากเกินไปในตับ จนเนื้อตับอักเสบและตายหรืออาจเกิดตับแข็ง
การที่ตับติดเชื้อบางชนิด ซึ่งไข่ของพยาธิที่อยู่บริเวณกลุ่มหลอดเลือดจะกระตุ้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันให้เจริญเกินจนตับกลายเป็นพังผืดจากพยาธิ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะความดันในหลอดเลือดของตับสูง
ภาวะขาดโภชนาการ ความผิดปกติของการเผาผลาญอาหาร การใช้ยาเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน การได้รับสารเคมีหรือสารพิษบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
อาการของโรคตับแข็ง
-โรคตับแข็งระยะแรก
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหรือมีอาการผิดปกติน้อยมากหรือไม่ชัดเจน โดยอาจมีเพียงอาการท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย แต่ต่อมาเป็นแรมปีจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนเป็นบางครั้ง น้ำหนักตัวลดลง เท้าบวม ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวาเล็กน้อย
ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) คันตามผิวหนัง ความรู้สึกทางเพศลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว
หรือมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือองคชาตไม่แข็งตัว (Erectile dysfunction) ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีอาการเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชาย
-โรคตับแข็งระยะสุดท้าย
เมื่อเป็นโรคตับแข็งอยู่หลายปีหรือยังดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ป่วยจะมีอาการท้องมาน เท้าบวม เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นตัวควบคุมความดันน้ำในหลอดเลือดได้เพียงพอ พังผืดที่ดึงรั้งในตับก็จะมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ มีแรงดันในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดการแตกแขนงเป็นเส้นเล็ก ๆ
ซึ่งจะเปราะบางและแตกได้ง่าย จึงทำให้เห็นเป็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง เกิดหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร (Esophageal varices) ซึ่งอาจจะแตกและทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือดสด ๆ ทำให้เสียเลือดมากและอาจถึงชั้นช็อกและเสียชีวิตได้
ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้ (ตับวาย) ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการทางสมอง เช่น หลงลืมง่าย สับสน ซึม เพ้อ มือสั่น และจะค่อย ๆ ไม่รู้สึกตัวจนกระทั่งหมดสติไป เรียกว่า ภาวะหมดสติจากตับวาย
การรักษาโรคตับแข็ง
การรักษาโรคตับแข็ง ไม่สามารถทำให้ความเสียหายของตับย้อนกลับไปได้เหมือนเช่นเดิม แต่สามารถหยุดยั้งหรือชะลอการเกิดโรค และลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ได้ การรักษาโรคตับแข็งส่วนใหญ่ คือการบรรเทาภาวะแทรกซ้อน
บางสาเหตุที่เป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง เช่น โรควิลสันสามารถรักษาได้ด้วยยาหลายประเภท เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่ม penicillamine และสารต้านการอักเสบ (colchicine) ได้ถูกศึกษาสำหรับการรักษาโรคตับแข็ง
แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถยืดอายุของผู้ป่วย หรือปรับปรุงอัตราการรอดชีวิตได้หรือไม่ สำหรับการรักษาตามภาวะแทรกซ้อนของโรคมีได้ดังนี้
– ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ (Portal hypertension):
บางคนจะได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม beta-blocker เพื่อลดความดันในหลอดเลือด
– น้ำคั่งในช่องท้อง (Ascites)
การไหลเวียนของเลือดผ่านตับที่ช้าลง จะทำให้ความดันในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น แรงดันเหล่านี้จะบังคับให้ของเหลวออกจากหลอดเลือด และเข้าไปสะสมคั่งอยู่ในเนื้อเยื่ออื่น ๆ แพทย์ประจำตัวของคุณอาจจ่ายยาขับปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยขจัดของเหลวออกจากร่างกายของคุณ โดยยานี้จะทำให้คุณปัสสาวะบ่อยขึ้น
แพทย์ประจำตัวของคุณอาจเจาะเข็มลงบนช่องท้องโดยตรง เพื่อเจาะเอาของเหลวจำนวนมากออกมา อย่างไรก็ตาม ของเหลวเหล่านั้นก็จะสามารถกลับมาคั่งได้เช่นเคย หากของเหลวที่คั่งอยู่ติดเชื้อด้วย คุณจะต้องนอนโรงพยาบาลและได้รับยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ
-โรคสมองจากตับ (Hepatic encephalopathy)
หากมีอาการรุนแรง คุณจะต้องนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณรู้สึกสับสน และไม่สามารถดูแลตัวเองได้ คุณจะได้รับ lactulose ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยลดปริมาณสารพิษที่ดูดซึมเข้าสู่ลำไส้ของคุณ คุณจะเริ่มได้รับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำการรักษาทั้ง 2 วิธีนี้ ได้ผลดีใน 75 % ของผู้ป่วยโรคสมองจากตับทั้งหมด
แต่หากอาการไม่รุนแรง คุณอาจตรวจและได้กลับบ้าน โดยถูกแนะนำให้ทานสาร lactulose ทุกวัน และเปลี่ยนอาหารที่ทานให้มีโปรตีนต่ำ ซึ่งจะได้นัดกลับมาตรวจซ้ำหรือกลับมาเมื่อมีอาการ
-ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด (Clotting disorders):
-การได้รับปริมาณโปรตีนที่มากเพียงพอ และการทานวิตามินเสริมสามารถช่วย แก้ไขความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดได้
-การรักษาโรคตับแข็งด้วยการผ่าตัด
รูปแบบการผ่าตัดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดในระยะยาว คือ การผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายตับ (Liver transplantation) ในการผ่าตัดนี้ ตับที่เป็นโรคจะถูกตัดออก และแทนที่ด้วยตับที่มีสุขภาพดีจากผู้บริจาคอวัยวะ
คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจะมีชีวิตรอดต่อได้ยาวนานขึ้น เช่นเดียวกับในขั้นตอนการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ การรักษาเพื่อบรรเทาอาการทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดมีความสำคัญมากในการกำหนดโอกาสสำเร็จของการผ่าตัดดังกล่าว
-ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ (Portal hypertension):
มีการผ่าตัดหลายรูปแบบ ที่สามารถทำได้เพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางการไหลเวียนของเลือดในตับเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด เพื่อช่วยลดความดันในหลอดเลือดตับ อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ การผ่าตัดอาจทำให้ภาวะโรคสมองจากโรคตับ หรือภาวะน้ำคั่งในช่องท้องรุนแรงขึ้นไปอีกได้
-ภาวะเลือดออกจากเส้นเลือดขอด
ถ้าคุณมีเลือดออกจากบริเวณเส้นเลือดขอดตามหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร คุณมีความเสี่ยงสูงที่จะมีเกิดภาวะเสียเลือดมากจนเสียชีวิตได้ คุณจะต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนกว่าภาวะเลือดออกดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุม
หากคุณมีเลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร แสดงถึงโอกาสในการเสียชีวิตสูงถึง 30 – 50 % ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และสูงขึ้นไปถึงประมาณ 80 % หากมีภาวะเลือดออกมากกว่าหนึ่งครั้ง
การป้องกันโรคตับแข็ง
โรคตับแข็ง สามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้โดยปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพพื้นฐานของตัวเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้
-เรียนรู้ความเสี่ยงและปัจจัยในการติดเชื้อของโรคไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี และหลีกเลี่ยงไวรัสเหล่านี้ให้มากที่สุด
-หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเช่น การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การใช้สารเสพติดต่าง ๆ และการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน
-ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้นหากจำเป็น
-พัฒนานิสัยที่ดีต่อสุขภาพ
-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
-รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
-ออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ
-รักษาน้ำหนักของคุณในช่วงที่มีสุขภาพดี
-พูดคุยกับแพทย์ประจำตัวของคุณก่อนที่จะทานวิตามินเสริม การได้รับวิตามินและแร่ธาตุปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินเอ ธาตุเหล็กหรือทองแดง สามารถทำให้ความเสียหายของตับแย่ลงได้
-รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และอาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงสูงในการติดต่อกับโรคดังกล่าวควรได้รับวัคซีนป้องกัน การบังคับให้สร้างภูมิคุ้มกันของเด็กทุกคนต่อโรคตับอักเสบชนิดบีในปัจจุบัน จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคตับแข็งในอนาคตได้
บทสรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับโรคตับแข็ง สามารถป้องกันการเกิดโรคตับแข็งได้ด้วยตัวเรา เพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยในการเกิดโรคตับแข็งได้เป็นอย่างดี หวังว่ารายละเอียดของโรคตับแข็งจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับผู้ต้องการหาข้อมูลต่าง ๆ ของโรคตับแข็ง เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง และห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ ได้ดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://medthai.com/โรคตับแข็ง/
2. https://www.honestdocs.co/cirrhosis-treatment
3. https://www.honestdocs.co/how-to-prevent-cirrhosis