โรคผิวหนังอักเสบคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคผิวหนังอักเสบ
โรคผิวหนังอักเสบ คือการอักเสบแดงคันของผิวหนัง มีสาเหตุแตกต่างกันไปตามชนิดที่เป็น เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เกิดจากความแห้งของผิว โดยอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อที่ผิวหนัง การได้รับอาหารบางอย่าง หรือสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง หรือปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน
ผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซบเดิร์ม และผื่นระคายสัมผัส อย่างไรก็ตาม โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น แต่อาจทำให้รู้สึกคันหรือระคายเคือง และเสียความมั่นใจเพราะลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้
สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบ
สาเหตุของผิวหนังอักเสบ มีดังนี้
1.การอักเสบของผิวหนัง
เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย สารหลายชนิดเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ในบางรายอาจตรวจไม่พบสารที่เป็นสาเหตุ เมื่อเกิดการอักเสบจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของโรค เช่น เป็นชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง
2.โดยทั่วไปสามารถแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค
ออกเป็นสองประเภท สาเหตุจากภายนอกร่างกาย และสาเหตุจากภายในร่างกาย
3.สาเหตุจากภายนอกร่างกาย
เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนมากเป็นสารที่พบเห็นหรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับต่าง ๆ เป็นต้น บางครั้งจึงอาจเรียกว่าผื่นระคายสัมผัส
4.ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย
เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็ก ๆ และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิไวเกินของร่างกาย
อาการของโรคผิวหนังอักเสบ
ผิวหนังอักเสบแต่ละชนิดเกิดขึ้นตามบริเวณร่างกายที่แตกต่างกันไป อาจทำให้มีอาการและลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย และผิวหนังอักเสบบางชนิดพบได้ทั่วไป โดยสังเกตอาการ ดังนี้
ผิวหนังอักเสบบางชนิดพบได้ทั่วไป โดยสังเกตอาการ ดังนี้
1.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
มักเริ่มเป็นตั้งแต่อยู่ในวัยทารก ก่อให้เกิดผื่นคันและแดงตามผิวหนัง และมักจะขึ้นบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และลำคอด้านหน้า เมื่อเกามาก ๆ อาจมีหนองไหลหรือเกิดเป็นสะเก็ดหนองตามมา ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีอาการดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ก็อาจกลับไปเป็นอีกได้เรื่อย ๆ
2.ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)
เป็นผื่นที่เกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่สัมผัสโดนสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมีในชีวิตประจำวัน ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาซักล้างต่าง ๆ เป็นเวลานานและบ่อยครั้ง บางคนอาจเกิดจากการสัมผัสดอกไม้ พืชผักบางชนิด หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ยางสังเคราะห์ โลหะ สีย้อมผม สารแต่งกลิ่นต่าง ๆ เป็นต้น
3.โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis)
เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังเป็นแผ่นตกสะเก็ดและมีอาการแดง หากเป็นที่ศีรษะจะเกิดเป็นรังแคเรื้อรัง โดยมักเป็นตามผิวหนังที่มีความมัน เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาและจมูก หน้าอกส่วนบน และหลัง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานาน
4.ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส (Dyshidrotic Eczema)
เป็นอีกผิวหนังอักเสบที่พบได้บ่อย แต่เป็นโรคที่คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์อยู่น้อยมาก โดยทั่วไปมักส่งผลต่อบริเวณมือ บางครั้งเกิดขึ้นที่เท้า ทำให้มีผื่นคันร่วมกับตุ่มใสพุพองเม็ดเล็ก ๆ ตามง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า
5.ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis Dermatitis)
มักทำให้เกิดอาการบวม ผิวหนังตกสะเก็ดบริเวณขาส่วนล่าง บางครั้งมีแผลเปื่อยหรือแผลเปิดด้านในของขาส่วนล่างและรอบ ๆ ข้อเท้า พบในผู้ป่วยที่มีการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำในขาไม่ดี
6.ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen Simplex Chronicus)
เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผิวหนังหนาขึ้น มักพบบริเวณคางและคอ
7.โรคผื่นผิวหนังรูปเหรียญบาท (Nummular Eczema)
มักพบในผู้ที่มีผิวแห้งหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศแห้ง มักปรากฏเป็นแผ่นผิวหนังที่มีความหนาและแดง ลักษณะกลม ๆ คล้ายเหรียญบาท ร่วมกับอาการคัน ผิวเป็นขุยหรือมีสะเก็ดหนอง ซึ่งจะพบได้บ่อยตามขาส่วนล่าง รวมถึงตามแขน มือ ลำตัว
8.โรคผื่นผิวแห้ง (Xerotic Eczema)
เป็นโรคที่จะส่งผลให้ผิวแตกแห้งและมีน้ำหนองไหลออกมาเมื่อผิวแห้งมากจนเกินไป
อาการของผิวหนังอักเสบที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้
-รู้สึกเจ็บที่ผิวหนัง หรือมีอาการคันรบกวนจนทำให้นอนไม่หลับหรือเกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน
-เมื่อลองรักษาด้วยยาที่หาซื้อได้เอง เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) แล้วยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจบ่งบอกว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาที่รุนแรงกว่านี้
-เกิดตุ่มหนองบนแผ่นผิวหนังที่มีอาการอักเสบ อาจแสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย และควรต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
-บริเวณที่เกิดการอักเสบของผิวหนังมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ทำให้รู้สึกเจ็บอยู่จำนวนมาก โดยอาจเป็นการติดเชื้อเริมที่เกิดในผู้ป่วยโรคผิวหนัง ซึ่งแม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้จากการติดเชื้อไวรัสโรคเริมนี้
-ระหว่างที่เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคผิวหนังติดเชื้อจากไวรัส เช่น เริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ เนื่องจากการมีภาวะผิวหนังอักเสบอยู่แล้วจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคเริม
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบ
การรักษาผิวหนังอักเสบมีวิธีรักษา ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่
– สบู่ ควรใช้สบู่อ่อน ๆ หรือถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้สบู่อาบน้ำทุกครั้งที่อาบน้ำ เพราะการใช้บ่อยเกินไปยิ่งทำให้ผิวแห้ง กระตุ้นให้ผื่นคันมากขึ้น
– ผงซักฟอก เลือกชนิดระคายเคืองน้อย เช่น ผงซักฟอกสำหรับเสื้อผ้าเด็กทารก และควรซักล้างออกให้หมดด้วยการซักน้ำเปล่า
– เสื้อผ้า เลือกใช้เสื้อผ้านุ่ม โปร่งสบาย ผ้าแพร ผ้าฝ้าย โดยหลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
– หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ทั้งทางผิวหนัง สูดดมหรือรับประทาน
– ลดความเครียด ความวิตกกังวล
2.ลดอาการคันและหลีกเลี่ยงการเกา
ซึ่งการรับประทานยาต้านฮีสตามีนจะช่วยลดอาการคันได้บ้างและได้ผลดีสำหรับบางคนเท่านั้น จึงควรพิจารณาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาและการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ต้องลดการเกาผื่น เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบหรือเห่อมากขึ้น
3.รักษาผิวแห้งโดยการทามอยส์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น
โดยควรทาหลังอาบน้ำภายใน 3-5 นาที หลังจากนั้นถ้าผิวยังแห้งมาก ควรทาเพิ่มเติม สามารถทาได้วันละหลาย ๆ ครั้ง
4.ยาทาสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง
แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง
5.รักษาโรคแทรกซ้อน
ถ้ามีตุ่มหนองบริเวณที่เป็นตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
6.การรักษาอื่น ๆ
เช่น การฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ควรพิจารณาใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมาก เป็นบริเวณกว้าง หรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้น โดยการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ภาวะแทรกซ้อนของผิวหนังอักเสบ
อาการคันอย่างรุนแรงจากภาวะผิวหนังอักเสบอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียในระหว่างวัน นอกจากนี้การอักเสบของผิวหนังยังอาจทำให้เกิดแผลเปิด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนัง คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา
การป้องกันโรคผิวหนังอักเสบ
ผิวหนังอักเสบเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมและป้องกันการกำเริบของผิวหนังอักเสบได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-ใช้ครีมบำรุงผิวเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงหลังอาบน้ำใหม่ ๆ ภายในประมาณ 3 นาทีหลังอาบน้ำและระหว่างวัน
-เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว
-หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
-หลีกเลี่ยงการอาบน้ำนาน ๆ โดยอาจอาบเพียงแค่ 5-10 นาที จากนั้นเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูนุ่ม ๆ
-หลีกเลี่ยงการเกาหรือขัดถูผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะอาจทำให้ผื่นแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง
-หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
-สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติและไม่คับแน่นจนเกินไป
-หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้
ขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.honestdocs.co/different-types-of-dermatitis
2. http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/skin/1233-โรคผิวหนังอักเสบ.html
3. https://www.pobpad.com/ผิวหนังอักเสบ
4. https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/old/index.php/knowforhealth-20141225-1/
5. https://www.honestdocs.co/different-types-of-dermatitis