HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคผิวหนังอักเสบคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคผิวหนังอักเสบ

Table of Contents

โรคผิวหนังอักเสบ

โรคผิวหนังอักเสบ คือการอักเสบแดงคันของผิวหนัง มีสาเหตุแตกต่างกันไปตามชนิดที่เป็น เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เกิดจากความแห้งของผิว โดยอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อที่ผิวหนัง การได้รับอาหารบางอย่าง หรือสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง หรือปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน

โรคผิวหนังอักเสบ
CR. https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMicm1705273

ผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซบเดิร์ม และผื่นระคายสัมผัส อย่างไรก็ตาม โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น แต่อาจทำให้รู้สึกคันหรือระคายเคือง และเสียความมั่นใจเพราะลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้

สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบ

สาเหตุของผิวหนังอักเสบ มีดังนี้

สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบ
CR. https://steemit.com/science/@creativity101/allergic-contact-dermatitis-acd-symptoms-and-causes

1.การอักเสบของผิวหนัง

เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย สารหลายชนิดเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ในบางรายอาจตรวจไม่พบสารที่เป็นสาเหตุ เมื่อเกิดการอักเสบจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของโรค เช่น เป็นชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง

2.โดยทั่วไปสามารถแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

ออกเป็นสองประเภท สาเหตุจากภายนอกร่างกาย และสาเหตุจากภายในร่างกาย

3.สาเหตุจากภายนอกร่างกาย

เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนมากเป็นสารที่พบเห็นหรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับต่าง ๆ เป็นต้น บางครั้งจึงอาจเรียกว่าผื่นระคายสัมผัส

4.ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย

เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็ก ๆ และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิไวเกินของร่างกาย

 

อาการของโรคผิวหนังอักเสบ

อาการของโรคผิวหนังอักเสบ
CR. https://brandonparkvet.com.au/allergic-dermatitis/

ผิวหนังอักเสบแต่ละชนิดเกิดขึ้นตามบริเวณร่างกายที่แตกต่างกันไป อาจทำให้มีอาการและลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย และผิวหนังอักเสบบางชนิดพบได้ทั่วไป โดยสังเกตอาการ ดังนี้

ผิวหนังอักเสบบางชนิดพบได้ทั่วไป โดยสังเกตอาการ ดังนี้

1.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

มักเริ่มเป็นตั้งแต่อยู่ในวัยทารก ก่อให้เกิดผื่นคันและแดงตามผิวหนัง และมักจะขึ้นบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และลำคอด้านหน้า เมื่อเกามาก ๆ อาจมีหนองไหลหรือเกิดเป็นสะเก็ดหนองตามมา ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีอาการดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ก็อาจกลับไปเป็นอีกได้เรื่อย ๆ

2.ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)

เป็นผื่นที่เกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่สัมผัสโดนสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมีในชีวิตประจำวัน ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาซักล้างต่าง ๆ เป็นเวลานานและบ่อยครั้ง บางคนอาจเกิดจากการสัมผัสดอกไม้ พืชผักบางชนิด หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ยางสังเคราะห์ โลหะ สีย้อมผม สารแต่งกลิ่นต่าง ๆ เป็นต้น

3.โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis)

เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังเป็นแผ่นตกสะเก็ดและมีอาการแดง หากเป็นที่ศีรษะจะเกิดเป็นรังแคเรื้อรัง โดยมักเป็นตามผิวหนังที่มีความมัน เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาและจมูก หน้าอกส่วนบน และหลัง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานาน

4.ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส (Dyshidrotic Eczema)

เป็นอีกผิวหนังอักเสบที่พบได้บ่อย แต่เป็นโรคที่คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์อยู่น้อยมาก โดยทั่วไปมักส่งผลต่อบริเวณมือ บางครั้งเกิดขึ้นที่เท้า ทำให้มีผื่นคันร่วมกับตุ่มใสพุพองเม็ดเล็ก ๆ ตามง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า

5.ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis Dermatitis)

มักทำให้เกิดอาการบวม ผิวหนังตกสะเก็ดบริเวณขาส่วนล่าง บางครั้งมีแผลเปื่อยหรือแผลเปิดด้านในของขาส่วนล่างและรอบ ๆ ข้อเท้า พบในผู้ป่วยที่มีการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำในขาไม่ดี

6.ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen Simplex Chronicus)

เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผิวหนังหนาขึ้น มักพบบริเวณคางและคอ

7.โรคผื่นผิวหนังรูปเหรียญบาท (Nummular Eczema)

มักพบในผู้ที่มีผิวแห้งหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศแห้ง มักปรากฏเป็นแผ่นผิวหนังที่มีความหนาและแดง ลักษณะกลม ๆ คล้ายเหรียญบาท ร่วมกับอาการคัน ผิวเป็นขุยหรือมีสะเก็ดหนอง ซึ่งจะพบได้บ่อยตามขาส่วนล่าง รวมถึงตามแขน มือ ลำตัว

8.โรคผื่นผิวแห้ง (Xerotic Eczema)

เป็นโรคที่จะส่งผลให้ผิวแตกแห้งและมีน้ำหนองไหลออกมาเมื่อผิวแห้งมากจนเกินไป

 

อาการของผิวหนังอักเสบที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้

-รู้สึกเจ็บที่ผิวหนัง หรือมีอาการคันรบกวนจนทำให้นอนไม่หลับหรือเกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน

-เมื่อลองรักษาด้วยยาที่หาซื้อได้เอง เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) แล้วยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจบ่งบอกว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาที่รุนแรงกว่านี้

-เกิดตุ่มหนองบนแผ่นผิวหนังที่มีอาการอักเสบ อาจแสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย และควรต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

-บริเวณที่เกิดการอักเสบของผิวหนังมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ทำให้รู้สึกเจ็บอยู่จำนวนมาก โดยอาจเป็นการติดเชื้อเริมที่เกิดในผู้ป่วยโรคผิวหนัง ซึ่งแม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้จากการติดเชื้อไวรัสโรคเริมนี้

-ระหว่างที่เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคผิวหนังติดเชื้อจากไวรัส เช่น เริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ เนื่องจากการมีภาวะผิวหนังอักเสบอยู่แล้วจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคเริม

 

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบ

การรักษาผิวหนังอักเสบมีวิธีรักษา ดังนี้

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบ
CR. https://www.clinicaltrialsarena.com/projects/dupixent-dupilumab-for-the-treatment-of-atopic-dermatitis/

1.หลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่

สบู่ ควรใช้สบู่อ่อน ๆ หรือถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้สบู่อาบน้ำทุกครั้งที่อาบน้ำ เพราะการใช้บ่อยเกินไปยิ่งทำให้ผิวแห้ง กระตุ้นให้ผื่นคันมากขึ้น

ผงซักฟอก เลือกชนิดระคายเคืองน้อย เช่น ผงซักฟอกสำหรับเสื้อผ้าเด็กทารก และควรซักล้างออกให้หมดด้วยการซักน้ำเปล่า

เสื้อผ้า เลือกใช้เสื้อผ้านุ่ม โปร่งสบาย ผ้าแพร ผ้าฝ้าย โดยหลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์

หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ

หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ทั้งทางผิวหนัง สูดดมหรือรับประทาน

ลดความเครียด ความวิตกกังวล

2.ลดอาการคันและหลีกเลี่ยงการเกา

ซึ่งการรับประทานยาต้านฮีสตามีนจะช่วยลดอาการคันได้บ้างและได้ผลดีสำหรับบางคนเท่านั้น จึงควรพิจารณาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาและการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ต้องลดการเกาผื่น เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบหรือเห่อมากขึ้น

3.รักษาผิวแห้งโดยการทามอยส์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น

โดยควรทาหลังอาบน้ำภายใน 3-5 นาที หลังจากนั้นถ้าผิวยังแห้งมาก ควรทาเพิ่มเติม สามารถทาได้วันละหลาย ๆ ครั้ง

4.ยาทาสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง

แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง

5.รักษาโรคแทรกซ้อน

ถ้ามีตุ่มหนองบริเวณที่เป็นตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

6.การรักษาอื่น ๆ

เช่น การฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ควรพิจารณาใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมาก เป็นบริเวณกว้าง หรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้น โดยการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

ภาวะแทรกซ้อนของผิวหนังอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังอักเสบ
CR. https://www.veinhealth.com.au/venous-dermatitis/

อาการคันอย่างรุนแรงจากภาวะผิวหนังอักเสบอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียในระหว่างวัน นอกจากนี้การอักเสบของผิวหนังยังอาจทำให้เกิดแผลเปิด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนัง คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา

 

การป้องกันโรคผิวหนังอักเสบ

ผิวหนังอักเสบเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมและป้องกันการกำเริบของผิวหนังอักเสบได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

-ใช้ครีมบำรุงผิวเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงหลังอาบน้ำใหม่ ๆ ภายในประมาณ 3 นาทีหลังอาบน้ำและระหว่างวัน

-เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว

-หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น

-หลีกเลี่ยงการอาบน้ำนาน ๆ โดยอาจอาบเพียงแค่ 5-10 นาที จากนั้นเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูนุ่ม ๆ

-หลีกเลี่ยงการเกาหรือขัดถูผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะอาจทำให้ผื่นแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง

-หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม

-สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติและไม่คับแน่นจนเกินไป

-หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้

ขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.honestdocs.co/different-types-of-dermatitis
2. http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/skin/1233-โรคผิวหนังอักเสบ.html
3. https://www.pobpad.com/ผิวหนังอักเสบ
4. https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/old/index.php/knowforhealth-20141225-1/
5. https://www.honestdocs.co/different-types-of-dermatitis