โรคหลอดเลือดสมองคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน
Table of Contents
โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง มีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้
ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1.โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เกิดจากอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง และโรคหลอดเลือดสมองชนิดนี้ยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– โรคหลอดเลือดขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Stroke) เป็นผลมาจากหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้
– โรคหลอดเลือดขาดเลือดจากการอุดตัน (Embolic Stroke) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปที่สมองได้อย่างเพียงพอ
2. โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือฉีกขาด ทำให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง แบ่งได้อีก 2 ชนิดย่อย ๆ ได้แก่
-โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm) เกิดจากความอ่อนแอของหลอดเลือด
-โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (Arteriovenous Malformation) ที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมองตั้งแต่กำเนิด
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ
-โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไหลเวียนไปที่สมอง นอกจากนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ก็ทำให้เกิดลิ่มเลือดและเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
-โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (hemorrhagic Stroke) หรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตก เกิดขึ้นได้น้อยกว่าชนิดแรก แต่ความรุนแรงนั้นไม่แพ้กัน สาเหตุมักเกิดจากความดันโลหิตสูง อันมีปัจจัยมาจากความเครียด
โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง และความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย
ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
-อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ
-คนในครอบครัว หรือผู้ที่มีญาติพี่น้องใกล้ชิดป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
-ประวัติการรักษา ผู้ที่เคยมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) และหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น
-หากพบว่าตัวเองมีอาการใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ควรรีบติดต่อแพทย์โดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยไว้ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะยิ่งเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
-ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
-โรคเบาหวาน ทำให้มีโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 4 เท่า
-การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีค่าไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
-โรคอ้วน คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐานก็มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน
-การขาดการออกกำลังกาย
-การสูบบุหรี่จัด ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 3 เท่าในผู้ชาย และ 7 ในผู้หญิง
-การใช้สารเสพติด
-การหยุดหายใจขณะนอนหลับตอนกลางคืน ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่นอนกรนดัง ๆ หรือมีน้ำหนักตัวมาก ๆ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำ sleep test ดูว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำในช่วงนอนหลับหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน
โรคหลอดเลือดสมอง อาการ
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
-ร่างกายอ่อนแรง หรือมีอาการอัมพฤกษ์ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และมีอาการเหน็บชาร่วมด้วย
-มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด พูดลิ้นพันกัน พูดไม่ชัด หรือการเข้าใจคำพูดผิดเพี้ยน
-มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว และมีอาการบ้านหมุน ทรงตัวลำบากและประสานการทำงานของมือและเท้าลำบาก หรือ สะดุดหกล้มแบบเฉียบพลันโดยไม่มีสาเหตุ
-สูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือเห็นภาพซ้อน
-มีอาการมึนงงอย่างรุนแรง
-สูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ เนื่องจากหลอดเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงดวงตามีลิ่มเลือดอุดตัน
-สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวและความรู้สึกของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งชั่วขณะ
โรคหลอดเลือดสมอง รักษา
การรักษาจะเน้นไปที่การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น
1.การรักษาในระยะเฉียบพลัน
-การให้ยาสลายลิ่มเลือด ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ภายในเวลา 5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 1.5-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา
-การให้รับประทานยาแอสไพรินอย่างน้อย 160 mg ต่อวันภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตได้
-การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดตีบอย่างรุนแรง อาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอเพื่อกำจัดสิ่งที่ขัดขวางหลอดเลือดออก
-การผ่าตัดเพื่อกำจัดลิ่มเลือด (Thrombectomy) ในกรณีที่มีลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของหลอดเลือดอย่างรุนแรง การผ่าตัดเพื่อกำจัดลิ่มเลือดจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น และไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเต็มที่
2.การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
-เมื่อตรวจพบว่ามีการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือด แพทย์สามารถแก้ไขได้ด้วย การขยายหลอดเลือดโดยการผ่าตัด (Carotid endarterectomy)
-การถ่างขยายหลอดเลือดโดยการใช้บอลลูนและใส่ขนลวดค้ำยัน (Balloon angioplasty and stent placement)
3.การทำกายภาพบำบัด
ความพิการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทำกายภาพบำบัด เพราะการทำกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ โดยที่เป็นภาระต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องเริ่มการฝึกกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
-ฝึกการรับประทานอาหาร การเคี้ยวการกลืนอาหาร
-ฝึกการอาบน้ำ การแต่งตัว
-ฝึกการเดิน การใช้รถเข็นด้วยตัวเอง
-ฝึกการพูด การสื่อสาร การใช้ภาษา ความจำและการแก้ปัญหา
-ฝึกการประกอบอาชีพ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
โรคหลอดเลือดสมองการป้องกัน
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน รวมถึงอาหารที่มีรสเค็มจัด ที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
-ควบคุมน้ำหนัก โรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง การควบคุมน้ำหนักจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายสามารถช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยลดระดับคอเลสเตอลรอล
-งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
-ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้
อาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
-ชาหรืออ่อนแรงใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน ทำให้มุมปากตก ปากเบี้ยว อมน้ำไม่อยู่ น้ำไหลออกจากมุมปาก
-มีอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน
-ชาหรืออ่อนแรงที่แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน สูญเสียการทรงตัว
-พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน นึกคำพูดไม่ออก
-การมองเห็นมีปัญหาฉับพลัน อาจมองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งเดียว ตาบอดหนึ่งหรือสองข้าง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://www.si.mahidol.ac.th/center/sirirajstrokecenter/TH/StrokeContent/content/people/cure-stroke.aspx
2. https://www.pobpad.com/ โรคหลอดเลือดสมอง