HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคอ้วนคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคอ้วน

โรคอ้วน คือ ความผิดปกติจากการมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ทำให้ร่างกายมีการสะสมไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากจนเกินกว่าปกติ  ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันเหล่านั้นได้

โรคอ้วน

จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้มีอายุสั้นลง และมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่าง ๆ จากโรคอ้วนได้

ชนิดของโรคอ้วน

โรคอ้วนที่ผลร้ายต่อสุขภาพมีอยู่ 2 ประเภท คือ

-อ้วนลงพุง

เป็นลักษณะของคนอ้วนที่มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่น ๆ ไขมันที่อยู่ในอวัยวะภายในเหล่านี้ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ

ชนิดของโรคอ้วน

เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โดยรอบพุงที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า

-อ้วนทั้งตัว

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติโดยไขมันที่เพิ่มขึ้น มิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ บางคนนอกจากเป็นโรคความอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคความอ้วนลงพุงร่วมด้วย

จะมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่าง และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด

สาเหตุของการเกิดโรคอ้วน

-กรรมพันธุ์ กรรมพันธุ์เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความอ้วนได้ อาจมาจากการที่พ่อแม่ของเราเป็นโรคความอ้วน หรือมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีผลการวิจัยพบว่า หากมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกจะมีโอกาสอ้วน 3 เท่า

แต่ถ้าหากมีญาติพี่น้องอ้วนจะมีโอกาสอ้วนเพิ่มเป็น 3-7 เท่า แต่หากเด็กที่ทั้งพ่อและแม่อ้วนจะมีโอกาสอ้วนมากถึง 10 เท่า

-เพศ โดยปกติแล้วโอกาสที่เพศหญิงจะเป็นโรคความอ้วนมีสูงกว่าผู้ชายเนื่องจากในผู้ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง จึงใช้พลังงานในแต่ละวันมากกว่าผู้หญิง และจากข้อมูลจะพบว่าผู้หญิงมีนิสัยชอบกินจุกกินจิกมากกว่าผู้ชายด้วยเลยทำให้อ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชายนั่นเอง

-อายุ ด้วยอายุที่มากขึ้นในทุก ๆ ปี ทำให้ปริมาณของกล้ามเนื้อในร่างกาย และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันจะน้อยลงกว่าวัยหนุ่มสาว การใช้พลังงานน้อยลงทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังน้อยลดตามไปด้วย

และสำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนแล้วมวลกล้ามเนื้อจะลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ของทุก ๆ ปี เพราะฉะนั้นพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปจึงไปสะสมในรูปของไขมันได้ง่ายขึ้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความอ้วนได้นั้นเอง

-อัตราการเผาผลาญพลังงาน ( Metabolic Rate ) ร่างกายของคนแต่ละคน จะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานไม่เท่ากัน หากคนใดที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ต่ำก็จะทำให้อ้วนได้ง่าย กว่าผู้ที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่สูงนั้นเอง

มีข้อมูลการวิจัยพบว่า ยีนมีอิทธิพลต่อการควบคุมอัตราการเผาผลาญพลังงานขั้นพื้นฐาน และพลังงานที่ใช้ในการเผาผลาญอาหารด้วย

อัตราการเผาผลาญพลังงาน

-กิจวัตรประจำวัน หากในระหว่างวัน เรามีกิจวัตรประจำวันที่ต้องได้ขยับร่างกายหรือทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการช่วยเผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี หากร่างกายไม่ได้ออกกำลังกายหรือมีอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

มีการขยับตัวที่น้อย เช่นการนั่งที่โต๊ะทำงานตลอดเวลา หรือขับรถตลอดทั้งวัน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความอ้วนได้ง่าย ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้มีการเผาผลาญพลังงานที่ดีนั่นเอง

-กินอาหารไขมันสูงและกินเกินความต้องการของร่างกาย อาหารที่นิยมทานกันในปัจจุบัน เช่น อาหารฟาสต์ฟูดหรือ อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่สามารถหาทานได้ง่ายและรวดเร็วนั้น

โดยส่วนมากจะมีส่วนประกอบของแป้งและไขมันในปริมาณสูงทำให้เกิดเป็นโรคความอ้วนได้ง่าย ดังนั้นจึงควรทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์มากที่สุด

-นอนดึก การนอนที่ผิดเวลาจากปกติ หรือ มีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี จะไปลดความไวของฮอร์โมนอินซูลินลงซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคความอ้วนได้รวมทั้งทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง

มีไขมันในร่างกายและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มากกว่าผู้ที่นอนแต่หัวค่ำปกติ ผู้นอนดึกส่วนมากมักจะขาดการออกกำลังกาย กินอาหารดึกๆ มีการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความอ้วนและโรคเบาหวานนั้นเอง

-ความเครียดหากมีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติซอล ออกมาซึ่งจะมีผลไปทำให้ไขมันจะถูกเก็บสะสมไว้มากขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะในส่วนพุงหน้าท้อง

สำหรับผู้หญิงจะมีความอยากอาหารมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะความเครียด ดังนั้นความเครียดจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันเพิ่มในร่างกาย

การวินิจฉัยภาวะอ้วน

การตรวจหาภาวะอ้วนทำได้ด้วยการหาค่า BMI และการตรวจวัดรอบเอว  เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด การทำกิจกรรมต่าง ๆ ประวัติสุขภาพของครอบครัว ความรู้สึกที่มีต่อภาวะอ้วน

และปัญหาที่กำลังเผชิญจากภาวะอ้วน ส่วนการตรวจเพิ่มเติมเมื่อทราบว่าผู้ป่วยกำลังเผชิญกับภาวะอ้วน ได้แก่ การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบผลความผิดปกติแล้วนำไปสู่การวางแผนรักษาต่อไป

อาการของภาวะอ้วน

อาการของภาวะอ้วน

ผู้ที่มีภาวะอ้วนคือ ผู้ที่มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คือ หายใจติดขัด นอนกรน เหนื่อยง่าย ร้อนง่าย เหงื่อออกง่าย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากลำบาก

จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ รวมถึงความไม่มั่นใจในตนเอง อาจทำให้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือการเข้าสังคม และปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นตามมา

การรักษาโรคอ้วน

หากผู้ป่วยเป็นโรคความอ้วนอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ แพทย์จะทำการรักษาตามโรคและอาการที่เป็นสาเหตุเบื้องต้นก่อน ส่วนผู้มีภาวะอ้วนจากปัจจัยอื่น ๆ สามารถรักษาได้ดังนี้

-การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การปรับพฤติกรรมการกิน ช่วยลดน้ำหนักและควบคุมปริมาณแคลอรีที่ร่างกายจะได้รับ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีในระยะยาว เริ่มจากการศึกษาปริมาณแคลอรีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

แคลอรีที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด แล้ววางแผน ตั้งเป้าหมาย ควบคุมน้ำหนักและลดปริมาณแคลอรีลงภายใน 6 เดือน อย่างการจัดทำเมนูอาหารในแต่ละวันตามปริมาณแคลอรีและสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับอย่างเหมาะสม

การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม

-การออกกำลังกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วน ต้องออกกำลังกายมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อกระตุ้นการเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ในร่างกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา การออกกำลังกายเฉพาะส่วน อย่างการใช้เครื่องออกกำลังกาย

การยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกายแบบผสมผสานกันหลายประเภท แม้จะยากลำบากในตอนเริ่มต้น เพราะอาจมีความปวดเมื่อยเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อแต่ละส่วน แต่เมื่อออกกำลังกายไปสักระยะหนึ่งแล้ว

ร่างกายจะเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น อาจเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายขึ้นเป็น 300 นาที/สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ตามความเหมาะสมต่อสภาพร่างกาย

การออกกำลังกาย

-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งพฤติกรรมการกินและพฤติกรรมการใช้ชีวิตล้วนส่งผลต่อภาวะอ้วนทั้งสิ้น หากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเองเป็นเรื่องที่ยากลำบาก หรือมีสภาวะทางจิตใจที่ไม่มั่นคงและต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

เพื่อช่วยให้ผู้เผชิญภาวะอ้วนทำความเข้าใจกับปัญหาของตน ตระหนักถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา ความสำคัญของการรักษา หาวิธีจัดการความเครียดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น แล้ววางแผนรักษาและดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้

-การใช้ยาลดน้ำหนัก ในบางรายที่มีข้อจำกัดสำคัญทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผล แพทย์อาจจ่ายยาลดน้ำหนักให้เพื่อรักษาอาการ เช่น ผู้ป่วยที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 28 ขึ้นไปที่ป่วยด้วยความดันโลหิตสูง

หรือเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 จึงไม่สามารถออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ๆ หรือไม่สามารถออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ ได้ การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ภายใต้ใบสั่งแพทย์เท่านั้น และต้องรับประทานยาตามที่กำหนด

-การผ่าตัดลดความอ้วน (Bariatric Surgery) แพทย์จะมีดุลยพินิจให้ผู้ป่วยภาวะอ้วนอย่างรุนแรงบางรายเข้ารับการผ่าตัด อย่างผู้ที่มีค่า BMI สูง ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI 35-40 ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง จำเป็นต้องรักษาด้วยการลดน้ำหนักทันที เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานประเภทที่ 2 ผู้ที่รักษาภาวะอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

การป้องกันโรคอ้วน

การป้องกันโรคความอ้วน

ภาวะอ้วนที่เกิดจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมอาหารและพฤติกรรมการกิน รับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มีไขมันสูงและมีน้ำตาลมาก

ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือน้ำอัดลม ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ และชั่งน้ำหนักอยู่เสมอเพื่อตรวจดูและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับโรคความอ้วนมีรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคความอ้วนหรือผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงจากโรคความอ้วนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามควรมีการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อห่างไกลจากโรคความอ้วนที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
1. https://amprohealth.com/obesity/what-is-overweight-obesity/
2. https://www.pobpad.com/การรักษาภาวะอ้วน