HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

โรคไตคือ สาเหตุ อาการ การดูแลรักษาและป้องกัน

โรคไต

โรคไต

ไตมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว 2 ข้างอยู่ในกระดูกซี่โครงบริเวณเหนือเอว ซึ่งเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ โดยทำหน้าที่คัดกรองสารอาหารต่าง ๆ ภายในเลือดเพื่อให้ร่างกายนำกลับไปใช้ประโยชน์ และขับของเสียออกมาในรูปแบบปัสสาวะ

โรคไต

และหากไตเกิดความเสียหายย่อมส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งโรคไตที่พบบ่อยได้แก่ ไตวาย ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ และ นิ่วในไต

โรคไต คือ โรคที่ทำให้ไตเกิดความเสียหาย หรือ ทำงานปกติ เพราะไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ หากสังเกตพบว่ามีอาการบ่งชี้ว่าไตมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

สาเหตุของโรคไต

ไตอักเสบ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือ ปัจจัยอื่น เช่น การอักเสบของเบื่อบุหัวใจจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Endocarditis) การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัล (Streptococcus) การอักเสบจากโรคในระบบภูมิคุ้มกัน และ กลุ่มโรคมะเร็งต่าง ๆ

ไตวาย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ป่วยด้วยภาวะความดันโลหิตสูง ป่วยด้วยโรคเบาหวานที่เป็นมานาน การสูญเสียเลือด หรือ น้ำในร่างกายมากเกินไป อาการแพ้อย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต

การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลวจนทำให้เลือดไหลเวียนไปยังไตไม่เพียงพอ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E Coll) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่นการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ การอักเสบต่อเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะ หรือ ท่อปัสสาวะ บางกรณีเชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายเข้าสู่กรวยไตผ่านทางกระแสเลือด

นิ่วในไต  เกิดจากปริมาณของแร่ธาตุ เกลือ และ สารต่าง ๆ เช่น กรดออกซาลิค กรดยูริก ในปัสสาวะ มีระดับเปลี่ยนแปลงไป โดยที่มีปริมาณที่มากกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือเจือจางสารเหล่านี้ได้

นิ่วไต

จนเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุด หรืออาจมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิดที่มี เกลือ น้ำตาล และ โปรตีนสูง การดื่มน้ำที่ไม่มากพอ การเจ็บป่วย เช่นการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

 

อาการของโรคไต

1. ไตวาย

อาการของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของไตวาย ซึ่งไตวายจะเป็นภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด จนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ ซึ่งจะทำให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย

จึงทำให้ระดับน้ำเกลือแร่ และ แร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย เกิดความไม่สมดุล ซึ่งอาการของโรคจะมีดังนี้

2. ไตวายเรื้อรัง

อาการของโรคไตวายเรื้อรัง จะค่อย ๆ แสดงอาการออกมาเป็นระยะ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นในคราวเดียว โดยแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามระดับ จะทำให้เกิดอาการตั้งแต่ ไตอักเสบพบภาวะโปรตีนรั่วปะปนมาในเลือดหรือปัสสาวะ

ซึ่งหากไตทำงานลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นรุนแรง จะมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้ง และคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย มีอาการบวมน้ำ ปัสสาวะน้อยลง โลหิตจาง

ร่างกายจะเสียสมดุลของแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ฟอสเฟต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

3. ไตวายเฉียบพลัน

ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย โดยมากมักเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หรือ หากมีอาการก็จะเริ่มจากปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย มีอาการบวมที่ขาและเท้า

อาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกมืนงง อ่อนเพลีย ง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา อาจมีอาการหายใจถี่ จนไปถึงขั้นรุนแรงอย่างเช่นชัก หรือหมดสติ และเข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลันได้

อาการของโรคไต
CR. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-kidney-disease-symptoms

4. ไตอักเสบ

ผู้ป่วยจะทราบว่าเป็นโรคไตอักเสบได้จากการตรวจปัสสาวะ และ หากมีอาการก็จะแสดงออกดังนี้ เช่น ปัสสาวะจะเป็นสีโคล่า ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนของเซลล์เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ มีอาการบวมน้ำ มีความดันโลหิตสูง ปัสสาวะจะเป็นอ่อนล้าเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดข้อ เป็นผื่น เป็นต้น

5. กรวยไตอักเสบ

อาการที่มักพบเมื่อป่วยเป็นกรวยไตอักเสบ จะมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เจ็บปวดบริเวณหลัง หรือ สีข้าง รู้สึกหนาวสั่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา เจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะจะมีกลิ่นเหม็น มีสีขุ่น มีหนอง หรือ เลือดปนมากับปัสสาวะ

ซึ่งกรวยไตอักเสบเป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต ซึ่งอยู่ระหว่างไตกับท่อไต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างถูกต้องและเร่งด่วน เพราะอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

6. นิ่วในไต

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดทรมานมาก เนื่องจากก้อนนิ่วที่อยู่ภายในไตเคลื่อนตัวไปที่ท่อไต ซึ่งหากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จะไปปิดกั้น และ สร้างบาดแผลที่ท่อไต อาจมีอาการปวดร้าวไปถึงบริเวณขาหนีบ ปวดท้อง หรือ เอวเป็นระยะ ปัสสาวะเป็นเลือด

หากมีการติดเชื้อร่วมด้วยจะทำให้เกิดอาการ เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบริเวณหลัง หรือช่องท้องด้านใดด้านหนึ่ง ปวดปัสสาวะบ่อย แต่จะปัสสาวะน้อย ปัสสาวะจะมีสีขุ่น และ กลิ่นแรง ขณะปัสสาวะจะเจ็บปวด

 

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะตรวจการทำงานของไต เพื่อหาความผิดปกติด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การวินิจฉัยโรค
CR. https://www.healthline.com/health/kidney-failure

– ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูระดับสารอัลบูมิน โปรตีน เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือ เชื้อแบคทีเรียที่ปนอยู่ในปัสสาวะ

– ตรวจจากภาพถ่าย ด้วยการเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ CT Scan หรือ MRI Scan

– ตรวจเลือด ตรวจอัตราการกรองของเสียออกจากเลือดของไต ตรวจหาการติดเชื้อ และ ตรวจหาแคลเซียม หรือ กรดยูริค ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นนิ่วในไต

– ตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งแพทย์จะใช้เข็มเจาะ เพื่อนำเซลล์เนื้อเยื่อไตไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

 

การรักษาโรคไต

ไตอักเสบ

การรักษาผู้ป่วยไตอักเสบจะแตกต่างกันตามปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ และตัวผู้ป่วยเองอาจดูแลอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน

โดยงดอาหารรสเค็ม งดเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียม เลิกบุหรี่ และ ควรควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ ส่วนการรักษาไตอักเสบในระดับรุนแรง

ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาในกลุ่มยากดภูมิต้านทาน ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านไวรัส ยาลดความดันโลหิต การฟอกไต และ อาจรวมไปถึงการปลูกไตใหม่

ไตวาย

ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการให้สารน้ำ หรือ เลือด และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่จะไม่ทำให้ไตทำงานหนักเกินไป ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการฟอกไตจนกว่าการทำงานของไตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กรวยไตอักเสบ

แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะ และ ตรวจปัสสาวะซ้ำหลังการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อแล้ว หากการรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล

แพทย์อาจต้องฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมง ร่วมกับการให้น้ำเกลือ และยาแก้ปวดลดไข้ และ ตามผลโดยตรวจปัสสาวะ และ เลือดอย่างต่อเนื่อง

นิ่วในไต

สามารถรักษาให้หายได้ โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนนิ่ว และ สาเหตุของการเกิดนิ่ว เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ ซึ่งจะช่วยขับก้อนนิ่วให้ออกมาพร้อมปัสสาวะ การใช้ยาช่วยขับก้อนนิ่ว การผ่าตัดเพื่อนำก้อนนิ่วออกมา

การรักษาโรคไต
CR. https://www.healthfitt.com/kidney-disease-types-symptoms/

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไต

– ไตวาย  ภาวะน้ำท่วมปอด อาการเจ็บหน้าอกจากของเสียที่คั่งอยู่ในกระแสเลือด กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดสมดุลของสารต่าง ๆ ในร่างกาย ไตถูกทำลายอย่างถาวร

สิ่งเหล่านี้ คือ ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตวายเฉียบพลัน  ส่วนภาวะกระดูกพรุน โรคโลหิตจาง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ล้วนเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไตวายเรื้อรัง

– ไตอักเสบ การอักเสบของไตจะสร้างความเสียหาย และ ส่งผลให้เกิดของเหลว ส่วนเกินสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ทำให้กลายเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ ไตวายเฉียบพลัน

– กรวยไตอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงเกิดแผลหรือฝีในไต และ อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันได้ ซึ่งกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันจะนำไปสู่การเกิดกรวยไตอักเสบเรื้อรัง และ อาจทำให้ไตเสียหายอย่างถาวร เสียงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

– นิ่วในไต หากนิ่วในไตมีขนาดใหญ่ และ เคลื่อนจากไตไปสู่ท่อไต ทำให้ไปปิดกั้นการไหลของปัสสาวะอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ท่อปัสสาวะอุดกั้นจนทำให้ติดเชื้อ

 

 

การป้องกันโรคไต

การป้องกันการเกิดความเสียหายที่ไต เราสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2. ไม่ดื่มสุรา

3. ไม่สูบบุหรี่

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเค็ม หรือ มีน้ำตาลสูง

5. ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา และ สมุนไพรต่าง ๆ

ใครที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไต ควรพยายามหลีกเลี่ยง หรือ ลดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การรับประทานยา การกินอาหารที่มีรสเค็มจัด แต่ความเสี่ยงบางอย่างก็เลี่ยงไม่ได้ เช่น พันธุกรรม โรคความดันโลหิตสูง หากใครคนใดคนหนึ่งเป็นโรคไต สมาชิกในครอบครัวก็ควรไปพบแพทย์เพื่อคัดกรองแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก..
https://www.pobpad.com/โรคไต/การป้องกันโรคไต