HealthDoo.Today

เว็บไซต์ความรู้ด้านสุขภาพ และความงาม

เส้นเลือดขอด ดูแลรักษา และป้องกันอย่างไร

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดคือ

เส้นเลือดขอดหรือ Varicose vein เกิดจากความผิดปกติของลิ้นและผนังหลอดเลือดดำ เป็นโรคที่มีเลือดดำคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำจึงส่งผลให้เส้นเลือดดำขยายตัว โป่งพอง และขดไปมา ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดกับเส้นเลือดดำได้ทั่วร่างกาย

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดมักเป็นที่ขาหรือเท้า เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานจะส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น เป็นโรคที่สามารถพบได้กับคนทั่วไป  โดยเฉพาะผู้ที่นั่งหรือยืนนาน ๆ และคนสูงอายุ ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน ฯ

 

เส้นเลือดขอดอาการ

โดยผู้ที่มีอาการของเส้นเลือดขอดแรกเริ่มอาจสังเกตจากเส้นเลือดผ่านผิวหนังจะเริ่มมีเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมาให้เห็น หรือปรากฏเป็นรอยเส้นเลือดสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา และจะเริ่มมีอาการเจ็บปวดตามมา เช่น

-เริ่มมีอาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา

-เริ่มเป็นตะคริวในส่วนกล้ามเนื้อในขาส่วนล่างบ่อยขึ้น และขาล่างบวมปวดมีอาการแสบร้อน ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง

-เวลายืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ จะเริ่มรู้สึกเจ็บขา ปวดขา

-เริ่มมีอาการคัน บริเวณรอบ ๆ เส้นเลือด

-มีเส้นเลือดโป่งพองสีเขียวคล้ำ คดไปมาเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณตาตุ่ม น่อง ขาพับ ต้นขา โคนขา สะโพก หน้าท้อง และตามส่วนอื่น ๆ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและตึงบริเวณที่เป็น

-มีอาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยในบริเวณนั้น ๆ หรือมีอาการเท้าบวมหลังจากยืนเป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนอนราบและยกขาขึ้นสูง

 

เส้นเลือดขอดที่ขา มี 2 ประเภท คือ

-เส้นเลือดโป่ง (Varicose Veins) เกิดจากผนังเส้นเลือดบาง ทำให้เส้นเลือดพองและขดเป็นหยักอาจมีสีเขียวผสมม่วง

-เส้นเลือดฝอย ลักษณะเป็นแพแบบเส้นใยแมงมุม (Spider Veins) อยู่ตื้นมีขนาดเล็กสีม่วง หรือแดงมองเห็นคล้ายใยแมงมุม

เส้นเลือดขอดสาเหตุ

เส้นเลือดขอดสาเหตุ

-เกิดจากทำงานโดยต้องยืน เดิน นาน ๆ และอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ หรือต้องยกของหนัก ๆ ทำให้เส้นเลือดมีเลือดคั่งมาก

มีความเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดขอดเช่น พนักงานขายสินค้า พนักงานเก็บค่าโดยสาร ทหาร ศัลยแพทย์ พยาบาลในห้องผ่าตัด ครู เป็นต้น

-เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้นเนื่องจากการเสื่อมสภาพของลิ้นในเส้นเลือดและเซลล์ผนังเส้นเลือด ซึ่งจะพบโรคนี้มากกว่า 70% ของคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป

-เกิดจากกรรมพันธุ์ พ่อแม่มีหลอดเลือดขอด ลูกก็มีโอกาสเป็นด้วยเพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นประมาณ 2 เท่าในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

-เกิดจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย ประมาณ 3 เท่า เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ส่งผลถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง

และจากการมีภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนเพศจะมีส่วนช่วยในการคงความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด

-คนอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน เลือดจะหมุนเวียนได้ไม่สะดวก จะเกิดการ คั่งค้างของเลือดบริเวณขามากขึ้น จึงทำให้เกิดหลอดเลือดขอดได้มาก

-การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็มีส่วนทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้เช่นกัน เช่น ในวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยทอง หรือแม้กระทั่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดก็อาจส่งผลทำให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้นได้

-เกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งจะทำให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่ดี ก็ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้

-ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย ขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงเส้นเลือดดำและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ขา

-สาเหตุอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ การอุดตันของเส้นเลือดที่เกิดจากโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดโดยเฉพาะบริเวณสะโพก ผู้ป่วยที่มีประวัติขาบวมหรือมีเส้นเลือดดำที่ขาอุดตันมาก่อนในอดีต ก็จะมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย

เส้นเลือดขอดดูแลรักษา
CR. https://vimeo.com/357737653

เส้นเลือดขอดดูแลรักษา

ผู้ป่วยเส้นเลือดขอดที่จำเป็นต้องการรักษา เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำ

การรักษาแบบประคับประคอง (Conservative Treatment)

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แนะนำให้ใช้ถุงน่องชนิดพิเศษที่มีระดับความแน่น (Pressure Gradient) แตกต่างกันไล่ระดับจากเท้าที่แน่นที่สุดและลดหลั่นลงเมื่อสูงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลกลับจากส่วนปลายขึ้นมาได้ดี

การฉีดสารเคมีที่เส้นเลือดขอด (Sclerosing Therapy)  

โดยเลือกใช้กับเส้นเลือดขอดขนาดเล็กถึงปานกลางเพื่อให้เกิดแผลเป็นและปิดเส้นเลือดเหล่านี้ เส้นเลือดแต่ละเส้นอาจได้รับการฉีดสารชนิดนี้มากกว่า 1 ครั้ง ใช้เวลา 15 – 30 นาทีในกาฉีด วิธีนี้จะช่วยให้เส้นเลือดขอดทุเลาลงภายในไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลหากทำอย่างถูกวิธี และระหว่างการรักษาไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึกแต่อย่างใด ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

 

การรักษาด้วยเลเซอร์

การรักษาด้วยเลเซอร์ในปัจจุบันเป็นอีกเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้ ด้วยการยิงแสงที่มีความจ้าสูงไปยังหลอดเลือด แสงเลเซอร์จะทะลุผ่านผิวหนังและแทรกตัวเข้าไปในหลอดเลือด ให้หลอดเลือดที่ขอดหายไปอย่างช้า ๆ วิธีนี้ไม่ต้องอาศัยการผ่าตัดหรือการใช้เข็มแต่อย่างใด

การรักษาด้วยเลเซอร์สามารถใช้ทำการรักษาเส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้าและขาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 มิลลิเมตร แต่หากผู้ป่วยมีเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดฝอยขนาดใหญ่เกิน 2 มิลลิเมตรร่วมอยู่ด้วยไม่ควรรักษาด้วยเลเซอร์ เพราะจะไม่ได้ผลหรือกลับเป็นซ้ำในเวลาอันรวดเร็ว

การรักษาด้วยเลเซอร์ โดยส่วนใหญ่การรักษาทำเพียงครั้งเดียว ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องรักษา 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และสีของเส้นเลือดเป็นหลัก  อาการภายหลังการรักษาเส้นเลือดขอด

ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษาอาจเป็นรอยแดงหรือรอยช้ำ ซึ่งมักจางหายภายใน 1 สัปดาห์ การใส่ถุงน่องชนิดที่ช่วยพยุงขาหรือการใช้ผ้าอีลาสติกทางการแพทย์สวมใส่จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น

การรักษาด้วยเลเซอร์

 

การใช้เครื่องเลเซอร์ชนิดที่สอดเข้าไปในเส้นเลือด (Endovenous laser ablation – EVLA)

เพื่อใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งพบว่าได้ผลดีถึงร้อยละ 94% โดยแพทย์จะสอดท่อบาง ๆ เข้าไปในหลอดเลือดที่บวมและทำให้ปลายของท่อนี้ร้อนขึ้นด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ ความร้อนนี้จะไปทำลายหลอดเลือดโดยการปิดผนึกและทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง

การรักษาด้วยเลเซอร์แบบพิเศษที่มีช่วงคลื่นต่ำ (Low level laser therapy)

เป็นวิธีที่ช่วยบำบัดอาการเส้นเลือดขอดโดยการลดอาการบวมน้ำจากการคั่งของเส้นเลือดดำ โดยจะเป็นการส่งพลังงานเข้าไปที่ตำแหน่งของเส้นเลือดดำ

โดยเฉพาะบริเวณเส้นเลือดดำที่มีขนาดใหญ่ที่มีปัญหา ซึ่งพลังงานจะเข้าไปทำให้เกิดการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงช่วยลดอาการบวมน้ำจากการคั่งของเส้นเลือดดำกรณีเส้นเลือดขอด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

 

การรักษาเส้นเลือดขอดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation – RFA)

เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาด้วยเลเซอร์ และไม่ต้องทำการผ่าตัดเปิดแผล แต่แพทย์จะใช้วิธีเจาะผ่านรูเข็มขนาดเล็ก แล้วใส่ขดลวด เข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา

โดยเครื่องจะแปรพลังงานจากคลื่นวิทยุนั้นมาเป็นความร้อน ประมาณ 120 องศาเซลเซียส โดยความร้อนในระดับนี้จะทำให้เส้นใยของคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของผนังเส้นเลือดดำนั้นฝ่อตัวลงไปในที่สุด ภายหลังการรักษาเส้นเลือดขอดจะยุบลง 50% และอีกใน 6-8 สัปดาห์จะยุบตัวลงอีก 90-100%

การผ่าตัดส่องกล้อง

กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้อง หรือหลังจากใช้วิธีอื่นแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เป็นการผ่าตัดโดยนำกล้องขนาดเล็กใส่เข้าไปผ่านรอยผ่าขนาดเล็กที่ขาเพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นเส้นเลือดขอด จากนั้นจึงปิดเส้นเลือดขอดที่รั่วและตัดออกมา

 

เส้นเลือดขอดป้องกันอย่างไร

-ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ การเดินเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดี และลดการเกิดเส้นเลือดขอดได้

-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

-หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ โดยเปลี่ยนเท้าที่ยืนบ่อย เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น

-หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานาน ๆ

-ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน

-ยกขาให้สูงขึ้นเพื่อให้เลือดในขาไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยควรพักด้วยการยกขาขึ้นเหนือระดับหัวใจบ่อย ๆ ผู้ป่วยอาจนอนลงแล้ววางขาบนหมอน 3-4 ใบ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

1. https://www.pobpad.com/ เส้นเลือดขอด

2. https://medthai.com /เส้นเลือดขอด/